เคยไหมคะที่คุณยายเลี้ยงอีกอย่างคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงอย่าง เพราะก่อนออกจากโรงพยาบาลคุณหมอแนะนำเอาไว้ว่า “จากนี้ไปจนถึง 6 เดือน ให้ทารกกินแต่นมแม่อย่างเดียวไม่ต้องป้อนน้ำ” เรื่องนี้จึงเกิดคำถามว่า
“ทำไมถึงให้ทารกกินแต่นมแม่อย่างเดียวไม่ให้กินน้ำ?”
วันนี้เรามาฟังคำตอบกันค่ะ
สารบัญ
ประโยชน์จากการกินนมแม่อย่างเดียว
องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟได้มีการออกมาแนะนำว่า ทารกควรกินนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งนับเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ทารกทุกคนควรได้รับ หรือถ้าทารกคนไหนสามารถกินนมแม่ได้นานถึง 1-2 ปีหรือได้นานกว่านั้นก็จะเป็นเรื่องดีมาก
นมแม่ประกอบไปด้วยแร่ธาตุสำคัญหลายตัว มีสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด เช่น แอติบอดีและโปรตีนต่างๆ ที่ช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน ฯลฯ
“Cholesterol ในน้ำนมแม่จะเป็นตัวสร้าง Myelin ซึ่งเป็นเปลือกหุ้มเส้นใยประสาท เป็นสมองส่วนสีขาว (White Matter)”
ทำไมนมแม่ทำให้เด็กฉลาด
เพราะในน้ำนมแม่ช่วยสร้างเส้นใยประสาทที่มีเปลือกหุ้ม จึงส่งผลให้สัญญาณไฟฟ้าวิ่งไวขึ้นจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง มีการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของสมองที่ไวขึ้น จึงทำให้ทารกคิดเร็ว เข้าใจได้เร็วและจำได้ดีขึ้น
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นเหมือน “การเตรียมโครงสร้างสมองให้ลูก” ด้วยการเสริม Myelin หรือ เส้นใยสมองที่ผลิตจากโคเลสเตอรอลในน้ำนมแม่นั่นเอง และเป็นการเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างเส้นใยสมองด้วยการอุ้มลูกเข้าเต้าและการสัมผัสลูกค่ะ
ขอบคุณข้อมูล พญ.ศิริพัฒนา
ประโยชน์ของน้ำนมแม่
อาจารย์ ดร. ผกากรอง วนไพศาล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงเรื่องของน้ำนมแม่ไว้ดังนี้
น้ำนมแม่แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ซึ่งในแต่ละระยะ ลูกน้อยจะได้รับสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป
ระยะน้ำนมเหลือง หรือ โคลอสตรุ้ม (Colostrum)
เป็นน้ำนมที่อยู่ในระยะ 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้นและอุดมไปด้วยสารอาหารที่จะช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมากมาย เช่น Secretory IgA แลคโตเฟอริน เซลล์เม็ดเลือดขาว โปรตีนต่างๆ น้ำนมระยะนี้จะเน้นเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการเจริญเติบโต และมี ปริมาณแร่ธาตุต่างๆ อาทิ โซเดียม คลอไรด์ แมกนีเซียม ในปริมาณสูง
ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน (Transitional Milk)
คือ ระยะการเปลี่ยนจากหัวน้ำนมแม่เป็น “น้ำนมแม่” สารอาหารในระยะนี้จะเริ่มเน้นเรื่องการเจริญเติบโตมากกว่าระยะแรก จะหลั่งในช่วง 5 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์ หลังคลอด
ระยะน้ำนมแม่ (Mature Milk)
ระยะนี้น้ำนมแม่จะมีสีขาว มีไขมันมากขึ้น สารอาหารที่ได้จะเน้นเรื่องการเจริญเติบโตเช่นเดียวกันกับระยะที่ 2 แร่ธาตุในน้ำนม เช่น เคซีนชนิดเบต้า อัลฟาแลคตาบูมิน แลคโตเฟอริน เป็นต้น
สารอาหารในน้ำนมแม่
โปรตีน
ในน้ำนมแม่มีโปรตีนอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น เคซีนชนิดเบต้า อัลฟาแลคตาบูมิน แลคโตเฟอริน (โปรตีนที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด) อิมมูโนโกลบูลิน A (IgA) (เป็นตัวเพิ่มภูมิต้านทาน) ไลโซไซม์ และซีรัมอัลบูมิน นอกจากนี้เรายังพบว่าการทานอาหารของแม่ไม่มีผลต่อโปรตีนในน้ำนมแม่
ไขมัน
ในน้ำนมแม่ประกอบไปด้วยไขมันหลายชนิด อาทิ ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟไลปิดส์ โคเลสเตอรอล ไดกลีเซอไรด์ โมโนกลีเซอไรด์
นอกจากนี้ ยังมีกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายทารกต้องการ เพื่อช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็น ได้แก่ DHA (docosahexaenoic acid) และ AA (Arachidonic acid)
น้ำตาลแลคโตส (Lactose)
แลคโตสจะเป็นตัวช่วยให้แบคทีเรียมีความเข็งแรง เพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม พบมากในน้ำนมแม่ระยะที่ 3 หรือระยะน้ำนมแม่นั่นเอง ซึ่งระยะนี้ในน้ำนมแม่จะมีปริมาณโปรตีนและไขมันน้อยกว่าปริมาณน้ำตาลแลคโตส ทั้งนี้ ขึ้นอยูกับอาหารที่คุณแม่ทานด้วยนะคะ
วิตามิน
วิตามินที่สำคัญต่อร่างกายช่วยในการเจริญโตของทารกได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี6 วิตามินบี12 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
แร่ธาตุ และส่วนประกอบอื่นๆ
แร่ธาตุที่ว่าได้แก่ เหล็ก แคลเซียม และไอโอดีน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญอีกด้วย เหล่านี้จะช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
สาเหตุที่ไม่ควรป้อนกล้วยให้ทารกก่อนวัย 6 เดือน นั่นก็เป็นเพราะว่า ระบบการย่อยอาหารต่างๆ ของทารกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ อาจทำให้ทารกสำลักและเสียชีวิตได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว สารอาหารต่างๆ ในน้ำนมแม่ก็เพียงพอแล้วและนมแม่ก็เป็นมิตรที่ต่อกระเพาะต่อระบบการย่อยอีกด้วยนะคะ
อ้างอิง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล