เรื่องของการใช้จุกนมหลอกมาจนกระทั่งวันนี้เราก็ยังคงได้ยินหลายกระแสอยู่ค่ะ ว่าใช้แล้วดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่ขณะที่อีกหลายครอบครัวบอกว่าไม่ใช่ดีกว่าเพราะมันมีข้อเสียอย่างนั้นอย่างนี้ มีหลายคำถามเกิดขึ้นมากมาย วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันทีละคำถามเลยค่ะ
สารบัญ
จุกนมหลอกไม่จำเป็นต่อลูกน้อย…จริงหรือ?
เพราะทารกที่เกิดมายังต้องการเวลาในการปรับตัว การใช้จุกนมหลอกจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและสงบได้เป็นอย่างมาก ถ้าหากการอุ้ม การปลอบ การไกวเปล การเล่นยังไม่สามารถทำให้ลูกน้อยสงบได้ จุกนมหลอกก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีทีเดียว
จุกนมหลอกทำให้ลูกน้อยดูดนมแม่น้อยลง…จริงหรือ?
ลูกน้อยของคุณแม่ฉลาดกว่าที่คิดค่ะ เขาสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนคือนมจริงของคุณแม่ และสิ่งไหนคือจุกนมหลอก เพราะฉะนั้นการให้ลูกใช้จุกนมหลอกจะทำให้ลูกดูดนมแม่ได้น้อยลงก็ไม่เป็นความจริงค่ะ
จุกนมหลอกทำให้ลูกฟันเก…จริงหรือ?
ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยค่ะ เช่น ความถี่ในการใช้ และระยะเวลาในการใช้ หากคุณแม่ใช้แค่บางครั้งบางคราว และใช้เมื่ออายุของลูกน้อยไม่เกิน 1 ปี แบบนี้ก็จะไม่มีผลมากค่ะ แต่หากใช้จุกนมหลอกมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะหากใช้ยาวมาจนลูกอายุเกิน 1 ปี แบบนี้ก็จะมีผลค่ะ ถึงแม้จะเป็นฟันน้ำนมแต่ก็จะมีผลต่อแนวฟันแท้ที่จะขึ้นตามมา
ถ้าลูกติดจุกนมหลอกแล้วจะเลิกยาก…จริงหรือ?
โดยธรรมชาติแล้ว ลูกน้อยเมื่อเข้าวัย 6 – 9 เดือนก็จะเริ่มคลานได้ เขาจะเริ่มออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น มีความตื่นเต้นที่มากกว่าจุกนมหลอก เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของคุณแม่ที่จะต้องเก็บให้พ้นสายตาลูกแล้วล่ะค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลิกจุกนมหลอกในเวลากลางคืน อาจส่งผลให้ลูกหลับยากขึ้นเล็กน้อย แต่ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเพราะลูกน้อยเริ่มปรับตัวได้ คร่าว ๆ ไม่เกินอายุ 2 ปีค่ะ
จุกนมหลอกช่วยลดความเสี่ยงภาวะไหลตายในเด็กได้…จริงหรือ?
ความเชื่อ
เชื่อกันว่าเวลาที่ลูกน้อยหลับแล้วมีจุกนมหลอกคาอยู่ที่ปากจะทำให้ลดความเสี่ยงภาวะไหลตายในเด็กได้ (SIDS – Sudden Infant Death Syndrome) เพราะระหว่างที่เด็กดูดนั้น โพรงจมูกและปากจะเปิดรับอากาศ ทำให้หายใจได้อย่างต่อเนื่อง
ความจริง
จากผลการวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ความเชื่อดังกล่าวอาจมีส่วนจริง จากการทดสอบมากกว่า 500 ครอบครัวที่มีลูกวัยทารก พบว่าสามารถลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้ถึง 3 เท่า
จุกนมหลอกมีผลทำให้ลูกพูดช้า…จริงหรือ?
หากลูกน้อยใช้จุกนมหลอกเป็นระยะเวลานาน ใช้บ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย ขาดไม่ได้ เหล่านี้อาจเริ่มเป็นปัญหาหนักอกของคุณแม่แล้วล่ะค่ะ เพราะเมื่อถึงวัยที่ลูกน้อยจะหัดพูด แต่ดันมีจุกจมหลอกอยู่ที่ปากตลอดเวลา จะส่งผลให้เพดานเหงือกแข็งและฟันที่กำลังขึ้นนั้นผิดรูปไป ที่สำคัญ จะทำให้ลูกน้อยไม่สามารถออกเสียงสระ ซึ่งเป็นเสียงแรกของการหัดพูดอีกด้วยค่ะ
จุกนมหลอกทำให้ลูกเสี่ยงเป็นโรคหูอักเสบ…จริงหรือ?
มีความเป็นไปได้ค่ะ เนื่องจากการดูดนั้นอาจทำให้ของเหลวจากคอเคลื่อนไปที่หูส่วนกลาง ลูกน้อยจึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความสะอาดของจุกนมหลอกนะคะ
การใช้จุกนมหลอกแม้วาจะเป็นการทำให้ลูกรู้สึกว่าอบอุ่นและปลอดภัย ลูกสามารถอยู่ได้โดยไม่งอแง แต่การที่อยู่ห่างไกลคุณแม่นาน ๆ ก็ย่อมไม่เป็นผลดีเช่นกัน แต่หากคุณแม่ต้องทำงานบ้าน ระหว่างนั้นให้ส่งเสียงให้ลูกน้อยรู้นะคะว่าคุณแม่ไม่ได้ไปไหน แต่อยู่กับลูกตลอดเวลา หลังจากเสร็จจากงานบ้านแล้ว ค่อยมาอุ้มลูกเพื่อให้ลูกได้รู้สึกปลอดภัยด้วยอ้อมกอดของคุณแม่ค่ะ