เรื่องของ “การกิน” นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใสจและต้องปลูกฝังการกินที่ดีให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กค่ะ เพราะปัจจุบันเรายังคงพบว่าเด็กบางคนมีภาวะของโรคอ้วน ในขณะที่บางคนมาภาวะทุพโภชนาการ (ร่างกายผอม ขาดสารอาหาร) จะเริ่มปลูกฝังกันอย่างไร เริ่มอย่างไร ไปติดตามกันค่ะ
ปลูกฝังนิสัยการกินที่ดีให้ลูก
กำหนดตารางกินที่ชัดเจน
คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดตารางในการกินอาหารให้เหมือนกันทุกวัน เพื่อลูกจะได้ฝึกกินอาหารให้เป็นเวลา โดยกำหนดเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ และมื้อของว่าง 2 – 3 มื้อ ซึ่งมื้อที่เป็นของว่างนั้นควรเน้นให้เป็นผลไม้จะดีที่สุด
ตักให้พอดี
หรือกินแต่พออิ่ม เพราะส่วนใหญ่ที่เราได้รับการอบรมมาจากผู้ใหญ่ คือ กินข้าวควรกินให้หมดจาน ดังนั้น ถ้าตักข้าวมาในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ลูกต้องถูกบังคับให้กินให้หมด ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกกินเกินความต้องการของร่างกาย เสี่ยงต่อโรคอ้วนอีกด้วยนะคะ แนะนำว่าถ้าตักแต่พอดีแล้ว ลูกยังไม่อิ่ม ค่อยตักให้เพิ่มดีกว่าค่ะ
ไม่ดุลูก ไม่บังคับลูก
การบังคับหรือการดุลูกที่เกิดขึ้นนั้นมาได้จากหลายประเด็นค่ะ เช่น ลูกไม่ยอมกินอาหารใหม่ ๆ ลูกกินข้าวไม่หมด ลูกไม่ยอมกินผัก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้ลูกรู้สึกยิ่งไม่อยากลองงสิ่งใหม่ หรือทำให้ลูกกินยากมากขึ้นไปอีก ไม่เป็นผลดีเลย
งดของหวานหากใกล้มื้ออาหาร
จะบอกว่าให้เด็กงดของหวานเลย ก็คงจะดูผิดธรรมชาติไป เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูเวลาก่อนที่จะอนุญาติให้ลูกกินของหวาน หากอีกประมาณสัก 30 นาที ใกล้จะถึงเวลาของมื้ออาหารหลักแล้ว แบบนี้ไม่ควรให้ลูกกินของหวานนะคะ เพราะลูกจะยังอิ่มอยู่ อาจทำให้กินข้าวได้น้อยลง
ตามใจลูกบ้าง
เพราะเด็กกับขนมเป็นของคู่กัน เราไม่ควรกีดกันเด็กให้เจอเนื้อคู่ค่ะ 555 ให้ลูกได้กินขนมที่เขาอยากกินบ้าง เพียงแต่ต้องดูปัจจัยเรื่องเวลา และปริมาณควบคู่กันไป
ชวนลูกเข้าครัว
ข้อนี้ลูกชาก็เข้าครัวได้นะคะ ให้เขาเด็ดผักง่าย ๆ หรือตอกไข่ก็ได้ค่ะ เพื่อที่ลูก ๆ จะได้รู้สึกตื่นเต้นกับอาหารที่เขามีส่วนร่วม และอยากกินอาหารที่ตัวเองทำ
ปล่อยให้ลูกหิวบ้าง
เป็นการดีมาก หากลูกวิ่งเล่นมาแล้วจะเริ่มหิวข้าว บางครั้งการปล่อยให้ลูกหิวบ้าง ก็จะช่วยให้เมื่อถึงเวลาอาหาร เขาจะกินได้เยอะค่ะ
ชื่นชมเมื่อลูกกินได้มากขึ้น
ทั้งหมดที่กล่าวมา สิ่งสำคัญอีกอย่างเลยก็คือ หากลูกมีนิสัยการกินที่ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมชื่นชมลูกแต่พอควรนะคะ เพื่อที่ลูกจะได้มีกำลังใจ
ปิดสิ่งเร้า ระหว่างมื้ออาหาร
สิ่งเร้าที่ว่า ได้แก่ ทีวี แทปเล็ต รวมไปถึงมือถือ คุณพ่อคุณแม่ควรปิดอุปกรณ์เหล่านี้ขณะกินอาหาร เพื่อให้ลูกได้มาสมาธิกับการกินข้าวอย่างเดียว ไม่เหลียวหน้าเหลียวหลัง
แนวทางการแก้ไข ในแต่ละปัญหา
นอกจากวิธีการปลูกฝังนิสัยการกินที่ดีให้ลูกตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เรายังมีวิธีการแก้ปัญหาในแต่ละประเด็น ดังนี้
ลูกกินแต่ขนม
ให้คุณแม่งดขนมระหว่างมื้อไปก่อนค่ะ ยกเว้นว่าถ้าลูกอยากกินขนมจริง ๆ ต้องให้ลูกกินข้าวให้หมดก่อน แต่ต้องระวังอย่าให้ช่วงเวลาในการกินขนมใกล้กับมื้ออาหารนะคะ
ลูกอมข้าว ไม่ยอมเคี้ยว
อธิบายให้ลูกฟังว่า ถ้าอมข้าวฟันจะผุ เอาจริง ๆ ลูกไม่ฟังหรอกค่ะ เขายังไม่เข้าใจ แบบนี้คุณแม่ต้องกำหนดเวลาในการกินข้าวเลยค่ะ ว่าห้ามกินเกินกี่นาที เช่น 30 นาที หรือ 40 นาที หากกินไม่หมดคุณแม่จะเก็บจานเป็นต้น
แม่โน้ตเคยเปิดภาพเด็กฟันผุให้น้องมินดู เขาก็ดูค่ะ แต่ก็ไม่เป็นผล ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีจำกัดเวลาแทน น้องมินก็มีวินัยในการกินมากขึ้น
ลูกไม่กินผัก
การฝึกให้ลูกกินผัก คุณแม่ควรเริ่มจากผักที่ไม่มีกลิ่นฉุนก่อน เพื่อให้ลูกได้รับประสบการณ์ในการกินผักที่ดี อาจเลือกเป็นแครอท มันฝรั่ง เป็นต้น หลังจากนั้นค่อย ๆ เริ่มเป็นผักใบเขียว อาจนำไปชุบแป้งทอด หรือหาวิธีปรุงในแนวทางที่ลูกชอบ เขาก็จะเริ่มเปิดใจมากขึ้น
ลูกไม่ลองกินอาหารใหม่ ๆ
อีกหนึ่งปัญหาคลาสสิกของครอบครัว หากลูกปฏิเสธการกินอาหารใหม่ ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้ลูกฟังว่า ถ้าหนูไปเที่ยว แล้วหนูไม่ยอมกินอาหารใหม่ ๆ หนูจะเที่ยวไม่สนุก และหนูจะหิว พร้อมกับหากคุณแม่ทำกับข้าว ก็อย่าเพิ่งท้อค่ะ เพราะลูกอาจจะยังไม่ยอมกินในครั้งแรก ให้เว้นไปสัก 1 สัปดาห์ แล้วค่อยลองใหม่ และไม่แปลกหากลูกจะปฏิเสธมากกว่า 10 – 20 ครั้งกว่าจะกิน
เรื่องการกินของลูกจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือ “การที่คุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูก” เพราะลูกมักเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งบางครั้ง บางอย่าง เรียกได้ว่าไม่ต้องเอ่ยปากสอน ลูกก็ทำตามได้อย่างง่ายดายแล้วล่ะค่ะ