แม่มือใหม่มีอะไรหลายๆ อย่างที่ต้องเรียนรู้อีกมากมายเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อย แม้กระทั่งลูกนอนก็ยังต้องตื่นมาดูว่าเค้าหลับดีมั้ยจะหนาวรึเปล่า จะร้อนไปไหม ฯลฯ และที่สำคัญที่แม่ต้องดูแลคือ สุขภาพของลูกน้อย ซึ่งถ้าวันหนึ่งลูกน้อยมีอาการท้องผูกล่ะ? จะมีวิธีดูแลหรือแก้ไขอย่างไรให้ถูกต้อง? วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลมาฝากค่ะ ไปดูกันเลย
สารบัญ
ทารกท้องผูก
เพราะความที่เป็นทารก ลูกจึงยังไม่สามารถพูด เพื่ออธิบายได้ นอกจากการร้องไห้งอแงอย่างเดียว ดังนั้น พ่อแม่ต้องสังเกตอาการของทารกด้วยนะคะ ว่าเค้ามีอาการร้องงอแงจนผิดปกติหรือเปล่า ถ้าพบว่าลูกท้องผูก พ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีดูแลรักษาที่ถูกต้องให้ลูกน้อยหายจากอาการท้องผูกและกลับมาถ่ายได้อย่างปกติ
การขับถ่ายของทารกโดยทั่วไป
- ทารกแรกเกิด – 3 เดือน : อาจมีการถ่ายประมาณ 2-3 ครั้ง/วัน หรือ 5-40 ครั้ง/สัปดาห์
- อายุ 3 – 6 เดือน : ถ่ายประมาณ 2-4 ครั้ง/วัน
- อายุ 6 เดือน ขึ้นไป : อาจถ่าย 1-2 ครั้ง/วัน หรือ 5-28 ครั้ง/สัปดาห์
ทั้งนี้ หากวันไหนที่ลูกไม่ถ่าย ก็ไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะอาการท้องผูกต้องสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย
อาการทารกท้องผูก
ปกติแล้ว การขับถ่ายของทารกแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าทารกทานอะไรเข้าไปบ้าง นมแม่หรือนมผสม โดยให้พ่อแม่สังเกตอาการอื่นๆ ดังนี้ค่ะ
ไม่ค่อยถ่าย
ปกติแล้วความถี่ในการขับถ่ายของทารกจะไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มทานอาหารเสริมใหม่ๆ เพราะร่างกายยังต้องอาศัยการปรับตัวเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม หากทารกไม่ขับถ่ายเลย 2-3 วัน ติดกัน อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า “หนูเริ่มท้องผูกแล้ว”
มีการเบ่งอุจจาระ
พ่อแม่ควรสังเกตว่าระหว่างการขับถ่าย ลูกมีอาการเบ่งมากกว่าปกติหรือไม่ รู้สึกหงุดหงิด หรือร้องไห้ระหว่างขับถ่ายหรือไม่ หากลูกมีอาการเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าท้องผูกค่ะ
มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
เพราะเกิดจากการฉีกขาดของผนังทวารหนักซึ่งเกิดจากการเบ่งนั่นเอง
ไม่ยอมกินอาหาร
ทารกจะไม่กินอาหาร หรือกินแต่ก็อิ่มเร็ว เพราะรู้สึกอึดอัดไม่สบายท้อง ไม่สบายตัว
ท้องแข็ง
ท้องของทารกจะมีลักษณะที่ตึง แน่น หรือแข็ง ในบางรายอาจมีอาการท้องอืดร่วมด้วย
สาเหตุที่ทำให้ทารกท้องผูก
ถ้าลูกน้อยมีอาการท้องผูก อาจมาจากหลาย ๆ ปัจจัย คุณแม่ลองมาดูกันนะคะว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุใด ดังต่อไปนี้
ลูกน้อยดื่มนมผสมหรือนมผง
หนึ่งในหลาย ๆ ข้อดีของการที่ลูกดื่มนมแม่คือ ลูกจะท้องไม่ผูก เพราะในน้ำนมแม่จะมีไขมันและโปรตีนที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัว ซึ่งต่างจากนมผสมหรือนมผงที่แม้จะมีสารอาหารต่าง ๆ ค่อนข้างครบถ้วน แต่ด้วยสารอาหารบางตัวนี้เองที่ทำให้ย่อยช้า ส่งผลให้อุจจาระแข็งได้ นอกจากนี้สัดส่วนการชงนมผงก็สำคัญค่ะ หากเข้มข้นมากไปหรือเจือจางมากไป ทารกก็ท้องผูกได้เช่นกัน
แพ้นมวัว
เป็นอีกหนึ่งปัญหาของทารกที่ดื่มนมวัว คุณแม่ควรสังเกตการขับถ่ายของลูกน้อยด้วยนะคะ หากนมผงที่ทานอยู่เดิมทำให้ลูกท้องผูก ให้ลองเปลี่ยนยี่ห้อแล้วสังเกตอาการทารกดูค่ะว่ายังท้องผูกอยู่หรือไม่ หากยังมีอาการอยู่ แนะนำควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันอาการท้องผูกเรื้อรัง
สารอาหารที่ได้จากคุณแม่ไม่เพียงพอ
ทารกที่ทานนมแม่ สารอาหารส่วนใหญ่จึงมากจากในน้ำนม ดังนั้น คุณแม่ทานอะไรลูกก็จะได้ทานอย่างนั้น ถ้าคุณแม่ทานผักหรือผลไม้น้อย จึงส่งผลให้ทารกท้องผูกได้
ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
เพราะการที่ทารกได้เคลื่อนไหวร่างกาย จะเป็นการช่วยเร่งระบบการย่อยอาหารและระบบการเผาผลาญให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การลำเลียงของของเสียเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
คลอดก่อนกำหนด
ทารกที่มีอายุราว 1 เดือน สามารถท้องผูกได้ เนื่องจากระบบการย่อยอาหารยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงยังไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ อาหารที่เข้าสู่ร่างกายจะเคลื่อนตัวไปสู่ลำไส้ได้ช้า จึงทำให้อุจจาระแห้งและแข็ง
ยาบางชนิดหรือโรคประจำตัว
ข้อนี้จะพบได้ไม่บ่อยค่ะ โดยมากมักจะพบในทารกที่มีโรคประจำตัวมาตั้งแต่แรกคลอด เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยาระงับประสาท รวมถึงโรคบางโรคก็ส่งผลให้ท้องผูกได้เช่นกัน อาทิ โรคต่อมไทรอยด์ หรือโรคอื่น ๆ ที่ทำให้แคลเซียมในเลือดสูง
ทารกท้องผูก แก้ไขอย่างไร
เมื่อลูกมีอาการท้องผูก พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนเรื่องการกินลูก โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงวัย ดังนี้ค่ะ
ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
โดยมากทารกในวัยนี้จะไม่ค่อยพบอาการท้องผูก เพราะจะทานนมแม่เป็นหลัก ถ้าจะท้องผูกก็จะเป็นจากการที่แม่ทานอาหารนั้นๆ เข้าไป แล้วส่งผ่านไปทางน้ำนม ดังนั้น แม่ควรใส่ใจและดูแลเรื่องอาหารการกินของตัวเองด้วยนะคะ
ทารกอายุมากกว่า 6 เดือน ขึ้นไป
ทารกในวัยนี้เริ่มทานอาหารเสริมได้แล้ว พ่อแม่จึงต้องใส่ใจปรับเรื่องอาหารการกินของลูก ดังนี้
เปลี่ยนการให้นม
ทารกบางคนอาจแพ้ส่วนผสมบางอย่างในนมผง พ่อแม่ควรสังเกตอาการและเปลี่ยนยี่ห้อนม แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์นะคะ
เติมน้ำผลไม้เล็กน้อยในนม
อาทิ น้ำแอปเปิ้ล น้ำลูกแพร์ หรือน้ำพรุน ลงในนมชงหรือนมแม่ วันละประมาณ 30-60 มิลลิลิตร
เสริมด้วยใยอาหาร
อาทิ ข้าว แครอทสุก หรือกล้วยน้ำว้า เป็นต้น
ให้ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมากขึ้น
อาจไม่ต้องใหลูกดื่มน้ำเยอะ ๆ ในคราวเดียว แต่ให้จิบน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ และบ่อยก็จะช่วยลดอาการท้องผูกของทารกได้
วิธีกระตุ้นให้ลูกขับถ่าย
ช่วยขยับร่างกาย
การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเร่งการย่อยอาหาร ช่วยให้ของเสียลำเลียงออกไปได้เร็ว สำหรับทารกที่ยังไม่ได้หัดเดิน พ่อแม่อาจช่วยลูกทำท่าปั่นจักรยานกลางอากาศก็ได้นะคะ
นวดเบาๆ บริเวณท้อง
เริ่มจากท้องด้านซ้ายของลูกซึ่งอยู่ใต้สะดือไป 3 นิ้ว ใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ 3 นาที และควรนวดวันละหลายๆ ครั้ง เพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่ายค่ะ
ทาว่านหางจระเข้
ทารกที่ยังถ่ายไม่ออก และมีการเบ่งมาบ้างแล้วก่อนหน้า อาจมีการฉีกขาดบริเวณทวารหนัก ควรพาไปพบคุณหมอ แต่ระหว่างที่ยังไม่รับการรักษา พ่อแม่ควรทาครีมที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ให้ลูก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
ปรึกษาคุณหมอ
เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องค่ะ
อาการท้องผูกเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารอาหารในน้ำนมแม่ที่ไม่เพียงพอ ทารกดื่มนมผง รวมไปถึง “อาหารที่ทำให้ลูกท้องผูก” ทั้งนี้ ให้คุณแม่หมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยนะคะ หากลูกเริ่มมีอาการเบ่งเมื่อไหร่เป็นไปได้ว่าลูกเริ่มมีอาการท้องผูกแล้ว ขั้นต่อไปคือหาสาเหตุแล้วแก้ไขค่ะ