เมื่อถึงวัยที่ลูกต้องไปโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถตามดูแลได้ตลอด ซึ่งคุณครูเองก็ไม่สามารถที่จะดูแลเด็กหลายสิบคนได้อย่างทั่วถึง บางครั้งอาจพบว่าลูกมีรอยเขียวช้ำ เนื่องจากโดนเพื่อนแกล้ง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นกังวล คิดหาทางแก้ปัญหาให้ลูกทุกทาง บางครอบครัวก็สอนให้ลูกตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” บางครอบครัวก็สอนให้ลูกตอบโต้ด้วยวิธี “การนิ่งสยบความเคลื่อนไหว” แต่วิธีไหนล่ะถึงจะได้ผลแต่ถูกต้อง แล้วถ้าเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น? เด็กแบบไหนที่มีโอกาสโดนแกล้ง? สุดท้าย…การแก้ไขปัญหาลูกถูกแกล้งที่ถูกต้องนั้นมีอะไรบ้าง? ทั้งหมดนี้เราจะมาไล่เรียงกันทีละข้อเลยค่ะ ไปดูกัน
สารบัญ
ผลเสียจากลูกถูกแกล้งและไม่มีการจัดการกับปัญหา
ปัญหาเรื่องเด็กทะเลาะกัน อาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เด็กบางคนไม่รู้วิธีการที่จะชวนเพื่อนเล่น ไม่สามารถประเมินกำลังที่ใช้กับเพื่อนได้ จนบางครั้งอาจดูเหมือนเด็กคนนั้นชอบเล่นกับเพื่อนแรง ๆ จึงทำให้เพื่อนเข้าใจผิดคิดว่าแกล้ง จึงเกิดการทะเลาะกัน หากคุณพ่อคุณแม่เพิกเฉยกับประเด็นนี้ที่เกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือ…
ปัญหาของเด็กที่ถูกแกล้งจะพัฒนากลายเป็นปมใหญ่ในใจเขา ดังที่เราจะเห็นได้จากข่าวโดยทั่วไปว่า มีเด็กนักเรียนกราดยิงคนที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรด้วยเลย เหตุจูงใจมาจากความคับแค้นใจที่ถูกเพื่อนบูลลี่ หรือถูกเพื่อนแกล้งในวัยเด็ก เป็นต้น เพราะปัญหาในวัยเด็กของเขาไม่ได้รับการใส่ใจหรือแก้ไข กลายเป็นอาชญากร เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม
เด็กที่มีแนวโน้มว่าจะถูกแกล้ง
- เด็กที่ไม่ค่อยมีเพื่อน
- เด็กขี้แย อ่อนแอ ดูแกล้งง่าย
- เด็กขี้หงุดหงิด ขี้โมโห
- เด็กที่ดูโดเด่น แต่ไม่ผูกมิตรกับใคร
- เด็กที่มีบุคลิกแตกต่างจากคนอื่น เช่น อ้วน ตัวเล็ก ผิวคล้ำ เพราะเด็กจะถูกเพื่อนล้อเลียน
ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกแกล้งในวัยอนุบาลกับการแก้ไขอย่างถูกวิธี
สอนลูกให้ตอบโต้ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ไม่ใช้ความรุนแรง
สอนลูกว่าความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาเพื่อนแกล้งได้ แต่ควรสอนลูกให้ตอบโต้ด้วยการเดินหนี ไม่สนใจ หรือให้ลูกบอกเพื่อนว่า “บอกตรง ๆ ว่าไม่ชอบ หากยังทำอีกจะฟ้องครู” และคุณพ่อคุณแม่ควรติดตามผลด้วยนะคะ แต่หากไม่ได้ผลควรไปพบคุณครูที่โรงเรียนเพื่อพูดคุย
สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
คุณพ่อคุณแม่สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดย…ฟังหูไว้หูก่อนนะคะ เพราะบางครั้งลูกเราอาจไปทำเขาก่อนก็ได้ หลังจากนั้นสอบถามคุณ
พูดคุยและสอบถามกับผู้ปกครองของเด็กที่แกล้งลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรหันหน้าปรึกษากันกับผู้ปกครองของเด็กที่แกล้งลูก พร้อมกับสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะบางครั้งอาจเป็นลูกเราเองที่เริ่มก่อนก็เป็นได้ แล้วมาหาทางออกร่วมกัน
เข้าไปคุยกับคุณครูประจำชั้น
วิธีนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถช่วยได้ เพราะคุณครูจะเป็นผู้ที่อยู่กับเด็กที่โรงเรียน ดังนั้น จะเห็นพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้มากกว่าผู้ปกครอง การเข้าไปคุยกับคุณครูควรไปทั้งคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองของน้องที่แกล้งลูกเรา เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและหาทางออกร่วมกัน
ไปแสดงตัวที่โรงเรียนบ้าง เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
กรณีนี้หากเป็นคุณพ่อคุณแม่เองที่ไปรับเป็นประจำอยู่แล้วคงไม่เป็นไร แต่หากคุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้าน อาจหาโอกาสในบางวันที่สามารถไปรับลูกได้เอง เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้นค่ะ
สอนให้ลูกเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง
ข้อนี้สำคัญค่ะ เพราะจะเป็นการปลูกฝังเด็กในด้านของความคิดและมุมมอง โดยการสอนและอธิบายให้ลูกเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง เพราะแต่ละคนมาต่างที่กัน การเลี้ยงดูต่างกัน สิ่งแวดล้อมต่างกัน สิ่งที่แสดงออกจึงต่างกันไปด้วย
เมื่อลูกสามารถปกป้องตัวเองจากการถูกเพื่อนแกล้งได้ เขาก็จะไม่ใช่เป้าหมายที่ถูกแกล้งอีกต่อไป และทางที่ดี หากคุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกรู้จักการพูดและตักเตือนเพื่อนที่ชอบรังแกคนอื่นได้จะเป็นอะไรที่ดีมากค่ะ