สำหรับครอบครัวไหนที่มีลูกในวัย 3 – 4 ขวบโดยประมาณ ส่วนใหญ่จะต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ลูกพูดเก่ง พูดไม่หยุด ลูกในวัยนี้สามารถพูดได้ทั้งวันเสียจนคุณพ่อคุณแม่บางคนเริ่มลังเลแล้วที่ลูกพูดมากขนาดนี้ปกติหรือเปล่า หรือมีเรื่องอะไรที่ควรกังวลบ้าง
สารบัญ
พัฒนาการด้านการพูด แต่ละช่วงวัย
ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะเป็นกังวลไปมากกว่านี้ โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการด้านพูดของเด็กแต่ละช่วงวัยกันสักนิดหนึ่งก่อนค่ะ
วัย 1.5 ขวบ
วัยนี้มักจะเรียกสิ่งของต่าง ๆ ด้วยคำที่ตัวเองจำได้แบบซ้ำ ๆ เช่น ลูกอาจเห็นแมว แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคือ แมว เขาอาจจะรู้อย่างเดียวว่า “หมา” จึงเรียกแมวว่าหมา เป็นต้น นั่นเป็นเพราะเด็กในวัยนี้ยังมีคำศัพท์ในหัวไม่มากนัก จึงใช้คำศัพท์ตามที่ตัวเองรู้นั่นเอง
วัย 2 ขวบ
วัยนี้เริ่มรู้คำว่า “ใช่ และ ไม่” แล้ว โดยเฉพาะเด็กในวัย 2 – 3 ขวบ เป็นวัยที่ชอบ “ปฏิเสธ” มักจะพูดคำว่า “ไม่” มากกว่า “ใช่” ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าวัยนี้เขาเริ่มรู้จักเรื่องราวรอบตัวมากขึ้น มีคำศัพท์ในหัวมากขึ้น มีความคิดของตัวเองมากขึ้น จึงอยากที่จะทำอะไร ๆ ด้วยตัวเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเสียใจ หรือตกใจไปค่ะ หากวันหนึ่งลูกจะบอกว่า “ไม่ หนูอยากทำเอง”
วัย 3 ขวบ
เป็นวัยแห่งการเรียนรุ้ และช่างจด ช่างจำ สามารถจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากขึ้น ตั้งคำถามเก่ง เพราะเป็นวัยที่ชอบการเรียนรู้ วัยนี้จึงเป็นวัยที่เขาจะนำเอาเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าซ้ำ ๆ และมักจะมีคำถามมากมาย จนต้องเรียกว่า “เจ้าหนูจำไม”
วัย 4 ขวบ
ชอบอวดความสามารถของตัวเอง วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มพูดเป็นประโยคได้อย่างสมบูรณ์ เล่าเรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องราวได้มากขึ้น และมักจะชอบพูดอวดตัวเองว่าเขาทำอะไรได้บ้าง อาทิ หนูกินข้าวเอง หนูแต่งตัวได้เอง เป็นต้น
ข้อดี ลูกพูดมาก
จริงอยู่ค่ะ การที่ลูกพูดมาก อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ฟังจนเหนื่อยใจ หูล้าไปหมด แต่เชื่อหรือไม่คะว่าการที่ลูกพูดมากนั้นมีประโยชน์มากทีเดียว
ฝึกทักษะการสื่อสารที่ดี
แม้ว่าในวันนี้ ลูกอาจจะพูดรู้เรื่องบ้าง เรื่องราวขาดตอนไปบ้าง ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะการพูดเท่ากับเป็นการฝึกให้ลูกได้ใช้คำศัพท์ในการสื่อสารแล้วค่ะ ลูกจะได้เรียนรู้ว่าคำไหนที่ใช้ได้อย่างถูกต้อง หรือคำไหนที่ต้องแก้ไข
ฝึกให้ลูกกล้าคิด กล้าพูด
เมื่อลูกมีพื้นฐานในเรื่องการกล้าพูดมาแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อย ๆ เกลาลูกในคำศัพท์ต่าง ๆ ความถูกต้องในการพูด และกาลเทศะในการพูด เพื่อเพิ่มความมั่นใจในด้านความคิด และการพูดสื่อสารในอนาคตค่ะ
มีทักษะการเข้าสังคมที่ดี
เพราะเด็กที่พูดเก่งจะมีทักษะที่ดีในการเข้าสังคม เพราะเขาจะชวนคนนั้นคนนี้พูดคุย สนทนาด้วยเสมอ จึงเป็นการสร้างเพื่อนใหม่ ๆ อยู่ตลอด
ทำให้รู้ว่าลูกเป็นเด็กใฝ่รู้
“ทำไม?” “เพราะอะไร?” อาจเป็นคำที่คุณพ่อคุณแม่ต้องฟังบ่อย แต่ก็สบายใจได้เลยค่ะ ว่าลูกเป็นเด็กที่ของเรียนรู้แน่นอน
วิธีรับมือ ลูกพูดมาก
ถึงแม้ว่าการที่ลูกพูดมากไม่ได้มีอันตรายหรือมีอะไรที่ต้องกังวล แต่พัฒนาการด้านการพูดอาจหยุดชะงักหากคุณพ่อคุณแม่ดุลูก หรือแสดงความรำคาญ เพราะฉะนั้นจะรับมืออย่างไรเมื่อลูกพูดมาก
ไม่ดุหรือโมโหลูก
ช่วงนี้ลูกอาจจะพูดมากสักหน่อย แต่เชื่อเถอะค่ะว่าโตขึ้น เขาจะพูดน้อยลง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าไปหงุดหงิดใส่ลูกเลยนะคะ เพราะอาจส่งผลให้ลูกไม่กล้าพูด ไม่กล้าถามอีกเลยก็ได้ค่ะ
ไม่พูดแทรกหรือพูดขัดขณะที่ลูกกำลังพูด
เพราะการขัดระหว่างที่ลูกพูดจะทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาพยายามจะเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังนั้นไม่สำคัญ และอาจจะคิดว่าตัวเขาเองก็ไม่สำคัญได้เช่นกันค่ะ
ตั้งใจฟังอย่างจริงใจ
เข้าใจค่ะว่าบางครั้งคุณพ่อคุณแม่กำลังยุ่ง ลูกก็มาเล่าอะไรรู้ ฟังไม่รู้เรื่องอีก ก็เลยเออออไปอย่างนั้น แต่เห็นว่าลูกเด็กขนาดนี้ เขารับรู้ได้นะคะ
ถามลูกกลับไปบ้าง
คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ต้องฟังทั้ง 100% ทั้งเรื่องก็ได้ค่ะ เพียงแค่แบ่งเวลามาฟัง และคิดตามในบางช่วงบ้างก็ได้ แล้วถามลูกกลับไปบ้าง เพื่อเป็นการทำให้ลูกได้รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจเขาอยู่
การที่ลูกพูดมาก พูดเก่ง หรือพูดไม่หยุด สำหรับโน้ตแล้วคือสิ่งที่ดีค่ะ เพราะการพูดทำให้เราเข้าใจลูกมากขึ้น เข้าใจความคิด และความรู้สึกของเขา ซึ่งทำให้เรารู้ว่าอะไรที่ควรฝึกหรือควรสอนให้ลูก สำหรับการที่จะเป็นคนที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในอนาคต