เชื่อว่าน่าจะมีคุณแม่หลายๆคนเคยทำงานนอกบ้านกันมาก่อนหน้าที่จะมีลูกพอมีลูกก็กลายเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ลาออกมาเลี้ยงลูกเอง ใกล้ชิดกับลูก ใช้เวลาอยู่กับลูกทั้งวัน แต่พอเค้าโตขึ้น เริ่มพูดได้ เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เคยสงสัยกันมั้ยคะ ว่าทำไมลูกมักดื้อ และงอแงกับคุณแม่อยู่คนเดียว ทั้งๆ ที่กับคนอื่นพูดแค่คำสองคำก็เชื่อฟังและทำตามแล้ว
“แม่ทำให้ทุกอย่าง ทำไมดื้อกับแม่อย่างนี้ล่ะลูก แม่ท้อแล้วนะคะเนี่ย…”
วันนี้ผู้เขียนมีคำตอบค่ะ ไปดูกันเลย
สารบัญ
ทำไมลูกมักดื้อกับแม่มากกว่าใคร
แม่คือผู้คุมกฎ กติกา
เรียกได้ว่าตั้งแต่ลืมตามาดูโลก คุณแม่ก็อุ้มมาตลอด แม่กระทั่งเวลาจะกินนม นอนก็ต้องนอนใกล้กัน ลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร เสื้อผ้าต้องสไตล์ไหน รองเท้าต้องสีไหน แบบไหน ของเล่นแบบไหนที่ลูกเห็นแล้ววิ่งเข้าหา และอีกร้อยแปดพันเก้าเรื่องราวของลูก คุณแม่รู้หมด
จะทานข้าวตอนไหน ให้นมกี่โมง อาบน้ำกี่โมง นอนกี่โมง คุณแม่จะเป็นคนตั้งกติกาเหล่านี้ซะส่วนใหญ่ เพราะต้องคิด ต้องจัดการในเรื่องของ “เวลา” ตลอด 24 ชม. ดังนั้น ความที่ “คุณแม่เป็นผู้คุมกติกา” นี้ จึงทำให้ลูกต้องทดสอบเราเยอะกว่าคนอื่น ในขณะที่คนอื่นจะตามใจกันหมดและตามใจมากกว่าคุณแม่จนทำให้คุณแม่รู้สึกว่าลูกดื้อกับคุณแม่มากกว่าใคร
แม่คือของตาย
เพราะเค้ารู้ว่า แม่รับเค้าได้ทุกอย่าง ดื้อยังงัยก็รัก ก็คอยดูแลหาข้าวหาปลาให้ อาบน้ำให้ ฯลฯ งอแงหรอ…เดี๋ยวเดินไปทำน้ำตาคลอหน่อยๆ แม่ก็ใจอ่อนแล้ว แต่ในขณะที่คนอื่น ไม่รักเค้าก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะยังงัยซะก็คบๆ คุยๆ ไปเพื่อขนมเท่านั้น เป็นแค่ทางผ่าน
ใกล้เวลาแยกตัวเป็นอิสระแล้ว
เด็กเล็กเมื่อมีอายุใกล้ 3 ขวบนั้น เค้าจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มอยากแยกตัวมาเป็นอิสระ อยากเดินเองไม่ต้องจูงมือ อยากกินข้าวเอง อยากเลือกเสื้อผ้าใส่เอง หรือบางรายอยากเลือกข้าวของเครื่องใช้ในห้องนอนเอง เลือกสีเองเลย เป็นต้น
ด้วยความที่เค้ามีความคิดเป็นของตัวเองนั่นเอง เค้าจะทดสอบคุณแม่หนักขึ้น ว่ากรอบ กติกาที่คุณแม่วางไว้เปิดกว้างสำหรับความคิดเค้ามากน้อยแต่ไหน หรือจะดูซิว่าคุณแม่จะใจดีกับเค้าอย่างนี้ตลอดไปหรือเปล่า
ไม่มีคำว่า “มากไป”
ในความเป็น “คุณแม่” ที่เลี้ยงลูกเอง อยู่กับลูกตลอด 24 ชม. ทำให้คุณแม่ได้กอดเค้า หอมเค้า ได้แสดงความรักกับเค้าได้มากที่สุด ซึ่งกอปรกับเป็นสิ่งที่ลูกทุกคนต้องการอยู่แล้ว ดังนั้น “การแสดงความรักกับลูก” ไม่ว่าจะเป็นการกอดหรือการหอม สามารถทำได้ตลอด ไม่มีคำว่า “มากไป”
กลับกัน…หากคุณแม่คิดว่าถ้าเราหอมเค้าในที่สาธารณะแล้วลูกจะอาย เลยไม่ทำดีกว่า เหมือนเป็นการหักดิบเค้า สิ่งนี้จะทำให้เกิดผลเสียกับลูกในอนาคตมากกว่านะคะ
กลิ่นน้ำนมหรือกลิ่นตัวของแม่
“กลิ่นน้ำนมหรือกลิ่นตัวแม่” เป็นกลิ่นเฉพาะตัวที่ลูกคุ้นเคยมาตั้งแต่อยู่ในท้อง เหมือนกับว่าถ้าเจอแม่ทีไรต้องอ้อน ต้องดื้อ ต้องดิ้น ซักนิดซักหน่อยก็ยังดี เพราะทำมานาน เรียกได้ว่า “ทำมาตั้งแต่เกิด”
ความที่ลูก “ดื้อ” นั่นเพราะเค้ามีความคิดเป็นของเค้าเอง อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เค้าสามารถร่วมด้วยได้ คุณแม่คงต้องพิจารณาเอาเองนะคะ ว่าสิ่งไหนพอให้เค้าร่วมออกความคิดเห็นได้ อันไหนยังไม่ถึงเวลา เพราะหากสิ่งไหนที่ลูกได้มีส่วนร่วมแล้ว เค้าจะรู้สึกมีความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง ก็ยิ่งส่งผลดีต่ออนาคตลูกค่ะ
ไม่ว่าลูกจะดื้อหรือจะทดสอบคุณแม่หนักแค่ไหน หากคุณแม่ยังให้ความรักกับเค้าอย่างใกล้ชิด รับรองว่าสิ่งนี้จะเป็น “เกราะป้องกัน” ปิศาจจากสังคมภายนอกได้ดีทีเดียวค่ะ เพราะเค้าจะมี “ต้นทุนคุณแม่” เยอะมาก จะทำอะไรลงไปก็จะนึกถึงคุณแม่ และครอบครัวก่อนเสมอ แต่หากบ้านไหนที่มีต้นทุนตรงนี้ต่ำ อาจต้องเหนื่อยกันหน่อย