วันก่อนแม่โน้ตเห็นครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อุ้มทารกน้อยที่กำลังร้องไห้งอแงอยู่นาน ปลอบเท่าไหร่ก็ไม่หยุดร้อง แม่โน้ตสังเกตเห็นมือและเท้าของทารกคนนั้นเกร็งปล่อย ๆ เป็นระยะ ๆ เชื่อว่าทารกคงมีอาการปวดท้อง วันนี้ก็เลยอยากนำข้อมูลที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับอาการปวดท้องของทารก ซึ่งบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคบางโรคได้ รวมถึงว่าอาการปวดท้องแบบไหนที่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์มาฝากค่ะ
สารบัญ
ทารกปวดท้อง 4 สัญญาณโรคร้าย
โรคลำไส้กลืนกัน
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ มักพบบ่อยกับทารกที่อ้วนท้วนสมบูรณ์และมีอายุในช่วง 4 – 8 เดือน
อาการที่ทารกแสดงออก
- ลูกน้อยจะร้องกรี๊ด เนื่องจากลำไส้บิดตัว เกิดอาการปวด
- ตัวซีด มีเหงื่อออกตามร่างกาย มือ และเท้าเกร็ง
- มีอาการซึมเป็นระยะ ร่วมกับมีไข้
- อาการปวดท้องเริ่มทุเลาลงช่วงหนึ่ง จนเข้าใจว่าหายแล้ว สักพักลูกน้อยก็จะมีอาการปวดท้องขึ้นมาอีก พร้อมกับอาเจียน ซึ่งอาจมีน้ำดีปนออกมา (จะมีสีเขียว)
- อาการจะเริ่มหนักขึ้น อาจมีเลือดปนมากับอุจจาระ มีสีคล้ำปนออกมากับมูก
โรคไส้เลื่อน
โรคนี้โดยมากมักเกิดกับเด็กผู้ชาย แต่เด็กผู้หญิงก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนกันนะคะและมักเกิดกับทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่า
อาการที่ทารกแสดงออก
- ทารกร้องไห้เพราะมีอาการปวดท้อง
- ขณะที่ทารกร้องเปล่งเสียงออกมา อาจมีก้อนเนื้อปูดขึ้นมาบริเวณขาหนีบ หรือที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง
- ก้อนเนื้อที่ปูดขึ้นมาอาจจะมีลักษณะเดี๋ยวปูด เดี๋ยวโผล่
- บางครั้งลำไส้อาจการเคลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้อง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก เพราะฉะนั้นหากเริ่มสังเกตเห็นตั้งแต่ช่วงแรกควรพาไปพบแพทย์นะคะ
โรคไส้ติ่งอักเสบ
เด็กเล็กก็เป็นได้ค่ะ ซึ่งถ้าโรคนี้เกิดขึ้นกับทารกหรือเด็กเล็กนั้นการวินิจฉัยโรคจะทำได้ค่อนข้างลำบาก เพราะอาการต่าง ๆ จะไม่ได้แสดงออกเหมือนผู้ใหญ่ โรคนี้จะเกิดที่บริเวณไส้ติ่งที่อยู่ทางด้านขวาของช่องท้อง ใกล้กับรอยต่อของลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ที่เกิดการอุดตัน เชื้อโรคจึงเติบโต ทำให้มีอาการบวมและอักเสบตามมา
อาการที่ทารกแสดงออก
- เด็กร้องไห้งอแง เสียงดัง
- ไม่อยากกินอาหาร หรือกินได้น้อย
- มีอาการคลื่นไส้
- บางรายอาจมีไข้ และอาเจียนร่วมด้วย
- สำหรับรายที่มีอาการชัดเจน จะเริ่มด้วยอาการปวดท้องบริเวณรอบสะดือ จากนั้นจะเริ่มปวดมากขึ้น บริเวณช่องท้องช่วงล่างขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งนี้ตำแหน่งที่ปวดอาจอยู่ในตำแหน่งอื่นได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งปลายไส้ติ่ง
โรคลำไส้อักเสบ
โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะจากเชื้อไวรัสที่เป็นตัวการทำให้ลูกน้อยท้องร่วงแบบเฉียบพลัน หรือจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังในเรื่องของความสะอาด อาหารต้องปรุงสุกถูกต้องตามหลักอนามัน รวมถึงความสดของอาหารทุกครั้งก่อนให้ลูกน้อยกินเสมอ
อาการที่ทารกแสดงออก
- ร้องไห้งอแง
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- มีไข้
- อุจจาระร่วง
อาการปวดท้องแบบไหนที่ควรพบแพทย์ทันที
เด็กเล็ก
ลูกน้อยจะร้องไห้งอแง ไม่กินนม ไม่กินอาหาร หงุดหงิด ในบางครั้งบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายแข็ง
เด็กโต
เด็กในวัยนี้ก็พอจะบอกคุณพ่อคุณแม่ได้บ้างแล้วค่ะว่าปวดท้อง แต่อาจระบุตำแหน่งที่แน่นอนไม่ได้ รู่แต่ว่าปวดท้อง ทั้งนี้ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียน กินได้น้อย ถ่ายเหลว ไม่ถ่ายเลย อิ่มเร็ว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกน้อยเพิ่มเติมได้ค่ะ เช่น ท้องป่อง ผายลมบ่อย หรืออุจจาระเลอะกางเกง เวลาที่ลูกน้อยปวดท้องมักยืนเกร็ง
อาการปวดท้องที่ควรมาพบแพทย์ทันที
- ปวดท้องมาก
- ตัวซีด
- ท้องแข็ง
- มือ เท้าเกร็ง
- มีไข้
- อาเจียนเป็นเลือด หรือมีน้ำดีสีเขียว
- ถ่ายเหลวหลายครั้ง
- ถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปน (ทั้งสีคล้ำและสีสด)
ลูกน้อยที่ร้องไห้จ้าปลอบแล้วก็ยังไม่หยุดร้อง มือเท้าเกร็งเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตลูกน้อยกันหน่อยแล้วล่ะค่ะว่าก่อนหน้านี้ลูกน้อยเคยมีอาการแบบนี้มาหรือเปล่าหรือกินอาหารอะไรที่ไม่สะอาดหรือเปล่า ยิ่งคุณพ่อคุณแม่รู้ได้เร็ว การรักษาก็สามารถทำได้ทันท่วงทีมากเท่านั้นค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง si.mahidol.ac.th, synphaet.co.th