คุณแม่มือใหม่เมื่อคลอดลูกแล้วและถึงเวลาที่ต้องพาลูกน้อยกลับบ้าน มักจะกังวลในหลายๆ เรื่อง อาทิ เราจะดูแลลูกน้อยได้ดีหรือเปล่า น้ำนมจะเพียงพอมั้ย ข้าวของเครื่องใช้จะสะอาดพอหรือเปล่า และอีกมากมายที่คุณแม่จะคิดได้
ผู้เขียนอยากบอกว่าคุณแม่ไม่ต้องกังวลอะไรไปมากมายเลยค่ะ เพราะไม่ใช่แค่คุณแม่ที่ต้องปรับตัว แต่ลูกน้อยเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ทีนี้เพื่อไม่ให้ความคิดเตลิดไปไกล วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องราวที่จะมาแบ่งปันคุณแม่มือใหม่ เพื่อคุณแม่จะได้ทราบข้อมูลเบื้องต้น เผื่อการเตรียมตัวรับมือกับการดูแลลูกน้อยค่ะ
มีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมรับมือในสัปดาห์แรก
กิจวัตรประจำวันเจ้าตัวน้อย
ทารกแรกเกิดจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับเยอะมาก ประมาณ 16-20 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว (แต่ก็จะมีเด็กบางส่วนเหมือนกันที่นอนน้อยกว่านี้ คุณแม่ไม่ต้องงตกใจหรือกังวลใจไปนะคะ เพราะเด็กแต่ละคนก็ต้องการการพักผ่อนที่ไม่เหมือนกัน)
กิจกรรมนอกจากนี้ของทารกก็จะมีแค่ ตื่นนอน กินนม ถ่าย และหลับ เนื่องด้วยทารกมีกระเพาะ มีกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ที่เล็ก ดังนั้นเค้าจะร้องทานบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ดังนั้น กิจวัตรประจำวันที่คุณแม่มือใหม่ต้องทำให้เค้าคือ การให้นม การอาบน้ำทำความสะอาด และดูแลเรื่องการขับถ่ายของลูก การทำความสะอาดรอบสะดือ ความสะอาดของเสื้อผ้า เครื่องนอนต่างๆ
คุณแม่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมลูก แล้วค่อยเรียนรู้นะคะ ว่าลูกต้องการอะไร เพื่อที่คุณแม่จะได้ตอบสนองเค้าได้อย่างถูกต้องค่ะ
พาลูกไปพบคุณหมอ
เป็นธรรมดาสำหรับทารกแรกคลอดที่คุณหมอต้องมีนัดตรวจร่างกาย ตรวจพัฒนาการของเด็ก ซึ่งอาจต้องไปพบบ่อยหน่อย ซึ่งเริ่มจาก 3-5 วัน หลังคลอด แล้วค่อยขยับมาเป็น 2 สัปดาห์, 1 เดือน, 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 9 เดือน และ 12 เดือน กรณีนี้เฉพาะทารกที่มีร่างกายแข็งแรงดีเท่านั้นนะคะ
ทั้งนี้ หากลูกน้อยไม่สบายหรือมีอาการผิดปกติอย่างไร คุณหมอก็จะนัดติดตามอาการเป็นระยะ ซึ่งคุณแม่ก็ต้องคอยเตรียมตัวไปพบคุณหมอตามนัดนะคะ
เตรียมรับแขกที่มาเยี่ยมเยียน
เรื่องนี้ก็ต้องมีอย่างแน่นอนค่ะคุณแม่ ซึ่งคุณแม่ต้องเตรียมตัวต้อนรับแขกผู้มาเยี่ยมเยียนที่บ้านไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนในที่ทำงาน เพื่อนของสามี ญาติคุณแม่เอง หรือแม้แต่ญาติฝ่ายสามี
แต่หากคุณแม่ยังไม่พร้อมที่จะรับแขกในสัปดาห์เพราะยังสาละวนอยู่กับการดูแลลูก สามารถบอกกับพวกเค้าไปอย่างสุภาพได้ค่ะว่าสัปดาห์นี้คุณแม่ขอเวลาปรับตัวอีกนิด และกำหนดวันที่คุณแม่พร้อมให้พวกเขาทราบได้ ส่วนใหญ่เค้าก็จะเข้าใจค่ะ
อีกเรื่องหนึ่งทีเป็นเรื่องสำคัญเลยคือ ทารกยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้น หากใครจะขออุ้ม ควรแนะนำให้เค้าล้างมือให้สะอาดก่อนอุ้มทุกครั้งนะคะ หรือวางน้ำยาฆ่าเชื้อโรคไว้ใกล้ๆ ก็ได้ค่ะ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
พักฟื้นร่างกายของคุณแม่
เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันค่ะ ที่คุณแม่อาจรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว เจ็บหน้าอกเพราะนมคัด หรือเจ็บแผลที่เพิ่งคลอด แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง (เชื่อเลยว่าคุณแม่มัวแต่ดูแลลูกจนลืมเรื่องร่างกายของตัวเองไปเลย)
ที่สำคัญ หากคุณแม่เริ่มเหนื่อยเกินไปกับการเลี้ยงลูก ต้องกล้าขอความช่วยเหลือเพื่อช่วยเลี้ยงลูกนะคะ เพื่อป้องกันภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นได้ และคุณแม่ควรตั้งสติ และคิดในแง่บวกเข้าไว้ ทำอารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ เหล่านี้ก็จะช่วยได้ค่ะ
เติมเต็มความสุขไปกับลูก
การเลี้ยงลูกในวัยแรกเกิดนั้นเป็นอะไรที่เหนื่อยมากเพราะเค้าจะตื่นทุก 2-3 ชั่วโมง แต่…เวลาก็ผ่านไปไวเช่นกัน คุณแม่ควรให้ความรัก หอมเค้า หรือกอดเค้าบ่อยๆ มีความสุขไปกับลูก แสดงให้เค้ารู้ว่าเรารักเค้ามากแค่ไหน ทำให้ทุกเวลาที่เราได้อยู่กับเป็นช่วงเวลาอันล้ำค่ามากที่สุดนะคะ
ดูแลทารกแรกเกิดขั้นพื้นฐาน
ช่วงเวลาในการให้นมลูก
ที่เหมาะสมคือ 06 -09 -15 -18 -21 -24 -03 น. เพราะทารกจะกินนมทุก ๆ 3 ชั่วโมง ถ้าทารกยังกินนมแม่อยู่ในทารกกินนมแม่ก่อน แล้วค่อยตามด้วยนมผสม
การเก็บรักษานม
ถ้าเป็นอุณหภูมิห้องสามารถอยู่ได้ 1 – 2 ชั่วโมง แต่ถ้าลูกกินไม่หมดให้ทิ้งนมที่เหลือไป ห้ามนำมาป้อนในมื้อถัดไปเด็ดขาด หลังให้นมแล้วควรอุ้มเพื่อให้เรอทุกครั้ง
การให้น้ำทารกแรกเกิด
ทารกที่กินนมหรือนมผสมที่ชงถูกต้องตามสัดส่วน ไม่ต้องให้น้ำเพิ่ม แต่ถ้าเป็นกรณีที่ให้นมแม่ร่วมกับนมผสม ให้ลูกดูดน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วในปริมาณเล็กน้อย เพื่อเป็นการล้างปากหลังกินนมได้
เด็กที่ทานนมแม่หรือนมผสมที่ชงถูกต้องตามอัตราส่วนที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องให้น้ำเสริม แต่ในกรณีที่เด็กทานนมแม่ร่วมกับนมผสม ใช้น้ำต้มสุกให้เด็กดูดเพียงเล็กน้อยเป็นการล้างปากหลังทานนมได้
ข้อมูลอ้างอิง Phyathai.com
การทำความสะอาดขวดนม
ล้างขวดนมให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างขวดนมสำหรับเด็ก จากนั้นนำไปนึ่งหรือต้มในน้ำเดือดนานประมาณ 20 นาที
การอาบน้ำทารกแรกเกิด
ควรอาบน้ำให้ทารกทุกวันด้วยน้ำอุ่น วันละ 1 – 2 ครั้ง ช่วงระหว่างมื้อนม หรือหลังกินนมไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเด็กอาเจียน หรือก่อนจะให้กินนมมื้อถัดไป ช่วงเวลาควรเป็น 09:00 – 10:00 น. หรือ 14:00 – 15:00 น.
การดูแลสะดือทารก
สะดือสามารถเปียกน้ำได้ไม่ว่าสายสะดือจะหลุดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งหลังอาบน้ำทุกครั้งให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ห้าม! โรยแป้งที่สะดือค่ะ เพราะจะทำให้อับชื้น และติดเชื้อได้
การดูแลแผลขลิบปลายอวัยวะเพศ
ทารกสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ ถ้าบริเวณแผลมีคราบเหลืองให้ใช้สำลีชุบน้ำอุ่นชุ่ม ๆ หุ้มที่ปลายอวัยวะเพศนานประมาณ 2 – 3 นาที แล้วลูบขึ้นเบา ๆ คราบเหลือง ๆ ที่เกาะอยู่ก็จะค่อย ๆ หลุดออก ให้ทำซ้ำทุกวัน วันละ 3 – 4 ครั้ง เพื่อป้องกันแผลกลับมาติดแน่น ห้ามโรยแป้งจนกว่าแผลจะแห้งสนิท
การดูแลทารกแรกเกิดไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพียงแค่มีรายละเอียดเยอะนิดหนึ่ง และคุณแม่ยังไม่คุ้นชินเท่านั้นเอง แต่ถ้าได้ทำทุก ๆ วันก็จะชำนาญไปเองค่ะ