“ลูกใคร ใครก็รัก” จริงไหมคะ?
ไม่ผิดและไม่แปลกที่คุณพ่อคุณแม่จะรักและหวังดีกับลูก พร้อมเต็มใจทำให้ลูกได้ทุกอย่าง แต่รู้หรือไม่คะว่าความรักและความหวังดีในหลาย ๆ เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจแทนลูก ทำให้สิ่งต่าง ๆ ให้ลูกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำร้ายลูกแบบไม่ได้ตั้งใจและเป็นการขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ของลูกอย่างสิ้นเชิง ส่งผลต่อลูกในด้านต่าง ๆ
สารบัญ
5 ความหวังดีของพ่อแม่ ที่แท้คือการขัดขวางด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ของลูก
ให้ขนมเป็นรางวัลเมื่อลูกทำในสิ่งนั้น
เพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่เบื่อง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่กินซ้ำ ๆ หรือกิจกรรมที่ต้องทำซ้ำ ๆ เมื่อคุณพ่อคุณแม่มอบหมายให้ทำอะไรซักอย่าง แรก ๆ ก็ทำได้ดี ขยัน แต่พอนาน ๆ ไป ลูกเริ่มเบื่อ เริ่มอิดออดไม่อยากทำ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงใช้ขนมเป็นเครื่องต่อรอง ว่า “ถ้าทำงานเสร็จจะได้กินขนม” สิ่งนี้จะทำให้เด็กคิดว่าเมื่อทำเสร็จเขาจะได้ขนมเป็นรางวัล แต่ไม่มีเรื่องความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย แค่ทำให้เสร็จก็พอ
ตัดสินใจแทนลูก
เพราะความรักและความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ จึงพยายามเลือกและตัดสินใจให้ลูกทุกอย่าง ไม่ต้องการให้ลูกพบกับความเศร้าหรือเสียใจ แต่…สิ่งนี้จะทำให้ลูกไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ในเรื่องการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคต ทำให้ลูกไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าคิดอะไรนอกกรอบ ขาดความเป็นผู้นำ และสุดท้ายไม่มีความคิดสร้างสรรค์
จำกัดทางเลือก
เชื่อว่าไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่รู้ไปทุกเรื่อง หรือแม้บางเรื่องคุณพ่อคุณแม่รู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ลูกมีคำถามหรือข้อสงสัยในเรื่องนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจมีคำตอบให้ลูกได้เลือกก็จริงแต่อาจมีแค่คำตอบเดียว ไม่ 1 ก็ 2 แต่ความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจำกัดคำตอบหรือทางเลือกให้เหลือเพียงข้อเดียว คุณพ่อคุณแม่ควรจะทดลองหรือหาคำตอบไปพร้อมลูก พร้อมทั้งมีการถามตอบกับลูกโดยให้คำถามเป็นคำถามปลายเปิด เพื่อให้ลูกได้ใช้ความคิดวิเคราะห์อย่างไม่มีข้อจำกัด เหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ได้มากทีเดียวค่ะ
กำหนดกฎเกณฑ์มากไป
มีหลายครอบครัวที่กำหนดกฎเกณฑ์ให้ลูกเดินตามนั้น เพราะคุณพ่อคุณแม่จะคิดว่าสิ่งที่พวกเขาวางกฎเอาไว้คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก ถ้าลูกเดินตามนี้ จะไม่มีวันก้าวพลาดแน่นอน ซึ่งหากลูกเดินออกนอกทางที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดไว้ก็จะดุหรือลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ นานา ซึ่งเมื่อลูกโดนดุบ่อย ๆ เข้า จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าเข้าสังคม จนสุดท้ายกลายเป็นเด็กที่คิดไม่เป็น
เน้นวิชาการอย่างเดียว
ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการฝึกฝน ฝึกให้ลูกมองได้ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของ “ปัญหา” เพราะเมื่อเราสอนให้ลูกมองเห็นปัญหา จะทำให้เขาฝึกคิดหาทางแก้ไข การที่ลูกจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องมาจากคุณพ่อคุณแม่ที่คอยส่งเสริมเขา แม้ว่าวันจันทร์ – ศุกร์ ลูกต้องไปโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นวิชาการ แต่เสาร์ – อาทิตย์ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปท่องเที่ยว ไปเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ในตำราหรือในห้องเรียนไม่มี แล้วค่อย ๆ สอดแทรกวิธีการสอนใหม่ ๆ ก็จะทำให้ลูกมีความสนใจที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกได้ดีทีเดียวค่ะ
ความรักและความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรหลาย ๆ อย่างให้ลูก เลือกให้ลูก หรือตัดสินใจแทนลูกเป็นเรื่องที่ไม่ผิดหรอกค่ะ แต่ถ้าอยากให้ลูกเติบโตมาเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และมีความสุขในการใช้ชีวิต คุณพ่อคุณแม่ควรปรับวิธีคิดและการกระทำของตัวเองตั้งแต่วันนี้ ตั้งสติก่อนทุกครั้งก่อนที่จะทำอะไรแทนลูก ให้คิดไว้เสมอว่า สิ่งที่เราอยากเห็นจากลูกคือ “รอยยิ้มที่เปื้อนบนใบหน้า” ไม่ใช่ “น้ำตาที่มาจากความทุกข์ใจ”