เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนคงรู้กันดีว่า “ลูกเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนพ่อแม่” เพราะเค้าจะแอบสังเกตพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ทำ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรระวังทั้งในเรื่องของการกระทำและคำพูด โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ซึ่งบางครั้ง “คำพูด” หรือ “การห้าม” ในบางเรื่องเค้าก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องห้าม
คำว่า “อย่าไม่ และห้าม” เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเลี่ยงในการใช้กับลูก แต่สำหรับโน้ต สารภาพเลยว่าบางทีเราจะห้ามลูก เราก็คิดคำพูดอื่นไม่ทันเหมือนกันนะ คุณพ่อคุณแม่เคยเป็นกันไหมคะ ก็เลยจำเป็นต้องพูด 2 คำที่ว่านั้นไป แต่…โน้ตมีวิธีเสริมเพื่อให้ลูกหยุดกระทำในสิ่งที่เราห้ามค่ะ
สารบัญ
ทำไมไม่ควรใช้คำว่า “อย่าไม่ และห้าม”
ก่อนที่จะไปเรื่อง “คิดคำพูดอื่น” ไม่ทัน โน้ตขอพูดถึงก่อนว่าทำไมเค้าถึงห้ามคุณพ่อคุณแม่พูดคำว่า “อย่า ไม่ และห้าม” นะคะ ยกตัวอย่างการห้าม
“อย่ากระโดดลงมานะ” พอสิ้นเสียงแม่ …ปั่ก! กระโดดทันที
“อย่าแกะนะลูก” พอสิ้นเสียงแม่ แคว่กกกก ฉีกทันที
“อย่าถือจานมือเดียวลูก” พ่อสิ้นเสียงแม่ แกร๊ง ชามข้าวตกพื้น
เป็นมนุษย์แม่เหมือนกัน เข้าใจค่ะว่าที่เราต้องห้ามไม่ให้ลูกทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะเราเห็นแล้วแหละว่ามันจะเกิดอันตรายไม่มากก็น้อย หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทั้งปวง
ทำไมลูกยังทำต่อ
เด็กที่อายุอยู่ในช่วง 3 – 5 ปี เค้าเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากรู้ อยากลอง อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ดังนั้น การที่เราห้ามเค้า แล้วเค้าไม่หยุดทำก็มีได้ 2 กรณี
- เพราะเค้ายังไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ห้าม “การห้าม” มันเหมือนเป็นสิ่งที่ซับซ้อนสำหรับลูก ซึ่งกระบวนการคิดเค้ายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ยังไม่สามารถตีโจทย์ที่ซับซ้อนนี้ได้
- อยากรู้และอยากลอง
การพูดในเชิงบวกต้องพูดอย่างไร
การพูดเชิงบวกก็คือ การพูดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกได้ โดยที่ลูกจะรู้สึกว่าไม่ถูกปิดกั้น พูดแล้วลูกรับฟัง ไม่ต่อต้าน ลกเห็นภาพตามที่คุณพ่อคุณแม่พูดและคล้อยตาม อาทิ
“อย่ากระโดดลงมานะ” พอสิ้นเสียงแม่ …ปั่ก! กระโดดทันที
พูดเชิงบวกชั้นวางของมันหนักนะคะ ถ้าล้มลงมาใส่ตัวจะเจ็บเอาได้นะคะ
“อย่าแกะนะลูก” พอสิ้นเสียงแม่ แคว่กกกก ฉีกทันที
พูดเชิงบวกมันเป็นของขวัญที่คุณพ่อต้องเอาไปให้หัวหน้าที่ทำงาน ถ้าของเสียหาย แล้วคุณพ่อจะเอาที่ไหนให้เค้า จริงไหมคะ
“อย่าถือจานมือเดียวลูก” พ่อสิ้นเสียงแม่ แกร๊ง ชามข้าวตกพื้น
พูดเชิงบวกหนูถือชามข้าวสองมือนะคะ มันจะช่วยประคองชามข้าวไม่ให้หล่นพื้นได้
สำหรับพ่อแม่ที่คิดคำพูดไม่ทัน
สารภาพว่าการพูด “อย่า ไม่ และห้าม” สำหรับโน้ต บางครั้งเราก็คิดประโยคอื่นไม่ทันเหมือนกัน ก็เลยต้องพูดออกไป แต่…โน้ตมีวิธแก้ค่ะ
“อย่ากระโดดลงมานะ” พอสิ้นเสียงแม่ …ปั่ก! กระโดดทันที
เพราะว่าชั้นวางของมันหนักนะคะ ถ้าล้มลงมาใส่ตัวจะเจ็บเอาได้นะคะ
“อย่าแกะนะลูก” พอสิ้นเสียงแม่ แคว่กกกก ฉีกทันที
เพราะว่ามันเป็นของขวัญที่คุณพ่อต้องเอาไปให้หัวหน้าที่ทำงาน ถ้าของเสียหาย แล้วคุณพ่อจะเอาที่ไหนให้เค้า จริงไหมคะ
“อย่าถือจานมือเดียวลูก” พ่อสิ้นเสียงแม่ แกร๊ง ชามข้าวตกพื้น
เพราะว่าถ้าหนูถือชามข้าวสองมือ มันจะช่วยประคองชามข้าวไม่ให้หล่นพื้นได้
….ให้พูดเหตุผลเข้าไป ทำให้เด็กเห็นภาพก็สามารถใช้ได้เหมือนกันค่ะ
การห้ามลูก คุณพ่อคุณแม่ควรห้ามแบบให้เหตุผลกับเค้าด้วยนะคะ แบบทำให้เค้าเห็นภาพตาม เพื่อที่เค้าจะเข้าใจและหยุดพฤติกรรมนั้น โดยที่จะไม่ทำซ้ำอีก อาจไม่ต้องซีเรียสว่า เราไม่สามารถเลิกพูด 3 คำอย่างที่ว่ามา (แต่ถ้าใครทำได้จะดีมาก) เพราะบางครั้งมันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเร็วมาก เราสามารถพูดอธิบายเสริมได้ค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะคะ