การที่คุณพ่อคุณแม่จะปลูกฝังวินัย หรือหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรให้กับลูกซักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่การบอกให้ไปทำ หรือไม่ใช่เพียงแค่ออกคำสั่ง แต่คุณพ่อคุณแม่ควรตกลงทำความเข้าใจและอธิบายว่าทำไมต้องทำให้กับเด็กด้วย เพราะเด็กในวัยนี้จะชอบมากหากเค้ามีโอกาสตัดสินใจเอง เลือกเอง หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ แต่หากคุณพ่อคุณแม่บอกอย่างเดียวว่าให้ทำโน่นทำนี่ เด็กก็จะทำเพียงเพราะสั่งให้ทำ หรือ สั่งก็ทำ ไม่สั่งก็ไม่ทำ
การปลูกฝังให้ลูกมีวินัยติดตัวไปจนโตจนเป็นนิสัยนั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง ไปไร่เรียงดูกันเลยค่ะ
สารบัญ
EF คืออะไร?
EF หรือ Executive Function คือ กระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า มีความสำคัญในการควบคุมอารมณ์ ความคิด การวางแผน รวมถึงเรื่องของการแก้ไขปัญหา ซึ่งลูกจะใช้ความจำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลการกระทำ ซึ่งในเรื่องของ “วินัย” เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ บรรลุถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
EF ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
- ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน (Working Memory)
- ทักษะความยั้งคิด (Inhibitory Control)
- ทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด (Shift Cognitive Flexibility)
- ทักษะการใส่ใจจดจ่อ (Focus)
- ทักษะการควบคุมอารมณ์ (Emotion Control)
- การวางแผนและการจัดการ (Planning and Organizing)
- การประเมินตนเอง (Self-Monitoring)
- การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating)
- มีความเพียร มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)
หลักการของ EF
เด็กดูแลตัวเองได้
ฝึกให้เด็กมีการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาและมีการฝึกฝนตนเองจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องคอยให้คุณพ่อคุณแม่คอยบอก เช่น สามารถดูแลร่างกายและทำความสะอาดตัวเองได้ และการดูแลงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น
เอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่เสี่ยงอันตรายได้
เช่น โตขึ้นลูกอยากขี่มอเตอร์ไซค์ แต่ EF จะเป็นตัวกรองว่า ต้องคิดก่อน วางแผนก่อนว่าจะขี่อย่างไรให้ปลอดภัย ขี่อย่างไรให้สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และไปถึงเป้าหมายได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น
สร้างอนาคตได้
เด็กที่มี EF จะสามารถมองไปข้างหน้าได้ มองเห็นอนาคต มีความมุ่งมั่น พากเพียร วางแผน ลงมือทำ และมีความรับผิดชอบ
ปลูกฝังอย่างไร ให้ลูกมีวินัยไปจนโต
ปลูกฝังตั้งแต่เด็กยังเล็ก
การฝึกวินัยขั้นต้นให้กับลูก สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในวัยประมาณ 2 ขวบขึ้นไป เริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก่อน เช่น แปรงฟัน ขับถ่าย ทานข้าวเองเก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูอยู่ข้างๆ คอยช่วยเหลือ และชื่นชมลูกเมื่อเค้าทำได้ดี แต่อย่างเพิ่งคาดหวังว่าเค้าจะทำได้ 100% นะคะ คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นๆ ค่อยๆ ฝึกเค้าวันละนิดๆ พอเค้าโตขึ้น เค้าก็จะเริ่มทำได้สมบูรณ์มากขึ้นค่ะ
ในบางครั้งอาจมีที่ลูกอยากอ้อนคุณแม่ให้คุณแม่ช่วยแปรงฟันให้ หรือทำอะไรให้ ถ้าแบบนี้ให้คุณแม่ทำได้ค่ะ แต่อาจตกลงกับลูกว่าสลับวันกัน เช่น วันนี้คุณแม่ทำให้ พรุ่งนี้ลูกต้องทำเอง เป็นต้นค่ะ
มอบหมายหน้าที่ทีละน้อย
เมื่อลูกอายุประมาณ 5 ขวบ ให้คุณแม่มอบหมายงานที่เริ่มเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น อาจเริ่มจากงานบ้านก่อนโดยให้ลูกช่วยหยิบจับอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ้าเป็นลูกสาวอาจให้ช่วยงานคุณแม่ในครัว อย่างการตอกไข่ หรือตีไข่ถ้าเป็นลูกชาย อาจให้เค้าช่วยรดน้ำต้นไม้พรวนดิน เป็นต้น ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ควรทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน แต่ต้องมีการพูดคุยตกลงกันก่อน เพื่อให้ลูกได้รู้หน้าที่และรู้ถึงสิ่งที่เค้าต้องทำในแต่ละวันค่ะ
มอบหมายงานบ้านให้เป็นกิจจะลักษณะ
ข้อนี้เหมาะสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อย ประมาณ 7 ขวบนะคะ เพราะเค้าจะโตพอที่คุณพ่อคุณแม่จะมอบหมายงานที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น โดยการจัดสรรให้เค้าได้มีส่วนช่วยในการเลือกในสิ่งที่เค้าอยากทำ และต้องทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น รดน้ำต้นไม้ กวาดบ้าน ถูบ้านในทุกวันหยุด (หรือเริ่มจากวันเสาร์วันเดียวก่อนก็ได้ค่ะ) เพราะการมอบหมายงานบ้านนี้ จะทำให้เค้ารู้จักการวางแผนว่าจะต้องทำอะไรก่อนและทำอะไรทีหลัง ในแต่ละวันเค้ามีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้างสิ่งไหนสำคัญกว่า สิ่งไหนสำคัญน้อยกว่า หรือสิ่งไหนไม่สำคัญ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตเค้าและให้คำปรึกษากับเค้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ลูกได้เรียนรู้หลายอย่างเลยค่ะโดยเฉพาะเรื่องการวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การลำดับความสำคัญก่อนหลัง อันเป็นรากฐานของการสร้างการมีวินัยนั่นเอง
ทำตารางกิจวัตรประจำวัน
การกำหนดตารางเวลาให้ลูกในแต่ละวัน จะทำให้ลูกได้รู้ว่าในวันหนึ่งๆ เค้าจะต้องทำอะไรบ้าง เค้าจะเรียนรู้คุณค่าของเวลาเองอย่างอัติโนมัติ เค้าจะเรียนรู้ว่า เวลาไหนควรทำอะไร เวลาไหนเป็นเวลาทานข้าว เวลาไหนเป็นเวลานอน
เป็นต้นแบบที่ดี
ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นในเรื่องของการปลูกฝังวินัยให้ลูกจะไม่เกิดผลเลย หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เพราะลูกจะคอยสังเกตพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะให้ถูกที่ การเก็บข้าวของเครื่องใช้ในบ้านให้เรียบร้อยเป็นที่เป็นทาง การปฏิบัติตามกฎจราจร การเข้าคิวเพื่อรอซื้ออาหาร หรือแม้แต่การล้างจานทันทีหลังมื้ออาหาร เป็นต้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก การสร้างวินัยก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ
เมื่อพูดถึงเรื่องของ “วินัย” แล้ว ยังมีอีกหนึ่งวินัยที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝัง และสามารถปลูกฝังได้ตังแต่ยังเล็ก นั่นก็คือ “ฝึกวินัยการกินให้ลูก ถ้าทำได้เห็นผลแน่นอน” จะต้องฝึกอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน อย่าลืมไปติดตามอ่านกันนะคะ