เพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เหนื่อยใจ แต่ที่สำคัญกว่านั้น เด็กเล็กยังไม่รู้จักกับอารมณ์ของตัวเองและวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเองมากพอ จึงส่งผลให้แสดงอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดไปบ้าง ร้องไห้โวยวาย เอาแต่ใจกันไปบ้าง การลงโทษมีหลายวิธีที่ไม่ต้องตี แถมได้ผลอีกด้วยค่ะ
สารบัญ
ลงโทษลูกโดยไม่ต้องตี
ใช้วิธี Time Out
วิธีนี้จะใช้ได้ดีกับเด็กที่อายุ 2 – 10 ปี โดยมีวิธีการดังนี้ค่ะ
- เตือนลูกก่อน ให้หยุดพฤติกรรมที่ไม่น่ารักนั้น
- หากลูกยังไม่หยุด ให้อธิบายสาเหตุก่อนว่าเพราะอะไรลูกต้องโดน Time Out
- เลือกมุมสงบให้ลูก เช่น ห้องนอน หรือห้องของเล่น เป็นต้น
- จับเวลาตามช่วงอายุ เช่น วัย 2 ปี เริ่มจาก 2 นาที, วัย 3 ปี เริ่มจาก 3 นาที เป็นต้น
การทำ Time Out คือ การแยกเดี่ยว ไม่ใช่ “การขังเดี่ยว” นะคะ เป็นการที่ให้ลูกนั่งเข้ามุม แต่ยังอยู่ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่อยู่ค่ะ
งดกิจกรรมที่ลูกชื่นชอบ
สำหรับข้อนี้จะเหมาะกับเด็กที่อายุ 6 ปี ขึ้นไป เพราะเขาจะสามารถเข้าใจเงื่อนไขได้แล้ว เช่น
“ถ้าหนูยังเอาแต่ใจร้องไห้โวยวายแบบนี้ เย็นนี้งดไปปั่นจักรยานกับเพื่อนนะคะ”
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตั้งกติการขึ้นมาแล้วต้องใจแข็งนะคะ หนักแน่นเข้าไว้ และอธิบายถึงเหตุผลให้ลูกเข้าใจว่าเพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ถึงต้องลงโทษด้วยวิธีนี้ เพราะไม่เช่นนั้นลูกจะไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่
ตัดสิทธิ์การได้รางวัล
ลูกอาจมีขนมที่ชอบ แต่เมื่อลูกทำผิด ให้คุณพ่อคุณแม่ตัดสิทธิ์การได้รางวัลของลูก เช่น อาจจะงดไปเที่ยวในวันหยุดนี้ หรือถ้าเป็นขนม อาจเป็นขนมที่ลูกชอบที่ต้องกินทุกอาทิตย์ ให้คุณพ่อคุณแม่บอกลูกว่า “หนูทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารักแบบนี้ เพราะฉะนั้นอาทิตย์นี้งดขนมนะคะ”
ที่สำคัญ อย่าลืมอธิบายกับลูกให้ลูกเข้าใจว่าเพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ต้องใช้วิธีนี้นะคะ เพื่อให้ลูกยอมรับและเข้าใจ เป็นการป้องกันการทำผิดซ้ำเดิมค่ะ
ให้ลูกรับผิดชอบในสิ่งที่ลูกได้ทำผิดไป
เช่น ถ้าลูกทำน้ำหกเลอะพื้น ก็ให้ลูกรับผิดชอบเองด้วยการนำผ้าสะอาดมาเช็ดให้แห้ง หรือลูกรื้อกองหนังสือออกมาทำให้หนังสือกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นเต็มไปหมด ก็ให้ลูกรับผิดชอบด้วยการเก็บเอง เป็นต้น
ซึ่งวิธีนี้จะดีกว่าการตีแน่นอนค่ะ เพราะการตีลูก นอกจากจะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้ว่าตัวเองทำอะไรผิดแล้ว ลูกยังมีโอกาสทำผิดได้ซ้ำอีก
เพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก
หากลูกมีพฤติกรรมที่ร้องไห้โวยวาย ให้คุณพ่อคุณแม่ทำเป็นเพิกเฉย ไม่สนใจแต่…ยังนั่งอยู่ไม่ห่างสายตาจากคุณพ่อคุณแม่นะคะ รอให้อารมณ์ของลูกเบาลงก่อน แล้วค่อยเดินเข้าไป ไปพูดคุยกับลูกด้วยทีท่าที่อ่อนโยน อธิบายถึงสาเหตุว่าหนูทำอะไรผิดไป และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เป็นต้นค่ะ
พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำคือ ขณะที่ลูกร้องไห้โวยวายแล้วคุณพ่อคุณแม่เดินหนีนะคะ เพราะเขาจะคิดว่า “พ่อแม่ไม่รักเขา” แบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกร้องไห้มากกว่าเดิมและไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
ผลเสียจากการลงโทษลูกด้วยการตีบ่อยๆ
- มีพัฒนาการด้านความคิดและวิเคราะห์ช้า เพราะลูกจะไม่รู้เหตุผลหรือตรรกะที่ถูกต้องว่าคืออะไร
- ทำให้ลูกดื้อไม้ดื้อมือ
- เป็นเด็กที่ต่อต้านในทุกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่สอน
- ไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่
- เด็กจะซึมซับความรุนแรงจากคุณพ่อคุณแม่ และเด็กจะส่งต่อความรุนแรงนี้ไปให้คนอื่น
การตีลูกทำได้ไหม?
ตีได้ค่ะ แต่…คุณพ่อคุณแม่ควรตี เพื่อให้ลูกรู้ว่าลูกทำผิด ไม่ใช่ตีด้วยอารมณ์ ซึ่งก่อนตีลูก ควรอธิบาย หรือมีการพูดคุยกันก่อนว่า เพราะอะไร? เช่น ถ้าหนูทำผิดในลักษณะนี้ หนูก็ต้องถูกตีนะคะ เป็นต้น ที่สำคัญ ต้องคุยกันก่อนให้ลูกยอมรับตามเงื่อนไขก่อนว่า “ถ้าหนูทำแบบนี้ จะถูกตี”
รักวัวใหผูก รักลูกให้ตี แต่ถ้าลงโทษด้วยวิธีอื่นจะดีกว่าค่ะ^^ จริงไหมคะแม่ ๆ