“ทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบ” เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่รู้และเข้าใจดี แต่…เด็ก ๆ นี่สิคะ เค้าจะแยกแยะได้อย่างไร เพราะเมื่อในบางครั้งเราก็เห็นได้ว่าลูกหงุดหงิด หรือไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองทำก็จะเริ่มใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ไม่ยอมให้มีตรงไหนผิดเพี้ยนไปจากที่เค้าหวังไว้ แบบนี้อาจเข้าข่ายว่าเป็น “Perfectionist” ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบเท่านั้นแล้วก็ได้ค่ะ
ลักษณะของเด็กที่รักความสมบูรณ์แบบ
- รู้สึกขัดใจเมื่อตัวเองทำพลาดเพียงนิดเดียว
- รู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ เมื่อมีคนอื่นทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ
- จะคิดกับคนอื่นในแบบ You’re not OK, I’m OK. คิดลบกับผู้อื่นไว้ก่อน ว่าไม่มีใครทำได้ดีเท่าตัวฉันเองอีกแล้ว
- เป็นเด็กขี้กังวล รู้สึกว่าถ้าตัวเองทำพลาดแม้แต่นิดเดียว จะไม่มีใครรัก ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ด้วย
- คาดหวังกับตัวเองสูงมากไป
แต่ข้อดีของความสมบูรณ์แบบคือ เด็กจะเป็นคนที่ตรงต่อเวลา เคารพเวลาของผู้อื่น มีความรับผิดชอบสูง แต่ในขณะเดียวกันก็จะกดดันตัวเองจนกลายเป็นความเครียด ทำให้เมื่อโตขึ้นเขาจะไม่สามารถยืดหยุ่นในเรื่องใดได้เลย เข้มงวดกับตัวเอง และทุกคนรอบข้าง
เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ
ให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง เรียนรู้จากความผิดพลาด
เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง
ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงอะไร ส่งเสริมให้ลูกได้ทำอย่างเต็มที่ ให้ลูกได้เลือกเอง ตัดสินใจเอง หากลูกทำผิดพลาดไปก็ค่อยมานั่งคุยกับลูกว่าขั้นตอนไหนที่เราทำผิดไป ด้วยการถามคำถามปลายเปิดนะคะ เพื่อให้ลูกได้ฝึกคิด วิเคราะห์
เรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น
คุณพ่อคุณแม่อาจนำเรื่องราวของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วก็ได้ค่ะ เพื่อให้ลูกได้เห็นภาพว่าความไม่สมบูรณ์แบบก็ทำให้ชีวิตเราประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน
ลองหากิจกรรมใหม่ ๆ ที่อยู่นอกแผนบ้าง
เพื่อให้ลูกได้ออกนอกกรอบเดิม ๆ บ้าง ได้ทำอะไรใหม่ ๆ เป็นการปลูกฝังความกล้าคิด กล้าทำ แล้วถ้าลูกทำอะไรผิดพลาดก็ไปก็ย้อนไปข้อ 1 ค่ะ^^
สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ตนเอง และจัดการกับอารมณ์นั้น ไม่ก้าวร้าวใส่ผู้อื่น
การสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตนเอง และจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรฝึกลูก เพราะเด็กที่มีความสมบูรณ์แบบเขาจะรู้สึกหงุดหงิดหากคนอื่นทำอะไรที่ไม่ถูกใจเขาหรือผิดจากสิ่งที่เขาคาดหวังไว้ เค้าก็จะหงุดหงิดใส่ทันที ซึ่งจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวได้
ข้อนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกเริ่มมีอาการหงุดหงิด ให้พักกิจกรรมตรงนั้นก่อน แล้วมานั่งคุยกัน ให้ลูกได้เข้าใจอารมณ์ตัวเองก่อน แล้วค่อยอธิบายให้ลูกฟังว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง เป็นการสอนให้ลูกรู้จักยอมรับในความแตกต่างได้อีกด้วยค่ะ
พ่อแม่ควรยอมรับในความผิดพลาดของลูก และให้อภัย
วิธีที่จะยอมรับได้ง่าย ๆ ก็คือ “การไม่คาดหวัง” ค่ะ เอาจริง ๆ ลึก ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็แอบหวังแหละ แต่ถ้าจะฝึกให้ลูกยอมรับ “คุณค่าในความไม่สมบูรณ์แบบ” ได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีก่อน คือ ยอมรับได้ และให้อภัยได้ แม้ลูกจะทำผิดพลาดไป ลูกถึงจะเข้าใจและเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
พ่อแม่ไม่ต้องปลอบลูกไปเสียทุกเรื่อง
“ลูกผิดหวังเสียใจ พ่อแม่ก็ผิดหวังเสียใจด้วย” ก็เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องปลอบลูกทุกเรื่องนะคะ บางครั้งการที่ให้ลูกได้อยู่คนเดียวบ้าง ก็เป็นการให้เขาได้เรียนรู้ความผิดหวังด้วยตัวเองอีกทางหนึ่งค่ะ
ไม่พูดส่งเสริมลูกมากเกินไป
“ลูกแม่เก่งอยู่แล้ว”
“หนูต้องทำได้แน่นอน”
“ลูกแม่เป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด ผ่านอยู่แล้วค่ะ”
ถ้ามองเผิน ๆ คำพูดเหล่านี้ฟังดูดีมากนะคะ เป็นการให้กำลังใจลูกได้ดีทีเดียว แต่…ความจริงแล้ว คำพูดเหล่านี้อาจกลายเป็น “สร้างความกดดัน” ให้ลูกโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะลูกจะเข้าใจว่า คุณพ่อคุณแม่คาดหวังในตัวเขาสูง เพราะฉะนั้นลูกจะบอกกับตัวเองว่า…
“ฉันจะผิดพลาดไม่ได้”
ทำให้ลูกเกิดความกังวลและความเครียด ที่เหมาะสมคุณพ่อคุณแม่ควรปรับคำพูดเป็น…
“แม่ว่าหนูลองพยายามทำให้เต็มที่ดูนะคะ ได้แค่ไหนแค่นั้น หรือถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ”
การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบนั้นต้องอาศัยหลายปัจจัยตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งในชีวิตประจำวัน คุณพ่อคุณแม่สามารถชี้ชวนให้ลูกเห็นได้นะคะ เมื่อลูกคุ้นชินก็จะเข้าใจและยอมรับได้ค่ะ