พูดถึงการเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเป็นผู้ใหญ่เราก็ยังพอทน ยังมียารักษา หรือรู้จักการดูแลตัวเองได้ แต่ถ้าลูกเราป่วยล่ะ? คุณพ่อคุณแม่ก็ทั้งสงสาร ทั้งอยากจะป่วยแทนลูก ยิ่งเวลาเค้าร้องไห้โยเย หรือหงุดหงิดขึ้นมาเพราะความไม่สบายตัว หายใจติดขัด ไม่เต็มปอด เพราะมีน้ำมูกเข้ากรรมมาขวางทางเดินหายใจ ซึ่งในเด็กเล็ก ไม่มียาลดน้ำมูกโดยเฉพาะซะด้วยสิ เพราะฉะนั้นถ้าลูกมีน้ำมูกมาก ๆ วิธีเดียวที่จะช่วยให้เค้าสบายตัวขึ้นก็คือ “การล้างจมูก” เท่านั้น
แต่…มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะลูกเอาแต่ดิ้น และขัดขืนจนสำลัก เพราะฉะนั้นวันนี้ผู้เขียนมีวิธีการล้างจมูกที่ถูกต้อง รวมไปถึงข้อมูลรอบด้านที่เกี่ยวกับการล้างจมูกมาฝากค่ะ
สารบัญ
การล้างจมูก คือ อะไร?
การล้างจมูก คือ การทำความสะอาดโพรงจมูกด้วยการใส่หรือหยอดน้ำเข้าไปในจมูก การล้างจมูกจะช่วยชะล้างมูก คราบมูก หรือหนองบริเวณโพรงจมูกออก ทำให้โพรงจมูกสะอาด บรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ทั้งที่ไหลออกมาข้างนอก และที่ลงคอ น้ำที่ใช้ล้างแนะนำให้เป็นน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดความเหนียวของน้ำมูก และที่สำคัญ ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเติบโตได้ค่ะ
ล้างจมูก ลูกขัดขืน จะทำให้สำลักลงปอดหรือเปล่า?
น้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูกนั้นเป็นน้ำเกลือที่มีความอ่อนโยนมาก มากถึงขั้นสามารถใช้ล้างคอนแทคเลนส์ได้ ส่วนการจะสำลักนั้น โดยธรรมชาติของร่างกายคนเรา เวลาที่มีของเหลวเข้าจมูก ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถสำลักได้เช่นกัน แต่…
กรณีจะสำลักลงปอด เพราะลูกร้องและขัดขืนนั้น ต้องอธิบายแบบนี้ก่อนค่ะว่า เวลาที่เราใช้เสียงพูด กล่องเสียงจะปิด เราจึงไม่สามารถหายใจเข้าไป พูดไปพร้อมกันได้ค่ะ ดังนั้น ถ้าลูกจะสำลักลงปอด แสดงว่าลูกไม่ได้ใช้เสียงร้อง
ข้อดีของการล้างจมูก
- ช่วยชะล้างมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง ทำให้โพรงจมูกสะอาดและโล่ง
- อาการหวัดเรื้อรังดีขึ้น
- ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปยังปอด
- เพิ่มความชุ่มชื้นกับเยื่อบุจมูก
- ถ้าต้องมีการพ่นยา การล้างจมูกจะช่วยให้การพ่นยามีประสิทธิภาพมากขึ้น
การล้างจมูกนอกจากจะทำให้ลูกน้อยสบายตัวแล้ว ยังเป็นการทำให้คุณแม่ทราบระยะของการไม่สบายของลูกได้อีกด้วยนะคะ เช่น ถ้าลูกไปพบคุณหมอมาแล้ว เราจะรู้ได้ว่าอาการของลูกดีขึ้น ให้สังเหตจากสีของน้ำมูกนี่แหละค่ะ เช่น น้ำมูกเริ่มใสขึ้น จากเดิมที่เขียว ที่เหลือง แบบนี้ลูกใกล้หายแล้ว เป็นต้นค่ะ
ควรล้างจมูกบ่อยแค่ไหน?
เมื่อพบว่ามีน้ำมูกเหนียวข้น เป็นจำนวนมาก หากต้องมีการพ่นยา ควรล้างจมูกก่อนเพื่อให้ตัวยาที่ได้จากการพ่นยานั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรล้างวันละ 2 ครั้ง คือ หลังตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน
** ควรล้างจมูกขณะท้องว่างหรือหลังทานอาหารไปแล้ว 2 ชม. **
ควรล้างจมูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูกหรือยาหยอดจมูก
ข้อมูลอ้างอิง โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
อุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก
- น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% หาซื้อได้ตามโรงพยาบาลหรือร้านขายยา (น้ำเกลือที่เหลือจากการใช้ล้างจมูก ควรเททิ้ง ไม่เทกลับลงขวดน้ำเกลือ)
- ถ้วยสะอาดสำหรับใส่น้ำเกลือ
- กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 10-20 ซีซี ไม่ใส่เข็ม
- ภาชนะรองน้ำจมูกและเสมหะ
- กระดาษทิชชู
วิธีล้างจมูกที่ถูกต้อง
ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ โดยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก หากล้างจมูกด้วยน้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่น หลังล้างแล้ว อาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกได้ ก่อนล้างควรทดสอบความร้อนที่หลังมือก่อน หากหลังมือทนได้แสดงว่าใช้ได้
สำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสั่งน้ำมูกหรือบ้วนเสมหะเองได้
- ใช้ผ้าห่อตัวเพื่อป้องกันการดิ้น
- ให้ลูกนอนโดยยกศีรษะให้สูงขึ้น จับหน้าให้นิ่ง
- ค่อยๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2-3 หยด หรือ
- สอดปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านในของรูจมูก ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไปครั้งละประมาณครึ่งซีซี (0.5 ซีซี) หรือ
- ใช้น้ำเกลือในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูกก็ได้ค่ะ พ่นเข้าไปในโพรงจมูกเด็ก แทนการหยดหรือฉีด
- ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออกมา ทำทั้ง 2 ข้าง ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำมูกจะหมด
สำหรับเด็กที่สามารถสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะได้
- จัดให้เด็กนั่งหรือยืน แหงนหน้าเล็กน้อย
- สอดปลายกระบอกฉีดยาให้ชิดด้านในรูจมูก
- ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไปครั้งละ 0.5-1 ซีซี หรือเท่าที่เด็กทนได้ หรือ
- ใช้น้ำเกลือในรูปแบบสเปรย์ และบอกเด็กว่าให้บ้วนน้ำเกลือที่ไหลลงคอออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- สั่งน้ำมูกพร้อมกันทั้งสองข้าง ไม่อุดรูจมูกด้านใดด้านนึงแล้วสั่ง เพราะจะทำให้แก้วหูทะลุได้
ทำไมล้างจมูกแล้วหูอื้อ เวียนหัว เหมือนบ้านหมุน
ข้อนี้แม่โน้ตก็เคยได้ยินมานะคะ ผู้ใหญ่บางคนก็มีอาการนี้ มันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ไปดูสาเหตุกันค่ะ
บางคนที่ล้างจมูกแล้วมีน้ำเกลือบางส่วนที่ไหลลงคอ มีอาการหูอื้อ ปวดหู หรือบางครั้งก็มีอาการเวียนศีรษะ นั่นเป็นเพราะว่าโพรงจมูกด้านหลังของเราจะมีช่องที่ติดต่อกับคอ และหูชั้นกลาง โดยผ่านทางท่อซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่าง “หูชั้นกลาง” และ “โพรงหลังจมูก” เพราะฉะนั้น เวลาที่เราล้างจมูกจึงมีน้ำเกลือบางส่วนที่อาจไหลลงมาที่คอได้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด ส่วนอาการหูอื้อ หรือปวดหูนั้นเป็นเพียงอาการชั่วคราวเท่านั้นค่ะ เพียงแต่ก่อนล้างจมูกในคราวถัดไปนั้น คุณแม่อาจต้องสังเกตสักหน่อยค่ะว่าทิศทางไหนที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ ควรเลี่ยงทิศทางดังกล่าวค่ะ
สำหรับคุณแม่ที่มีลูกน้อยอายุต่ำกว่า 6 เดือนแล้วต้องการล้างจมูกลูก แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร กลัวว่าลูกจะสำลักลงปอด สามารถติดตามได้จากบทความนี้ค่ะ “ล้างจมูกทารก 6 เดือน และมากกว่า 6 เดือนอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่สำลักลงปอด”