เรื่องราวที่แม่ทุกคนต้องเจอนั่นคือ ลูกร้องให้อุ้มตลอดเวลา โดยเฉพาะกับเด็กวัยแรกเกิด – 3 เดือน วางปุ๊บร้องปั๊บเหมือนลูกมีเซ็นเซอร์ที่ก้นอย่างไงอย่างงั้น จนแม่ ๆ บางคนชักเริ่มไม่แน่ใจว่าถ้าอุ้มลูกทุกครั้งที่ลูกร้องลูกจะติดมือไหม เพราะเห็นผู้ใหญ่บอกต่อ ๆ กันมา แต่อีกใจก็สงสารลูก ไม่อุ้มก็ไม่ได้ ลูกจะร้องไห้ไม่หยุด เอาอย่างไรดี? วันนี้เรามาดูข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจกันค่ะแม่
สารบัญ
5 สิ่งดี ๆ ที่ทำไมลูกถึงอยากให้แม่อุ้ม
จากผลงานการวิจัยพบว่า เด็กในวัยแรกเกิด – 6 เดือน เป็นวัยที่สื่อสารด้วยการร้องไห้ได้อย่างเดียวเท่านั้น หากเด็กได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม อาทิ การเดินเข้าไปหา การสัมผัส หรือการอุ้ม จะทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจ (Trust) ว่ามีคนคอยดูแล และจะส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีในอนาคต โดยที่จะเป็นเด็กที่ไม่เรียกร้องความสนใจมากเกินไป (Demanding) เราไปลงในรายละเอียดกันเลยค่ะว่าเพราะอะไรลูกน้อยถึงต้องการให้คุณแม่อุ้มอยู่ตลอดเวลา
รู้สึกปลอดภัย
ตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกน้อยก็อยู่ในท้องแม่ยาวนานถึง 9 เดือน ทารกจะมีความรู้สึกปลอดภัย แม้เขาต้องลอยไปลอยมาอยู่ในน้ำคร่ำ คุณแม่ไปไหนทารกก็ไปด้วยตลอด แม้ว่าคุณแม่จะมีการเคลื่อนไหวช้าหรือเร็วแค่ไหน ลูกก็ยังรู้สึกว่าปลอดภัยอยู่ดี ดังนั้น หลังคลอด ลูกต้องออกมาเผชิญโลกภายนอก ต้องมีการปรับตัว ลูกจะยังไม่คุ้นกับการที่ต้องออกมาข้างนอกท้องคุณแม่ การที่ลูกต้องการให้คุณแม่อุ้มตลอดนั้นก็เพราะว่าเขาจะรู้สึกว่าเขาปลอดภัยนั่นเอง
คุ้นชินกับการเคลื่อนไหว
ความที่คุณแม่ต้องอุ้มท้องตลอด 9 เดือน ขณะที่แม่เคลื่อนไหวร่างกาย ลูกน้อยก็ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่จะมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย ลอยไปมาอยู่ในน้ำคร่ำ ทำให้ลูกน้อยต้องการที่จะให้คุณแม่อุ้มอยู่ตลอดเวลา เพราะความคุ้นชินเหมือนตอนที่ลูกอยู่ในท้องคุณแม่
รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว
อันเกิดจากอากาศที่ไม่ว่าจะร้อนอบอ้าวหรือหนาวเย็นเกินไปขณะที่อยู่ในห้องแอร์ ก็เป็นสาเหตุให้ลูกน้อยร้องไห้ งอแง อยากให้คุณแม่อุ้มเช่นกัน เพราะการที่คุณแม่อุ้มลูกน้อยนั้น ลูกน้อยจะรับรู้ได้ว่า ถ้าคุณแม่อุ้มเขาจะทำให้เขาหายจากการความรู้สึกอึดอัดได้แน่นอน โดยความหมายของคำว่า รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวนี้ รวมถึง เวลาที่ลูกหิวนม และมีไข้ ด้วยนะคะ
ขอหนูอ้อนหน่อยนะ
เคยเจอกันไหมคะ ลูกน้อยที่ร้องไห้แบบไม่ได้ร้องจริงจังถึงขนาดว่าต้องมีน้ำตา สิ่งนี้แหละค่ะที่เรียกว่า “หนูขออ้อนหน่อย” เพราะทุกครั้งที่เขาร้องไห้ และคุณแม่ก็รีบเข้าไปหา ไปอุ้มเค้าขึ้นมาแนบอก เขาจะเรียนรู้ว่า
“ถ้าฉันต้องการเรียกร้องความสนใจ ต้องการให้คุณแม่อุ้มสามารถใช้วิธีนี้ได้ และเป็นวิธีที่ได้ผลซะด้วยสิ ครั้งหน้า…เอาใหม่ ๆ”
เห็นไหมคะ ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะยังไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยคำพูด แต่เขาก็มีวิธีสื่อสารในแบบของเขาที่ทำให้คนเป็นแม่อย่างเรารู้ได้ว่าเขาต้องการอะไร
ชินกับเสียงหัวใจแม่ และเสียงต่าง ๆ ในร่างกายคุณแม่
“เสียงหัวใจ และเสียงพูดของคุณแม่”
คือ เสียงที่ลูกน้อยจะได้ยินชัดเจนมากที่สุดค่ะ โดยเฉพาะเสียงหัวใจที่เต้นตลอดเวลา และดังเป็นจังหวะ ลูกจึงคุ้นเคยกับเสียงนี้มากที่สุด เพราะฉะนั้น แม้จะคลอดออกมาแล้วก็ตาม ลูกน้อยก็ยังอยากที่จะได้ยินเสียงเหล่านี้อยู่ดี จึงเป็นเหตุให้อยากให้คุณแม่อุ้มนั่นเองค่ะ แต่ถ้าคุณแม่เหนื่อยแล้ว แขนล้าเต็มทีลองนั่งแล้วใช้เบาะรองแทน ส่วนมือคุณแม่ก็ประคองเบาะ พร้อมกับเปิดเพลงกล่อมเบา ๆ แบบนี้ก็ช่วยให้ลูกหลับได้ง่ายขึ้นค่ะ
หลายคนบอกว่าในช่วง 3 แรกหลังคลอด คุณแม่จะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องมีการเรียนรู้ปละปรับตัวกันทั้งคุณแม่และคุณลูก เรื่องเหนื่อยที่ว่านี้ก็จะเป็นเรื่อง “การอุ้ม” ซะส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องการติดมือนั้น ลองคิดไปพร้อมกันนะคะ หากลูกต้องการให้คุณแม่อุ้ม แต่คุณแม่เพิกเฉย อุ้มบ้างไม่อุ้มบ้าง ผลเสียที่ตามมาทางด้านจิตใจจะเป็นลบทันที เพราะเค้าจะไม่รู้สึกปลอดภัย จะเป็นเด็กที่หวาดกลัวต่อสิ่งรอบข้าง เมื่อเติบโตขึ้น เขาจะเป็นเด็กที่เรียกร้องความสนใจอย่างมาก และอีกอย่างที่สำคัญ คือ เมื่อถึงวันที่เราอยากอุ้มเขา แต่เขาไม่ให้เราอุ้ม อย่างนี้น่าใจหายกว่าไหม คิดดี ๆ นะคะคุณแม่ ^^