เด็กในช่วงปฐมวัยเป็นเด็กที่มีการเคลื่อนไหวแทบจะตลอดเวลา หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ “พลังเยอะ” เยอะมาก เล่นมากเสียจนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่หมดแรงไปก่อนแล้วก็มี ผู้ใหญ่ 2 คน แท็กทีมเปลี่ยนคนเล่นไม่ทันเลยค่ะ เพราะหมดแรงไปแล้วกันทั้งคู่ ว่าแต่จะทำอย่างไรดีในเมื่อลูก ๆ ยังพลังเหลือล้น วันนี้โน้ตมีเทคนิคดี ๆ ที่ให้ลูกได้ปล่อยพลัง และคุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อีกด้วยค่ะ
สารบัญ
ให้ลูกปฐมวัยปล่อยพลังอย่างถูกที่ถูกทาง
กำหนดพื้นที่และเวลาให้ลูกได้เล่น
เพราะเด็กก็คือเด็ก เด็กยังมีพลังล้นเหลือ แบตอึด ผู้ใหญ่อย่างเราคงจะบอกให้เขาหยุดปล่อยพลังเลยคงเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญจะทำให้บรรยากาศภายในบ้านตึงเครียดอีกด้วย ในเมื่อเราไม่สามารถห้ามให้ลูกหยุดปล่อยพลังได้ เราก็ใช้วิธีกำหนดสถานที่ กิจกรรม และเวลาให้ลูกได้ปล่อยพลังแทนค่ะ
และเมื่อลูกได้ปล่อยพลังของเขาอย่างสุด ๆ แล้วนั้น เขาจะนิ่งขึ้น และจะสามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ดีขึ้น มีสมาธิกับสิ่งที่จะทำต่อไปได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ วันหยุดลองชวนลูกไปปล่อยพลังที่สวนสาธารณะก็น่าจะดีนะคะ
ชวนลูกทำสิ่งที่ตรงกันข้ามเสียเลย
คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่อาจจะต้องมีช่วงหนึ่งที่จะต้องเจอกับความท้าทายอำนาจของลูกด้วยพฤติกรรมที่ “ชอบทำตรงกันข้าม” กับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกให้ทำ หากคุณพ่อคุณแม่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ ให้ลองทำแบบนี้ค่ะ ก็ชวนลูกมาทำกิจกรรมที่ต้องทำตรงกันข้ามกับคำสั่งเสียเลย
ด้วยการเล่นบอกโจทย์ให้ทำตรงกันข้ามกับคำสั่ง ข้อดีของกิจกรรมนี้คือ จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่โมโห ไม่ดุเขา นอกจากนี้ลูกยังได้เรียนรู้การเป็นผู้ฟังและผู้ทำตามที่ดีอีกด้วยค่ะ
ลดความเร็วของลูกด้วยกิจกรรม
เพราะลูกมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่าคงไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ แน่นอน แต่คราวนี้การที่ลูกเคลื่อนไหวเร็ว ก็จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กใจร้อน รอไม่ได้ ชอบทำอะไรเร็ว และเห็นผลเร็ว ๆ ดังนั้น กิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ชวนให้ลูกมาเล่นด้วยกัน ได้แก่ การพยุงลูกปิงปองในช้อนไม่ให้ตกขณะเดิน, การกรอกน้ำใส่ขวด หรือจะเป็นของเล่นอย่างจังก้าก็ได้เช่นกันค่ะ หรือถ้าเป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อยคุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกมาทำงานประดิษฐ์ต่าง ๆ ได้นะคะ
เล่นน้ำ เล่นทราย เข้าครัว
นอกจากการเล่นน้ำ เล่นทรายแล้ว ยังมีการเล่นดิน เล่นโคลนก็ช่วยให้ลูกได้ปล่อยพลังได้เช่นกัน หรือจะเนียน ๆ เล่นทำงานบ้านกันก็ได้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชวนลูกเข้าครัวทำขนมปังด้วยกัน ให้ลูกได้ปั้น ๆ คลุก ๆ แบบนี้ก็จะทำให้ลูกได้เพลิดเพลินไปอีกแบบ ที่สำคัญ การชวนลูกเข้าครัวยังทำให้ลูกได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น การวางแผน, การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และยังรู้จักคำศัพท์อื่น ๆ ในครัวอีกด้วยค่ะ
กำหนดตารางกิจกรรม
ในตารางกิจกรรมจะประกอบไปด้วยเวลาและกิจกรรม ว่าเวลาใดลูกจะทำกิจกรรมอะไร ซึ่งก็เท่ากับว่าเราจะให้ตารางเวลาเป็นตัวกำหนดกิจกรรมลูก ซึ่งสิ่งที่ลูกจะได้จากการทำตามตารางกิจกรรมก็คือ เขาจะสามารถควบคุมตัวเองได้ และเขาจะรู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เป็นต้น
ในเรื่องของการเลี้ยงลูกไม่มีหลักการอะไรที่แน่นอนตายตัวค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จะทำได้ก็คือ การนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับลูกและเวลาที่เอื้ออำนวยของคุณพ่อคุณแม่เอง และรอดูผลลัพธ์ว่าวิธีไหนที่เวิร์คสุดสำหรับครอบครัว จะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีไหนเวิร์ค? นั่นก็คือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่และลูกมีความสุข มีรอยยิ้มให้กันและกันนั่นเองค่ะ