“กลากน้ำนม” คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คน พอได้ยินคำว่า “กลาก” ก็อาจจะตกใจว่าลูกเป็นกลากได้อย่างไร ติดเชื้อรามาจากไหน ซึ่งความจริงแล้วกลากที่เกิดจากเชื้อรากับกลากน้ำนมนั้นมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิงค่ะ
สารบัญ
กลากน้ำนม (Pityriasis Alba) หรือเกลื้อนน้ำนม คืออะไร
กลากน้ำนม (Pityriasis Alba) หรือเกลื้อนน้ำนม เป็นโรคที่ผิดปกติทางผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่เม็ดสีของผิวหนังนั้นลดลงโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้สีผิวบริเวณนั้นจางลง เป็นวงด่าง ในระยะแรกอาจพบว่าผิวหนังเป็นผื่นชมพูอ่อน ๆ แห้ง และตกสะเก็ด ดูคล้ายกับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ โรคนี้สามารถพบได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่ที่เราจะเห็นกันคือ มักเกิดกับเด็กและวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น ๆ
อาการของกลากน้ำนม
อาการเริ่มแรกของรอยโรคจะเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ในระยะนี้ลูกน้อยอาจมีอาการคันได้ แต่ไม่ทันได้สังเกตเห็น คือว่าเป็นอาการคันผิวหนังธรรมดา จากนั้นวงแดงนี้ก็จะแผ่ขยายเป็นวงสีแดงหรืออาจจะมีสีชมพูจาง ๆ ขนาดที่มักพบเริ่มตั้งแต่ 0.5-4 ซม. มีขุยสีขาวบาง ๆ ติดอยู่ที่ผิว
ลักษณะของกลากน้ำนมจะมีเป็นวงกลมหรือวงรี ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน มักจะกลืนไปกับสีผิวหนัง ไม่มีอาการคันหรืออาการเจ็บแต่อย่างใด
สาเหตุกลากน้ำนม
กลากน้ำนมสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ
- อาการที่เปลี่ยนแปลง เช่น อากาศร้อน ตากลม ตากแดดนานเกินไป เป็นต้น
- เซลล์ผิวหนัง หรือเม็ดสีมีความผิดปกติ
- เกิดจากผิวหนังมีอาการที่แพ้แสงแดด หรือไวต่อแสงแดดมาก
- ภาวะร่างกายขาดสารทองแดง หรือเชื้อรา (Malassezia Yeasts) ที่อาจจะไปกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่สร้างเม็ดสี จนทำให้ผิวสีผลิตเม็ดสีน้อยลงจนทำให้เกิดและเห็นเป็นรอยด่าง
กลากน้ำนม เกิดจากน้ำนมแม่…จริงหรือ
โรคกลากน้ำนมไม่ได้ถือว่าเป็นโรคร้าย เป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคกลากน้ำนมในเด็กไม่ได้เกิดจากการกินน้ำนมของคุณแม่อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจกัน แต่โรคนี้สามารถหายได้เองแต่จะใช้เวลาค่อนข้างนานสักหน่อย ซึ่งต้องได้รับการดูแลที่ดีเช่นกัน หลีกเลี่ยงการออกแดด และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนที่สุดที่เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย ก็จะทำให้โรคกลากน้ำนมนั้นหายได้เร็วมากขึ้น
การรักษากลากน้ำนม
ด้วยโรคกลากน้ำนมไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงและสามารถหายได้เอง แต่อาจจะใช้ระยะเวลานานสักหน่อยเป็นเดือนหรืออาจเป็นปี เพื่อรอให้สีผิวนั้นกลับมาเสมอกันเหมือนปกติ การรักษาส่วนมากจะเป็นการดูแลตัวเองมากกว่าโดย
- ทามอยส์เจอไรเซอร์ หรือครีม ทาบริเวณที่มีรอยด่าง เพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ช่วยลดการเกิดขุยบาง ๆ ได้
- สำหรับบางรายที่มีอาการคันรุนแรง อาจจะต้องใช้ยาทาผิวเพื่อบรรเทาอาการคัน ซึ่งมีทั้งแบบที่มีเสตียรอยด์อ่อน ๆ และไม่มีเสตียรอยด์ อาทิ ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ยาทากลุ่มต้านแคลซินูริน (Calcineurin Inhibitors) ทาโครลิมัส (Tacrolimus)
- ไม่ควรอาบน้ำลูกด้วยอุณหภูมิที่อุ่นจนเกินไป และควรเลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว ซึ่งคุณแม่สามารถอ่านได้จากฉลากผลิตภัณฑ์ พร้อมกับมีการระบุว่าแชมพูนั้น ๆ เหมาะกับเด็กอายุเท่าไหร่
- หากต้องออกนอกบ้าน ควรทาครีมกันแดดให้ลูกทุกครั้ง โดยเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเด็ก เนื่องจากมีความอ่อนโยนต่อผิวของเด็กโดยเฉพาะ
การป้องกันกลากน้ำนม
กลากน้ำนม หรือเกลื้อนน้ำนมนั้นไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากสาเหตุการเกิดนั้นมาจากหลายปัจจัย แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดกลากน้ำนมได้ ด้วยการดูแลผิวให้ชุ่มชื้น ทาครีมที่ผิวลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการออกแดด หรือถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรทาครีมกันแดดทุกครั้ง เรียกว่าพยายามให้ผิวของลูกสัมผัสกับแดดโดยตรงให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นการป้องกันผิวของลูกไม่ให้ถูกทำร้ายมากเกินไป ที่สำคัญควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาเฉพาะเด็ก เพราะจะมีความอ่อนโยนต่อผิวเด็กมากที่สุดค่ะ
กลากน้ำนมไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และที่สำคัญ ไม่ใช่โรคที่เกิดจากน้ำนมแม่แต่อย่างใด แต่สาเหตุหลักมักเกิดจากแสงแดดและผิวที่แห้งของลูกน้อย ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่สบายใจแล้วนะคะ
ข้อมูลอ้างอิง medthai.com, pobpad.com