คุณพ่อคุณแม่ทุกคนรักลูก หวังดีกับลูก แต่ด้วยบางครั้งเมื่อลูกทำผิดก็ไม่สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ จึงใช้อำนาจ ใช้น้ำเสียง รวมไปถึงท่าทางในการดุด่าลูก และทำโทษลูก โดยเฉพาะการดุลูกในวัย 3 ขวบ วันนี้เราจะมาสะท้อนแง่มุมในเรื่องนี้กันค่ะ พร้อมทั้งวิธีดุลูก 3 ขวบอย่างไรให้ได้ผล
สารบัญ
ผลเสียของการดุลูก แบบใช้อำนาจ
ลูกเลียบแบบพฤติกรรม
พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ส่งผลและมีอิทธิพลต่อลูกมากกว่าการสอนด้วยคำพูดอีกนะคะ เพราะลูกจะซึมซับเอาพฤติกรรมทุกอย่างของคุณพ่อคุณแม่ ยิ่งถ้าเป็นในเรื่องของการดุด่า การใช้อารมณ์ และความรุนแรงกับลูกด้วยแล้ว ลูกจะซึมซับเอาพฤติกรรมดังกล่าวนี้ไปใช้กับคนอื่นเมื่อเขาต้องอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ลูกจะใช้ความรุนแรงนี้กับผู้ที่อ่อนกว่าและด้อยกว่าเขา
กลายเป็นเด็กขี้กลัว
โดยพื้นฐานของลูกนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเกรงกลัวคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว ไม่อยากทำอะไรที่ให้คุณพ่อคุณแม่ต้องโกรธ และดุเขา แต่การที่คุณพ่อคุณแม่แสดงอำนาจ และดุด่าลูกน้อยมากเกินไป จะกลายเป็นการเพิ่มความกลัวให้กับลูกมากเกินไป ทำให้เด็กต้องพยายามหลีหนีจากสถานการณ์นั้น ๆ กลายเป็นเด็กที่หนีปัญหาโดยไม่รู้ตัว
ในขณะที่เด็กบางคนเกิดความกลัวจนลนลาน กลัวจนต้องโกหก กลัวจนไม่อยากไปโรงเรียน กลัวจนต้องปกปิดความผิด กลัวจนต้องขโมย ฯลฯ เด็กเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะไปแสดงอารมร์กับผู้อื่นแบบลับหลัง
มีพัฒนาการล่าช้าหรือบกพร่อง
คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบใช้อำนาจกับลูกบ่อย ๆ จะส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ขี้วิตกกังวล ขี้กลัว ก้าวร้าว รุนแรง ใช้กำลังในการตัดสินใจหรือตัดสินปัญหา ไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่รู้จักการประนีประนอม ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ ตลอดจนขาดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเอง
ดุลูก 3 ขวบ อย่างไรให้ได้ผล
ตั้งสติ ไม่ใช้อารมณ์กับลูก
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติก่อนค่ะ ต้องหนักแน่น สูดหายใจเข้า-ออกลึก ๆ เพราะถ้าหากเปิดฉากเสียงดังใส่ลูกแล้วล่ะก็จะกลายเป็นว่าลูกก็จะเกิดการต่อต้าน ไม่เชื่อฟังอีก
ปรับใจให้เป็นกลาง
ให้คุณแม่เข้าใจพื้นฐานลูกก่อนค่ะว่า เขายังเด็กเกินกว่าที่จะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะเมื่อเราเป็นเด็กเราก็เคยทำผิดมาเหมือนกัน
รับฟังเหตุผลของลูก
เปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้อธิบายเหตุผลว่าเพราะอะไรหนูถึงทำแบบนั้น สำคัญ การฟังควรฟังอย่างเปิดใจ และฟังให้จบนะคะ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งเดาตอนจบเอง (ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการเดาที่ถูกต้องก็ตาม)
เพราะการที่เราฟังลูกจนจบนั้น (ถึงแม้ว่าเราจะเดาตอนจบได้ถูก) อีกมุมหนึ่งจะเป็นการสอนลูกด้วยพฤติกรรมของคุณแม่ในเรื่องการฟังให้จบอีกด้วยค่ะ อยากให้ลูกเป็นแบบไหน คุณแม่ควรทำให้ลูกเห็นก่อน
ดุลูกที่ “พฤติกรรม” ไม่ใช่ “ตัวตน” ลูก
เช่น “แม่ไม่ชอบให้ลูกพูดคำหยาบแบบนั้นเลย” ไม่ใช่ “ทำไมเป็นเด็กแบบนี้นะ แย่มากเลยรู้ไหม” เพราะนี่จะหมายถึงว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบก็เป็นเพียงพฤติกรรมที่สามารถแก้ไขได้ ไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบที่ตัวลูก คุณพ่อคุณแม่ยังรักลูกเหมือนเดิม
ไม่ดุ หรือตำหนิลูกต่อหน้าคนอื่น
เด็กก็อายเป็นค่ะ อย่างที่บอกว่าพื้นฐานเด็ก เขาจะเกรงกลัวคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว แต่การที่คุณพ่อคุณแม่ใช้อำนาจดุลูกต่อหน้าคนอื่น สิ่งนี้จะทำให้ลูกอาย และอาจเป็นการเพิ่มความดื้อเงียบให้กับลูกอีกด้วยค่ะ
ถามความคิดเห็นของลูก
เมื่อลูกทำผิด อย่าลืมที่จะตั้งสติก่อนนะคะ แล้วอธิบายลูกด้วยเหตุผลว่าเพราะอะไรครั้งนี้ลูกถึงทำผิด หลังจากนั้นค่อยถามความคิดเห็นลูกว่าคราวหน้าถ้าหนูทำผิดอีก จะให้คุณแม่ลงโทษอย่างไรดี สิ่งนี้จะเป็นการฝึกให้ลูกได้คิดวิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย รวมถึงลูกจะมีความรับผิดชอบในการกระทำของตนเองค่ะ
การดุลูกให้ได้ผล ลูกไม่ต่อต้านมีหลายวิธี เพียงแต่เมื่อลูกทำผิด คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งรีบดุลูก หรือขึ้นเสียงกับลูกทันที (เพราะยิ่งทำแบบนี้อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ยิ่งพาไป อารมณ์ยิ่งขึ้น) แต่ควร “ตั้งสติ” ก่อน แรก ๆ อาจจะยังทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ ค่อย ๆ ฝึกกันไป ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กดีต้องเข้าใจลูกและไม่ใช้อำนาจกับลูกมากไปนะคะ