เกร็ดความรู้ในเรื่องของการเลี้ยงลูกที่ถูกส่งต่อกันมา ผนวกกับประสบการณ์ส่วนใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับการที่ลูกชอบเอามือขยี้ตาไปมาโดยเฉพาะลูกที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน มักเกิดจากการที่ลูกน้อยเริ่มง่วงแล้ว แต่การที่ลูกเอามือขยี้ตา ถูหน้าไปมานั้น ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกค่ะ ว่าแต่การขยี้ตานี้มีอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ควรกังวลหรือไม่ วันนี้เราไปไขข้อข้องใจกันค่ะ
สารบัญ
ลูกชอบขยี้ตา เป็นเพราะอะไร?
การที่ลูกมักจะขยี้ตา ถูหน้าไปมา เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ง่วงนอน
เด็กเล็ก ๆ ก็เหมือนผู้ใหญ่ค่ะ ที่เมื่อเวลาเราเหนื่อยล้าที่ดวงตามาก ๆ เราก็จะมีการขยี้ตา ทารกก็เช่นกัน โดยมากคุณแม่มักจะเห็นลูกน้อยหาวพร้อมกับเอากำปั้นมาขยี้ตา ถูหน้าไปมา นั่นแปลว่าลูกรู้สึกเหนื่อย การขยี้ตาของลูกน้อยก็เพื่อเป็นการทำให้ดวงตาหรือเปลือกตาได้ผ่อนคลาย ส่งสัญญาณให้คุณแม่ได้รู้ว่า หนูง่วงนอนแล้วนั่นเองค่ะ
ตาแห้ง
ตาแห้งเกิดจากการที่น้ำตาในดวงตาลูกระเหยออกไป และหากดวงตาสัมผัสกับอากาศเป็นระยะเวลานาน ก็จะยิ่งทำให้ตาของลูกน้อยยิ่งแห้งมากขึ้นไปอีก จึงเป็นสาเหตุให้ลูกน้อยขยี้ตาเพื่อให้ดวงตากลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง
ไม่มั่นใจในสิ่งที่เห็น
เช่นเมื่อขณะที่ลูกเพิ่งตื่นมาหลังจากการนอนยาวในช่วงกลางคืน บางครั้งการที่เพิ่งลืมตาก็อาจจะทำให้ลูกน้อยเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นฝ้า ๆ หรือแสงสีขาว ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน ลูกจึงต้องขยี้ตา เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
มีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยขยี้ตาก็คือ การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาซึ่งอาจเป็นฝุ่น ขนตา หรืออาจเป็นเมือกแห้ง ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกน้อยได้จากการที่ลูกมีน้ำตาไหลออกมา หรือบางรายตาอาจเริ่มแดง แก้ไขได้โดยหาผ้าสะอาดชุบน้ำให้เปียกเช็ดรอบ ๆ ตา และใบหน้าของทารก เพื่อเป็นการทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เข้าตาลูกน้อยอีก จากนั้นใช้น้ำเย็นทำความสะอาดที่ดวงตาของทารก แต่ต้องมีผู้ช่วยจับศีรษะของลูกน้อย เพื่อป้องกันการดิ้นด้วยนะคะ
เจ็บตา หรือเคืองตา
อาการเจ็บ หรือเคืองตาในข้อนี้จะเป็นลักษณะที่ลูกมีอาการแพ้หรือมีอาการติดเชื้อ ตาของลูกน้อยจะมีอาการบวมแดง มีน้ำมูกไหล มีไข้ รวมไปถึงมีการร้องไห้งอแงไม่หยุด ซึ่งถ้าหากลูกมีอาการเช่นนี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ
ความเสี่ยงจากการที่ลูกขยี้ตา
การขยี้ตาอันเกิดจากสาเหตุที่ว่าลูกง่วงนอนนั้น คงไม่ได้เป็นอันตราย หรือมีอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ควรกังวล แต่ในกรณีที่ลูกขยี้ตาแรงเกินไปนี่สิ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตกันหน่อยแล้วค่ะ เพราะอาจเกิดความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
การติดเชื้อไม่ได้เกิดจากแค่เชื้อโรคที่มากับมือของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดได้จากเชื้อโรคที่ผู้ใหญ่นำพามาผ่านการสัมผัสเด็ก การกอด หรือการอุ้มก็ได้เช่นกัน
ทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ
เพราะดวงตาของเรามีกระจกตา ซึ่งการขยี้ตาด้วยความรุนแรงอันเนื่องมาจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา อาจส่งผลให้กระจกตาเป็นรอย หรือถลอก ยิ่งจะส่งผลให้ลูกน้อยเกิดอาการเจ็บตาได้มากขึ้นอีก
ส่งผลต่อสายตาในระยะยาว
การขยี้แรง ๆ จะส่งผลต่อสายตาได้ในระยะยาว เนื่องจากเนื้อเยื่อกระจกตาจะบางลง สายตาจึงแย่ลง เมื่อลูกน้อยโตขึ้นอาจทำให้สายตาสั้นได้
แบบไหนที่ควรกังวล
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตแล้วการที่ลูกน้อยขยี้ตาด้วยสาเหตุที่ไม่ใช่เรื่องของการง่วงนอน โดยเฉพาะเมื่อลูกมีอายุกว่า 6 เดือน ขึ้นไป เพื่อความสบายใจ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยปรึกษาแพทย์ค่ะ เพราะอย่างน้อยถ้ามีอะไรผิดปกติ ลูกน้อยก็ยังจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
เรื่องการขยี้ตา ไม่ใช่แค่เรื่องของการง่วงนอนอย่างเดียว และที่สำคัญ ทุก ๆ การขยี้ตาของลูกน้อย สามารถส่งผลต่อกระจกตาของลูกน้อยได้ทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งเริ่มต้นที่สำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกน้อยในทุกครั้งของการขยี้ตา เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตค่ะ