“การเป็นแม่” มันไม่ง่ายจริงๆ ไม่ง่ายตั้งแต่เรื่องการจัดการกับงานบ้านทุกอย่าง แถมต้องดูแลลูกด้วย ที่ว่า “ไม่ง่าย” นั้นมันคงเป็นในส่วนของการจัดการกับความเหนื่อยและอารมณ์มากกว่าบางวันมีหลายเรื่องให้ต้องคิด ต้องทำ บางวันดี บางวันก็ไม่ดี คละเคล้ากันไป
แต่โน้ตก็เชื่อนะคะว่า “ลูกเป็นคนเดียวที่ทำให้เราปรี๊ดแตกได้ และก็เป็นคนเดียวเช่นกันที่จะทำให้เรามีสติได้” เพราะฉะนั้น หากคุณแม่ท่านไหนที่กำลังพยายามฝึกไม่ให้ปรี๊ดแตกจนเผลอไปตีลูก วันนี้โตมีเทคนิคดีๆ ที่แม่ๆ อย่างเราฝึกกันได้มาฝากค่ะ
Youtube : แนะนำเทคนิคควบคุมอารมณ์โกรธ ก่อนตีลูก
สารบัญ
เทคนิคควบคุมอารมณ์โกรธ
ตั้งสติ ฝึกสติ
เมื่อคุณแม่รู้สึกว่าเราเริ่มจะมีอารมณ์โมโห ตั้งสติก่อนค่ะเริ่มจากหยุดพูดก่อน แล้วสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ซัก 2-3 ครั้งนับ 1-50 หลังจากทุกอย่างเริ่มนิ่งขึ้น พยายามบอกกับตัวเองว่า
“เรากำลังโมโห”
แล้วบอกกับลูกด้วยโทนเสียงปกติ (พยายามให้ปกติที่สุดนะคะ) ว่า
“แม่เริ่มจะรู้สึกโกรธแล้วนะ แม่พูดเรื่องที่ให้หนูเก็บของเล่นเองหลายครั้งแล้วแต่หนูก็ยังไม่ทำ”
แล้วในระหว่างที่พูดคุณแม่สามารถสูดหายใจเข้าออกลึกๆ ได้นะคะ ป้องกันอารมณ์ขึ้น^^
ท่องไว้ “เรารักลูก เรารักลูก”
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมรักลูกและหวังดีกับลูกอยู่แล้ว แต่นี่เป็นเพียงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้ลูกเป็น แต่ระหว่างทางที่เราและครอบครัวกำลังเดินทางล่ะ? มันงดงามอย่างที่ฝันหรือขรุขระเกินจะฝันต่อ?
อย่างที่บอกในข้อแรกว่าให้เรา “ใช้สติ” มาควบคุมอารมณ์ให้ดี เอาให้อยู่หมัด หลังจากที่เรารู้เท่าทันอารมณ์เราแล้ว ให้เรามองลูกแล้วบอกตัวเองว่า
“เรารักลูก เรารักลูก”
ข้อนี้แม่โน้ตเคยใช้นะ พอมองแววตาลูกแล้วเราจะเบาลงทันทีเหมือนลูกสะกดเราเอาไว้เลย 555 แต่ที่สำคัญ เมื่อเราบอกตัวเองแบบนี้บ่อยๆ เราจะแทบไม่มีอารมณ์ปรี๊ดหรือโมโหใส่ลูกอีกเลย (หมายถึงมันจะค่อยๆ ลดน้อยลงจนหายไปเอง)
ทำความเข้าใจลูก
“เอาใจเขาใส่ใจเรา”
คุณพ่อคุณแม่ลองนึกย้อนกลับไปตอนที่ตัวเองยังตัวเท่าลูก คิดว่าจะมีวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ณ จุดนั้นได้อย่างไรคะ? คิดไม่ออกใช่ไหม?
ปกติแล้ว ลูกๆ ทุกคนก็อยากจะเป็นคนดี คนเก่งในสายตาคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว อยากให้คุณพ่อคุณแม่รักเค้า ชมเค้า เพียงแต่ว่า ในบางเรื่องเป็นสิ่งใหม่ที่ลูกไม่เคยเจอมาก่อน หากคุณพ่อคุณแม่ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดู เราก็จะเย็นลง
หลังจากที่เรานิ่งแล้ว ลองนั่งทบทวนตัวเอง พร้อมกับทำความเข้าใจในการกระทำของลูกดูค่ะ
ฟังเหตุผลลูกด้วยการเปิดใจ
เพราะคุณพ่อคุณแม่ผ่านประสบการณ์มามากกว่าลูก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล แล้วรับฟังเค้าอย่างเปิดใจนะคะ เราจะเข้าใจลูกเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย เราจะรู้ว่าลูกมีความเข้าใจในเรื่องแต่ละเรื่องอย่างไร เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด
ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการพูดคุยด้วยเหตุผลอย่างเปิดใจนี้จะเป็นการปลูกฝังให้ลูกกล้าคุยกล้าปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่เมื่อเค้าโตขึ้นอีกด้วยนะคะ
ลูกอาจไม่สบายตัวจากความเจ็บป่วย
เวลาไม่สบายเป็นใครก็หงุดหงิดค่ะ ผู้ใหญ่ยังเป็นเลย เพียงแต่เราสามารถควบคุมอาการได้ดีกว่าเด็ก เพราะฉะนั้น หากลูกๆ ป่วย ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องยกเว้นเลยค่ะ ไม่วีน ไม่เหวี่ยง ไม่ปรี๊ดใส่ลูกนะคะ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
โน้ตเชื่อ 100% เลยค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านรู้อยู่ว่าเราต้อง “ตั้งสติ” แต่เราได้ฝึกสติตุนเอาไว้บ้างหรือยังคะ? เพราะสติต้องมาจากการฝึกบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ไม่อย่างนั้น เวลาจะใช้จริงสติเราจะเหลือน้อยมากหรืออาจไม่เลยก็ได้ การทำสมาธิฝึกสติ ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธินะคะ แต่เพียงแค่ให้เราตามตัวเราเองทันในทุกอิริยาบถ เท่านี้ก็ฝึกได้แล้วค่ะ
อย่าลืมนะคะ “รักลูก กอดลูก สอนลูกดีๆ” ท่องไว้ค่ะ ท่องไว้^^