ช่วงนี้ทุกครอบครัวยังต้องเก็บตัวอยู่บ้านกันยาว ๆ ไป โรงเรียนก็หยุดกันยาว ๆ ไป คุณพ่อคุณแม่รวมถึงคุณครูก็กลัวว่าเด็กจะลืมเนื้อหาที่ได้เรียนไปเมื่อเทอมที่แล้ว แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะวันนี้เรามีไอเดียการจัดตารางเรียนให้ลูกแม้ต้องอยู่บ้านแบบง่าย ๆ มาฝากค่ะ
เตรียมความพร้อมของพ่อแม่ก่อน
อย่าคาดหวัง
ในที่นี้คือ อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะสามารถเรียนรู้ได้มากเท่าตอนที่อยู่โรงเรียน เพราะบ้านกับโรงเรียนต่างกัน เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจเริ่มสอนวันละ 2-3 ชั่วโมง ก่อนก็ได้ค่ะ ถือซะว่าเป็นการวอร์มอัพลูกเบา ๆ
มีช่วงเวลาให้ผ่อนคลายบ้าง
เพราะเด็กกับเรื่องเล่น ๆ เป็นของคู่กันอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งเครียดไปเองก่อนนะคะ ควรปล่อยให้ลูกได้ผ่อนคลายบ้าง ไม่อย่างนั้นจะพากันเครียดไปทั้งคู่
กำหนดตารางเวลาให้ชัดเจน
รวมถึงคำนวณระยะเวลาเรียนในแต่ละวิชาให้เหมาะสมด้วยนะคะ อย่าให้หนักเกินไป เพราะจะทำให้ลูกไม่อยากเรียน เผลอจะพาลทำให้คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่อยากสอนด้วย เพราะเยอะเกินไป
ทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว
ข้อนี้สำคัญไม่แพ้ข้ออื่น ๆ เลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจและแจ้งกับคนในครอบครัวให้เข้าใจตรงกันว่า ช่วงเวลาไหนบ้างที่ต้องให้ลูกได้ทบทวนบทเรียน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องคอยบอกคนโน้นทีคนนี้ที แล้วลูกก็จะได้มีสมาธิในทบทวนมากขึ้นด้วยค่ะ
จัดบรรยากาศการเรียนให้เหมาะสม
หากที่บ้านคุณพ่อคุณแม่พอจะมีพื้นที่สำหรับการเรียนการสอน ลองหาโปสเตอร์เกี่ยวกับการเรียนมาแปะฝาผนัง อาจเป็นหมวดอักษรภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรืออื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้างบรรยากาศดูเป็นห้องแห่งการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น
มีการเรียนแบบนอกบ้านบ้าง
เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศและเพิ่มความสนุกสนานให้ลูก ให้เขาได้เรียนรู้จากของจริง จากนอกห้องเรียนบ้าง
จัดตารางเรียนให้ลูกสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างไรดี
07:00 – 09:00 ทำอะไรก็ได้ตามใจ
ช่วงเช้าอย่างนี้หลังจากลูกตื่นนอนและกินอาหารเช้าแล้ว ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระก่อนค่ะ อีกด้านหนึ่งเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้จัดการงานบ้านหรือทำธุระของตัวเองให้เสร็จก่อนเช่นกัน
09:00 – 12:00 ปลุกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ออกกำลัง
ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กและความสัมพันธ์ระหว่างสายตากับนิ้วมือ ด้วยการขีด เขียน ระบายสี ฝึกอ่านออกเสียง พร้อมของว่าง ซึ่งระหว่างการเรียนนี้ห้ามให้ลูกดูทีวีนะคะ
ตัวอย่างการเรียนการสอน
- สอนเกี่ยวกับเรื่องสีต่าง ๆ
- สอนอ่านตัวอักษร
- สอนนับเลข
- วาดรูป ระบายสี หรือประดิษฐ์งานศิลปะต่าง ๆ
- ต่อบล็อกไม้ หรือเล่นเรียงโดมิโน
- ปั้นแป้งโดว์
- ชวนลูกเข้าครัว ให้ลูกช่วยทำอาหาร
- ร้อยเชือกไหมพรมกับกระดาษที่ตัดเป็นรูปต่าง ๆ
12:00 – 14:00 เพิ่มพลังให้ร่างกาย
เด็กปฐมวัยยังควรให้ลูกได้หลับพักผ่อนในช่วงกลางวันด้วยนะคะ เพราะการให้ลูกได้หลับพักผ่อนอย่างเพียงพอนั้นจะช่วยกระตุ้นในเรื่องความจำของลูก เสริมสร้างการเรียนรู้ รวมถึงเพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาได้อีกด้วยค่ะ แต่ถ้าวันไหนลูกไม่หลับหรือตื่นก่อนเวลาก็ปล่อยให้ลูกเล่นอย่างอิสระไปก่อน
14:00 – 16:00 สนุกไปกับการใช้สื่อการสอน
ลองให้ลูกได้เลือกสื่อการเรียนการสอนเอง อาจเป็นหนังสือนิทาน ดูการ์ตูนที่เป็นประโยชน์ หรือสื่อการสอนอื่น ๆ รวมถึงอาจเป็นสื่อการสอนที่คุณพ่อคุณแม่ประดิษฐ์ขึ้นมาเองก็ได้ค่ะ ยิ่งมีสื่อการสอนที่หลากหลายมาก ลูก ๆ ก็จะเกิดความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้นเช่นกันค่ะ
16:00 – 18:00 ชั่วโมงเรียกเหงื่อ และเพิ่มพลัง
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ให้ลูกได้ออกไปเดินเล่น วิ่งเล่น และออกกำลังกายนอกบ้าน ลูกจะได้มีโอกาสบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะทำให้ลูกหลับสบายมากขึ้นด้วยค่ะ
18:00 – 20:00 สุขใจ อุ่นกายไปกับครอบครัว
เป็นช่วงท้ายตารางการสอน เป็นช่วงเวลาแห่งครอบครัว คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปอาบน้ำ เพื่อให้ลูกสบายตัวหลังจากที่เล่นมาเมื่อช่วงเย็น อาจมีกิจกรรมเบา ๆ ก่อนนอน อาทิ เกมทายปัญหา หรือเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน
จากไอเดียที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กันดูตามความเหมาะสมนะคะ แต่ที่สำคัญ ไม่ควรให้การเรียนการสอนขณะที่อยู่บ้านนี้ต้องเครียดเกินไปนะคะ จะพาลให้ลูกไม่อยากเรียนจนกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องมาเครียดเสียเอง หรือครอบครัวไหนที่มีตารางการเรียนการสอนอยู่แล้วมาแชร์กันได้นะคะ