“วัยรุ่น” เป็นวัยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นวัยที่เรียกได้ว่าบอบบางมาก บอบบางในที่นี้คือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจ ซักถามมากเกินไป ลูกจะรู้สึกอึดอัด หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่เฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ (อย่างห่วง ๆ) ห่างมากไปลูกก็อาจหลุดไปนอกลู่นอกทางได้ แล้วจะทำอย่างไรกันดีล่ะคราวนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญนะคะ วันนี้แม่โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาจับเข่าคุยในเรื่องนี้กันค่ะ เกี่ยวกับวิธีพื้นฐานทางจิตวิทยาในการเลี้ยงลูกวัยรุ่น
สารบัญ
5 หลักการเลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างเข้าใจ และเข้าถึง
ช่วงวัยของวัยรุ่น เริ่มนับตั้งแต่อายุ 10 ปี ขึ้นไป โดยแบ่งเป็น วัยแรกรุ่น, วัยรุ่นตอนกลาง และวัยรุ่นตอนปลายซึ่งวัยรุ่นตอนปลายจะอยู่ที่อายุ 19 ปี ซึ่งไม่ว่าจะวัยรุ่นในช่วงไหน การเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด โดยมีแนวทาง ดังนี้
เข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องเคยผ่านช่วงวัยรุ่นกันมาแล้วทั้งนั้น บางคนก็ผ่านมาได้แบบงง ๆ และก็ไม่ได้เข้าใจว่าวัยรุ่นมีความคิดและมุมมองอย่างไรต่อชีวิต และก็มีอีกหลาย ๆ คนที่ได้รับการเลี้ยงดูมาในแบบที่ไม่มีใครให้ความเข้าใจเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่แปลกหากคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะส่งต่อความไม่เข้าใจนี้ไปยังลูก รุ่นสู่รุ่น
ทั้งนี้ ธรรมชาติของวัยรุ่นเขาต้องการความรัก, ความอบอุ่น, ความเข้าใจ และอิสรภาพค่ะ เขาต้องการความเป็นส่วนตัว เช่น ต้องการมีห้องส่วนตัว เป็นต้น
ไม่เอาประสบการณ์ตนเองยัดเยียดให้ลูก
ให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นทบทวนตัวเองบ่อย ๆ ค่ะ ว่า เราเผลอเอาประสบการณ์และมุมมองของตัวเองไปใส่ให้ลูกหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น สมัยเด็ก ๆ คุณแม่อาจถูกเพื่อนกลั่นแกล้งบ่อย ๆ และไม่สู้คน เมื่อมีลูกก็พยายามปลูกฝัง และสอนลูกให้สู้คน (ซึ่งเน้นไปทางการใช้กำลัง) การสอนลูกเพื่อไม่ให้ใครมาเอาเปรียบเป็นเรื่องดีค่ะ แต่ทางออกไม่ใช่การใช้กำลังเพียงอย่างเดียว
หากลูกถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ควรดูความรุนแรงของการแกล้งด้วย หากไม่รุนแรง ลูกสามารถบอกเพื่อนได้ด้วยการพูดคุยให้หยุดการกระทำนั้น แต่หากการกลั่นแกล้งรุนแรงขึ้น ควรแจ้งครูให้ทราบ ตลอดไปจนถึงให้ครูแจ้งผู้ปกครองของเพื่อนที่แกล้ง เป็นลำดับไป
ให้อภัยตัวเองบ้าง
เพราะไม่มีใครเพอร์เฟค คุณพ่อคุณแม่ก็เช่นกัน การยิ่งพยายามให้เพอร์เฟคกลับยิ่งพบว่ายิ่งพัง คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดี ๆ ให้ลูกได้เรียนคณะดี ๆ แต่พบว่าเมื่อลูกเรียนดีกลับมีโรคซึมเศร้ามาเป็นรางวัล ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่เองก็ยังไม่มีอะไรเพอร์เฟค ลูกก็เช่นกันค่ะ เลี้ยงลูกให้ลูกมีความสุข เมื่อลูกมีความสุข คุณพ่อคุณแม่ก็สุขด้วย จริงไหมคะ แม้จะมีความสุขในความไม่เพอร์เฟคก็ยังดีกว่าการพยายามให้เพอร์เฟคแต่ไม่เพอร์เฟค แถมมีทุกข์อีกต่างหาก
ไม่เชื่อใจลูก
เพราะคนทุกคนต้องการการยอมรับค่ะ แม้แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เอง การได้รับการยอมรับเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ โดยเฉพาะวัยรุ่น ในฐานะที่โน้ตก็เป็นแม่เหมือนกัน เข้าใจค่ะว่า คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมห่วงลูก แต่ความห่วงกับความไม่เชื่อใจลูกมันใกล้กันมาก เช่น การไม่อนุญาตให้ลูกไปทัศนศึกษากับทางโรงเรียนพร้อมเพื่อน ๆ นั่นเท่ากับกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่เชื่อใจลูก ลูกก็จะทำตัวห่างเหินกับคุณพ่อคุณแม่ไป
กลับกันหากคุณพ่อคุณแม่เก็บความห่วงใยเอาไว้ แล้วปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ในชีวิตเอง เวลาที่ลูกมีปัญหาลูกก็กล้าที่จะเข้าหา เข้าไปปรึกษา ถึงแม้ว่าลูกจะดูเงียบไม่ตอบอะไร แต่อย่างน้อยเขาก็จะยังเก็บข้อมูลนั้น ๆ เพื่อไปประกอบการตัดสินใจ
เว้นช่องว่างให้ลูกบ้าง
เปรียบเสมือนการคาดเข็มขัด ถ้าเราคาดแน่นเกินไปเราก็จะอึดอัด อยากคลายออก แต่หากคาดให้พอดีมีช่องว่างระหว่างตัวเรากับเข็มขัดบ้างจะทำให้เราใส่เข็มขัดนั้นได้ทั้งวัน แต่บางครั้งการที่กางเกงหลวมเกินไป ครั้นจะไม่คาดเข็มขัดเลยกางเกงก็คงหลุดไปกองอยู่กับพื้น
การเลี้ยงลูกในวัยรุ่นก็เช่นกันค่ะ หากถามว่าควรเว้นระยะหรือช่องว่างเท่าไหร่ดี คงไม่สามารถตอบเป็นตัวเลขได้ แต่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถรับรู้ได้หัวใจค่ะ ว่าระยะไหนลูกถึงจะอบอุ่น ไม่อึดอัด
เด็กในแต่ละช่วงวัยก็จะมีพัฒนาการของเขาเป็นขั้นเป็นตอน วัยรุ่นก็เช่นกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจลูกค่ะ เพื่อนำมาปรับใช้กับวิธีการเลี้ยงลูก ที่สำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความรักและความเข้าใจกับลูกมาก ๆ เพื่อให้ลูกไม่ต้องไปโหยหาความรักจากผู้อื่น