ทำไมลูกชอบถาม “ทำไม?” นั่นสิ..ทำไม

ทำไมลูกชอบถาม “ทำไม?” นั่นสิ..ทำไม
การเลี้ยงลูกวัย 3-5 ขวบ

คนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องเจอพันเปอร์เซ็นต์เลยค่ะกับเรื่องของลูกที่ชอบถามคำว่า “ทำไม?” บางครั้งก็ถามซะจนเราก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน (แต่จะบอกว่าพ่อแม่ยังมีทางออก ยังไปได้อยู่ 555) หรือบางครั้งก็ถามซ้ำประโยคเดิมจนรู้สึกว่าลูกเรากลายเป็นหุ่นยนต์ยังไงยังงั้นเลย

Youtube : ทำไมลูกชอบถาม “ทำไม?” นั่นสิ..ทำไม

การรับมือและเข้าใจในสิ่งที่เด็กเป็น

เด็กที่มีอายุระหว่าง 3-5 ปี เค้าจะเริ่มพูได้เก่งขึ้น คล่องขึ้น คำศัพท์ในหัวเค้ามีมากขึ้น ได้สัมผัส ได้เห็นอะไรเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น คำถาม “ทำไม?” จึงมากขึ้นตามไปด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่โน้ตมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าเด็กนะคะ ว่าทำไมเค้าถึงถาม “ทำไม?” บ่อยจัง ก็เพราะ “ความสงสัย” นั่นเอง สงสัยในสิ่งที่เค้าได้เห็นและได้สัมผัสนี่แหละค่ะ เช่น “ทำไมต้องใส่กระโปรง?” “ทำไมหมาหอน?” “ทำไมหมาถึงดมขยะ?” (ความจริงคือหมาคุ้ยขยะ แต่เพราะเค้าเรียกไม่ถูก) อะไรประมาณนี้เป็นต้น หรือบางครั้งอาจจะถามซ้ำไปซ้ำมาจนคุณพ่อคุณแม่แอบคิดว่าลูกเป็นหุ่นยนต์ไปแล้วหรือเปล่า

อย่างที่บอกในตอนแรกค่ะว่า เราควรดีใจที่ลูกมีคำถามมาถามเรานะ เพราะอย่างน้อยจะทำให้เรารู้ได้ว่าลูกสนใจเรื่องอะไรอยู่ เค้ารู้หรือไม่รู้อะไรแค่ไหน

คุณพ่อคุณแม่เกิดความรำคาญ ดุลูก

กลับกัน หากลูกถามบ่อยหรือถามซ้ำๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่เกิดความรำคาญ ดุลูก สิ่งนี้จะทำให้ลูก…

  • หมดความไม่มั่นใจในการถามเรื่องต่างๆ
  • ขาดพัฒนาการด้านการคิดและการเรียนรู้
  • ขาดโอกาสในการเรียนรู้

ธรรมชาติของลูกจากการถาม

เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น พูดคุยได้มากขึ้น (เนื่องจากเค้ารู้จักคำศัพท์มากขึ้น) สามารถพูดประโยคยาวๆ หรือเล่าเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่เค้าอยากเรียนรู้อะไรต่างๆ รอบตัวมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งธรรมชาติของเด็กที่ถามนั้นมีด้วยกัน 3 สาเหตุ คือ

ความสงสัย

ความสงสัย
แบบอยากรู้จริงว่าทำไม

ชวนคุย

ลูกชวนคุย
ใช่ค่ะ ได้ยินไม่ผิด เด็กๆ ตัวเท่านี้ก็สามารถจะชวนผู้ใหญ่คุยได้แล้ว เค้าชวนพ่อแม่เล่นได้ ทำไมจะชวนคุยไม่ได้ จริงไหมคะ

เป็นการทบทวนให้ตัวเองฟัง

เป็นการทบทวนให้ตัวเองฟัง
เพื่อยืนยันว่าตัวเองเข้าใจถูกต้อง
แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญคือ เรื่องที่ลูกถาม และการตอบคำถามลูกค่ะ

ตอบคำถามอย่างไรให้ลูกเข้าใจและไม่ถามซ้ำ

ต้องบอกก่อนค่ะว่าหัวข้อนี้ ไม่ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพูดงงๆ นะคะ แต่อย่าลืมว่าเด็ก…อย่างไรก็คือเด็ก สมาธิของเด็กแต่ละวัยสั้นยาวไม่เท่ากัน ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้คือ

ควรตอบแบบกระชับและเข้าใจง่าย

คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ภาษาที่เหมาะสมกับลูกด้วยนะคะ เช่น

ลูก: ทำไมฝนถึงตกคะ?
พ่อแม่:ก็เพราะก้อนเมฆอุ้มน้ำไม่ไหว เลยปล่อยเป็นน้ำฝนตกมาค่ะ

ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่องหรือแม้บางเรื่องเรียนแล้วก็ลืมแล้ว (ใครเป็นบ้างยกมือขึ้น^^) จริงไหมคะ แต่บังเอิญลูกถามเรื่องนั้นพอดี ถ้าเราไม่รู้ให้ยืดอกรับไปเลยค่ะว่า…

“แม่ก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ เดี๋ยวเอาไว้แม่จะหาคำตอบมาให้นะคะ”

คุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง

หรือ จะดีมากเลยค่ะหากคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปหาคำตอบด้วยกัน หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่สามารถสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่ทำได้ทั้งครอบครัว แบบนี้เด็กจะสนุกไปด้วยและจะจดจำคำตอบได้ดีมากขึ้นด้วยค่ะ

ถามลูกกลับ

ถามลูกกลับ

ในที่นี้คือ ถามแบบชวนให้ลูกคิดนะคะ บางครั้ง คุณพ่อคุณแม่มีคำตอบอยู่แล้วแหละ แต่เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกได้คิดวิเคราะห์ เพราะเด็กบางคนนอกจากจะชอบถามแล้วก็อาจจะชอบตอบด้วยเหมือนกัน
แต่หากลูกตอบออกมาแล้วไม่ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายสิ่งที่ถูกให้ลูกได้เข้าใจด้วยนะคะ

กุญแจสำคัญ คือ ภาษากาย

คุณพ่อคุณแม่แสดงอาการหงุดหงิด

เช่น ถ้าระหว่างรอคำตอบ คุณพ่อคุณแม่แสดงอาการหงุดหงิด หน้างอ หรือกอดอก เด็กจะรับรู้ได้ว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มหงุดหงิดแล้ว เด็กจะเสียสมาธิและจะไม่กล้าตอบ หรือถ้าตอบก็ตอบผิด เพราะความกลัว

คุณพ่อคุณแม่มองหน้าลูกแล้วเอียงคอ

แต่หากระหว่างรอ คุณพ่อคุณแม่มองหน้าลูกแล้วเอียงคอเล็กน้อย เด็กก็จะรับรู้ได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ยังสนใจและยังรอคำตอบของเค้าอยู่

การถามของลูกเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของเค้าได้ คุณพ่อคุณแม่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้อันดับแรกและที่ดีที่สุดสำหรับลูกนะคะ


แม่โน้ต

3,527,162 views

Mommy Blogger ที่มียอดวิวในเว็บไซต์ simplymommynote.net มากกว่า 200,000 วิว ต่อเดือน ใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบ Tradigital รักการเขียน มีลูกสาว และครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดเรื่องราว ชอบเรียนรู้เรื่องจิตวิทยา และสิ่งใหม่ ๆ IG : notepatsita Facebook

Profile

บทความแนะนำ