เมื่อพูดถึงคำว่า “วินัย” คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านคงคิดไปถึงเรื่องวินัยในการเข้าคิว วินัยในเรื่องของการตรงต่อเวลาใช่ไหมล่ะคะ แต่ลองคิดดี ๆ นะคะ “วินัยในเรื่องการกิน” ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญสำหรับลูกเช่นกัน ถ้าหากลูกมีวินัยในการกินที่ดีก็เท่ากับลูกจะมีพื้นฐานชีวิตที่ดีได้เช่นกัน
ข้อดีของการมีวินัยในการกิน
ในแต่ละช่วงวัยของลูก ลูกจะต้องมีการปรับตัวในเรื่องของการกินอาหาร จากอาหารบดละเอียดมาเป็นอาหารหยาบ ซึ่งนอกจากการเคี้ยวที่ลูกได้เรียนรู้แล้ว ในระหว่างการทานอาหารลูกจะได้เรียนรู้ด้วยว่ามารยาทบนโต๊ะอาหารที่ถูกต้องนั้นต้องทำอย่างไร หรือต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อต้องทานอาหารร่วมกันหลาย ๆ คน เหล่านี้คือ เรื่องของระเบียบ ระบบ แบบแผนที่ลูกต้องเรียนรู้
กลับกันหากเด็กที่ไม่เคยฝึกวินัยในเรื่องของการกิน เขาอาจจะแค่สักแต่ว่ากิน ๆ ให้อิ่ม แล้ววิ่งไปเล่นต่อ เพราะห่วงเล่น บางคนอาจกินไปเล่นไป ขาดมารยาททางสังคม การปล่อยให้เด็กกินไปวิ่งเล่นไปไม่ได้หมายความว่า เขาถูกปิดกั้น ถูกจำกัดอิสระ แต่มันหมายถึงการมารยาททางสังคม และเป็นการทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่าเวลาอะไรควรทำอะไร
ฝึกวินัยการกินให้ลูกด้วยเทคนิคง่าย ๆ
บอกเวลาช่วงทานข้าวกับลูก
อธิบายให้ลูกฟังว่าบ้านเราทานข้าวในแต่ละมื้อกี่โมง แต่ถ้าหากลูกยังดูนาฬิกาไม่เป็น ให้คุณแม่บอกลูกล่วงหน้าประมาณ 10 นาทีในการที่จะให้ลูกเตรียมตัวทานข้าว เช่น บอกลูกให้ไปล้างมือให้สะอาด ระหว่างนี้คุณแม่จะจัดโต๊ะอาหาร เป็นต้น
ไม่เดินตามเพื่อป้อนข้าวลูก
ข้อนี้เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่อาจพอจะเคยเห็นมาบ้างใช่ไหมคะ ซึ่งข้อเสียในการที่คุณแม่ต้องเดินตามป้อน ในขณะที่ลูกเดินหรือวิ่งก็คือ ลูกอาจเสี่ยงสำลักได้ และที่สำคัญจะทำให้ลูกเพลิดเพลินกับมือที่ว่าง (เพราะมีคุณแม่ตามป้อน) จึงทำให้ลูกอิ่มเร็ว และลูกอมข้าว ส่งผลให้ฟันผุตามมาได้ค่ะ
ที่ถูกต้อง ควรฝึกให้ลูกนั่งทานข้าวบนโต๊ะ และทานไปพร้อมกันกับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
คุณแม่อาจพาลูกไปเลือกซื้อโต๊ะทานข้าวของเด็กพร้อมกัน แล้วให้ลูกเลือกเองก็ได้ค่ะ จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากนั่งเก้าอี้ที่เขาเลือกเอง
กำหนดเวลาในการกินอาหาร
โดยทั่วไปแล้ว จะกำหนดอยู่ที่ 30 นาทีโดยประมาณ ถ้าเกินกว่านี้ ให้คุณแม่เก็บอาหารนั้นทันที
แต่ก่อนที่จะเก็บอาหาร ให้คุณแม่พูดเตือนลูกก่อนนะคะ ว่าเหลือเวลาอีกกี่นาที ถ้าหนูยังทานไม่หมด คุณแม่จะเก็บแล้วนะ แบบนี้ค่ะ ไม่งั้นลูกงอแงแน่เลย
ไม่พูดหรือคุยกันระหว่างการทานอาหาร
การพูดคุยกันระหว่างการทานอาหารนั้น นอกจากจะเสี่ยงการสำลักแล้ว ยังนับว่าเป็นมารยาทที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอีกด้วยค่ะ
ใช้เวลาว่างอธิบายประโยชน์ของอาหาร
อาทิ สรรพคุณ หรือประโยชน์ของผักแต่ละชนิด โดยใช้วิธีพูดคุยหรือเล่าผ่านนิทาน หรืออาจใช้ตัวตุ๊กตานิ้วมือ พร้อมพากย์เสียงเป็นตัวละครต่าง ๆ มาช่วยถ่ายทอด แบบนี้ก็สามารถเพิ่มความสนใจให้กับลูกได้นะคะ
หาเมนูใหม่ให้ลูกอยู่เสมอ
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้ลูกรับมือกับอาหารที่โรงเรียนที่หลากหลายได้ และที่สำคัญเป็นการฝึกให้ลูกได้สารอาหารที่หลากหลายอีกด้วยค่ะ
ไม่ให้ทานขนมระหว่างมื้อมากเกินไป
จะบอกว่า “ไม่ให้ลูกกินขนมระหว่างมื้อเลย” ก็ดูจะใจร้ายเกินไป เพราะธรรมชาติของเด็กและขนมก็เหมือนขั้วบวกกับขั้วลบ เจอกันไม่ได้จะดึงดูดเข้าหากันเสมอ เพราะฉะนั้นขนมระหว่างมื้อให้ลูกทานได้ค่ะ แต่…คุณแม่ต้องควบคุมปริมาณและดูเวลา หากลูกจะขอกินขนมก่อนอาหารมื้อหลักเพียง 30 นาที แบบนี้คงไม่ดีแน่ เพราะลูกจะอิ่มขนมซะก่อน
ปิดสิ่งเร้าทุกอย่างระหว่างทานข้าว
สิ่งเร้า เช่น ทีวี แทปเล็ต และมือถือ เพราะจะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจลูกได้ดีทีเดียว ทำให้ลูกไม่สนใจข้าวที่อยู่ตรงหน้า ลูกก็จะทานข้าวได้น้อยลง
เป็นต้นแบบที่ดี
การเป็นต้นแบบที่ดีจะทำให้ลูกได้เรียนรู้และปฏิบัติตามได้อย่างงายดายเลยค่ะ บางอย่างคุณแม่ไม่ต้องเหนื่อยพูดเลยด้วยซ้ำ
เด็ก ๆ ที่ได้รับการฝึกวินัยมาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตขึ้นจะทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา อาศัยความใจเย็นจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ