คนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องเจอพันเปอร์เซ็นต์เลยค่ะกับเรื่องของลูกที่ชอบถามคำว่า “ทำไม?” บางครั้งก็ถามซะจนเราก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน (แต่จะบอกว่าพ่อแม่ยังมีทางออก ยังไปได้อยู่ 555) หรือบางครั้งก็ถามซ้ำประโยคเดิมจนรู้สึกว่าลูกเรากลายเป็นหุ่นยนต์ยังไงยังงั้นเลย
Youtube : ทำไมลูกชอบถาม “ทำไม?” นั่นสิ..ทำไม
สารบัญ
การรับมือและเข้าใจในสิ่งที่เด็กเป็น
เด็กที่มีอายุระหว่าง 3-5 ปี เค้าจะเริ่มพูได้เก่งขึ้น คล่องขึ้น คำศัพท์ในหัวเค้ามีมากขึ้น ได้สัมผัส ได้เห็นอะไรเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น คำถาม “ทำไม?” จึงมากขึ้นตามไปด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่โน้ตมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าเด็กนะคะ ว่าทำไมเค้าถึงถาม “ทำไม?” บ่อยจัง ก็เพราะ “ความสงสัย” นั่นเอง สงสัยในสิ่งที่เค้าได้เห็นและได้สัมผัสนี่แหละค่ะ เช่น “ทำไมต้องใส่กระโปรง?” “ทำไมหมาหอน?” “ทำไมหมาถึงดมขยะ?” (ความจริงคือหมาคุ้ยขยะ แต่เพราะเค้าเรียกไม่ถูก) อะไรประมาณนี้เป็นต้น หรือบางครั้งอาจจะถามซ้ำไปซ้ำมาจนคุณพ่อคุณแม่แอบคิดว่าลูกเป็นหุ่นยนต์ไปแล้วหรือเปล่า
อย่างที่บอกในตอนแรกค่ะว่า เราควรดีใจที่ลูกมีคำถามมาถามเรานะ เพราะอย่างน้อยจะทำให้เรารู้ได้ว่าลูกสนใจเรื่องอะไรอยู่ เค้ารู้หรือไม่รู้อะไรแค่ไหน
กลับกัน หากลูกถามบ่อยหรือถามซ้ำๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่เกิดความรำคาญ ดุลูก สิ่งนี้จะทำให้ลูก…
- หมดความไม่มั่นใจในการถามเรื่องต่างๆ
- ขาดพัฒนาการด้านการคิดและการเรียนรู้
- ขาดโอกาสในการเรียนรู้
ธรรมชาติของลูกจากการถาม
เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น พูดคุยได้มากขึ้น (เนื่องจากเค้ารู้จักคำศัพท์มากขึ้น) สามารถพูดประโยคยาวๆ หรือเล่าเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่เค้าอยากเรียนรู้อะไรต่างๆ รอบตัวมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งธรรมชาติของเด็กที่ถามนั้นมีด้วยกัน 3 สาเหตุ คือ
ความสงสัย
แบบอยากรู้จริงว่าทำไม
ชวนคุย
ใช่ค่ะ ได้ยินไม่ผิด เด็กๆ ตัวเท่านี้ก็สามารถจะชวนผู้ใหญ่คุยได้แล้ว เค้าชวนพ่อแม่เล่นได้ ทำไมจะชวนคุยไม่ได้ จริงไหมคะ
เป็นการทบทวนให้ตัวเองฟัง
เพื่อยืนยันว่าตัวเองเข้าใจถูกต้อง
แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญคือ เรื่องที่ลูกถาม และการตอบคำถามลูกค่ะ
ตอบคำถามอย่างไรให้ลูกเข้าใจและไม่ถามซ้ำ
ต้องบอกก่อนค่ะว่าหัวข้อนี้ ไม่ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพูดงงๆ นะคะ แต่อย่าลืมว่าเด็ก…อย่างไรก็คือเด็ก สมาธิของเด็กแต่ละวัยสั้นยาวไม่เท่ากัน ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้คือ
ควรตอบแบบกระชับและเข้าใจง่าย
คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ภาษาที่เหมาะสมกับลูกด้วยนะคะ เช่น
ลูก: ทำไมฝนถึงตกคะ?
พ่อแม่:ก็เพราะก้อนเมฆอุ้มน้ำไม่ไหว เลยปล่อยเป็นน้ำฝนตกมาค่ะ
ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่องหรือแม้บางเรื่องเรียนแล้วก็ลืมแล้ว (ใครเป็นบ้างยกมือขึ้น^^) จริงไหมคะ แต่บังเอิญลูกถามเรื่องนั้นพอดี ถ้าเราไม่รู้ให้ยืดอกรับไปเลยค่ะว่า…
“แม่ก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ เดี๋ยวเอาไว้แม่จะหาคำตอบมาให้นะคะ”
หรือ จะดีมากเลยค่ะหากคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปหาคำตอบด้วยกัน หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่สามารถสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่ทำได้ทั้งครอบครัว แบบนี้เด็กจะสนุกไปด้วยและจะจดจำคำตอบได้ดีมากขึ้นด้วยค่ะ
ถามลูกกลับ
ในที่นี้คือ ถามแบบชวนให้ลูกคิดนะคะ บางครั้ง คุณพ่อคุณแม่มีคำตอบอยู่แล้วแหละ แต่เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกได้คิดวิเคราะห์ เพราะเด็กบางคนนอกจากจะชอบถามแล้วก็อาจจะชอบตอบด้วยเหมือนกัน
แต่หากลูกตอบออกมาแล้วไม่ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายสิ่งที่ถูกให้ลูกได้เข้าใจด้วยนะคะ
กุญแจสำคัญ คือ ภาษากาย
เช่น ถ้าระหว่างรอคำตอบ คุณพ่อคุณแม่แสดงอาการหงุดหงิด หน้างอ หรือกอดอก เด็กจะรับรู้ได้ว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มหงุดหงิดแล้ว เด็กจะเสียสมาธิและจะไม่กล้าตอบ หรือถ้าตอบก็ตอบผิด เพราะความกลัว
แต่หากระหว่างรอ คุณพ่อคุณแม่มองหน้าลูกแล้วเอียงคอเล็กน้อย เด็กก็จะรับรู้ได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ยังสนใจและยังรอคำตอบของเค้าอยู่
การถามของลูกเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของเค้าได้ คุณพ่อคุณแม่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้อันดับแรกและที่ดีที่สุดสำหรับลูกนะคะ