การนอนหลับเป็นการที่ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน เมื่อลูกหลับ คุณแม่ก็หวังว่าจะได้พักบ้างแต่ก็ไม่วายต้องมีเรื่องให้กังวลใจกันอีก เพราะลูกน้อย “นอนหลับตาไม่สนิท” เอาล่ะสิ…แบบนี้จะปกติไหม มีอะไรที่ควรกังวลหรือเปล่า วันนี้แม่โน้ตมีเรื่องเกี่ยวกับการที่ทารกนอนหลับตาไม่สนิทมาฝาก รวมถึงการนอนในลักษณะอื่น ๆ มาด้วย ไปดูกันเลยค่ะว่าแต่ละเรื่องนั้นควรกังวลหรือไม่ อย่างไร
สารบัญ
การนอนหลับของทารก
ทารกนอนร้องครางเบา ๆ
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเจอกับเหตุการณ์นี้ได้บ่อย เมื่อเห็นว่าลูกน้อยหลับแล้ว แต่จู่ ๆ ก็ได้ยินเสียงลูกครางออกมาเบา ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจคิดในใจว่า ลูกละเมอหรือเปล่า แต่เด็กเล็กขนาดนี้จะฝันแล้วหรือ เรียกว่าทั้งงง ทั้งสงสัย ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ตรวจดูแล้วว่าลูกไม่ได้มีอาการไข้ ปวดหัว หรือปวดท้องแต่อย่างใด การที่ทารกร้องคราง หนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุคือ มาจากการ “ฝัน” ซึ่งเป็นการฝันในระดับที่ลูกยังไม่ได้หลับลึก หรือยังหลับได้ไม่สนิท ถือว่าเป็นอาการปกติในช่วงค่ำ อาการดังกล่าวนี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่อลูกโตขึ้น
วิธีช่วยลดอาการทารกนอนคราง
- ควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เพื่อให้ลูกได้สบายตัวที่สุดขณะนอน
- ใช้ผ้าอ้อมห่อตัวลูกเพื่อให้เขารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย แต่ไม่ต้องแน่นมากนะคะ
- อุ้มกล่อมลูก เอาลูกขึ้นมากอด พาเดินเล่นสักพัก เพื่อให้ลูกหลับต่อ
- หากลูกร้องครางอยู่ ไม่ควรปลุกหรือเขย่าตัวให้ลูกตื่น เพราะลูกจะร้องไห้หนักกว่าเดิม
ทารกนอนผวา
การที่ทารกนอนผวาเกิดขึ้นได้แม้ทารกถูกกระตุ้นเพียงเล็กน้อย อาทิ มีเสียงดัง หรือแดดจ้า ซึ่งเป็นอาการปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติ ที่เรียกว่า Moro Reflex ซึ่งทารกบางรายเมื่อสะดุ้งแล้วสามารถนอนหลับต่อได้ ในขณะที่ก็มีบางรายร้องไห้จ้า ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ได้ลงความเห็นแล้วว่า การที่ทารกนอนผวา นั้นไม่ใช่เรื่องอันตรายหรือน่ากังวลแต่อย่างใด
วิธีช่วยลดอาการทารกนอนผวา
จัดบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะสม เช่น ปิดม่าน หรี่ไฟในห้องลง เปิดเพลงคลอเบา ๆ อาทิ เพลง White Noise เป็นต้น (ติดตามเพิ่มเติม “White Noise เสียงคลื่นความถี่ที่กล่อมลูกให้หลับฝันดี เพิ่มสมาธิได้อีกด้วย”
ให้ลูกน้อยนอนหงายแล้วใช้ผ้าอ้อมพับไว้ แล้ววางบนหน้าอก เพื่อลดการนอนผวาของลูกได้
ข้อนี้ในเรื่องท่านอน ถ้าทารกหลับสนิท แม่โน้ตจะไม่นิยมให้ลูกนอนคว่ำค่ะ เพราะเสี่ยงมากต่อการเกิด SIDS ซึ่งถ้าจะให้นอนคว่ำขณะทารกหลับสนิท คุณแม่ต้องเฝ้าตลอด ซึ่งในชีวิตจริงอาจทำได้ยาก
ใช้ผ้าอ้อมห่อตัวแต่ไม่ต้องแน่นมากนะคะ เพื่อให้เขารู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย
ทารกนอนหลับตาไม่สนิท
การนอนในลักษณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “Lagophthalmos” และมักพบว่าทารกที่หลับลึกมักมีอาการนี้ ซึ่งเกิดจากระบบประสาทของทารกมีความตื่นตัวสูง ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ทารกจะนอนหลับตาไม่สนิท
สาเหตุ
- พันธุกรรม
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าทารกมักนอนหลับตาไม่สนิท ให้ลองมาทนทวนกันดูนะคะว่าในครอบครัว มีใครที่มีอาการนี้บ้างหรือเปล่า เพราะอาการนี้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม - สัญญาณของโรคบางอย่าง
ข้อนี้เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยในทางการแพทย์ระบุว่าการที่ทารกนอนหลับตาไม่สนิทบ่อย ๆ อาจเกิดได้จากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหนังตา เส้นประสาทบนใบหน้า รวมไปถึงไทรอยด์ เป็นต้น ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป
ทารกนอนหลับตาไม่สนิท ทำอย่างไรดี
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าทารกนอนหลับสนิทแล้ว แต่ยังปิดตาได้ไม่สนิท วิธีการเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ คือ การใช้มือลูบปิดตาของลูกเบา ๆ วิธีนอกจากจะไม่เป็นการไปรบกวนการนอนของลูกแล้ว ยังช่วยให้ดวงตาของลูกไม่ต้องเผชิญกับลม หรือฝุ่นที่จะเข้ามาที่ดวงตาลูกได้อีกด้วย
จากนี้ไปหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าทารกนอนหลับตาไม่สนิทก็สามารถช่วยลูกได้แล้ว แต่ว่าถ้าลูกน้อยมีอายุมากกว่า 18 เดือน แต่คุณพ่อคุณแม่พบว่าอาการยังทรง ๆ ไม่ดีขึ้นเลย แนะนำควรปรึกษาแพทย์ค่ะ