การอยู่ร่วมกันย่อมจำเป็นที่จะต้องมีกฎเกณฑ์ซึ่งกับสมาชิกใหม่ของบ้านอย่างลูกน้อยของคุณก็เช่นเดียวกันเขายังต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์ของครอบครัวและสังคมจากคุณไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะเติบโตไปอย่างมีคุณภาพและแน่นอนว่าในบางครั้งการลงโทษที่มันเป็นสิ่งที่แสนจะทรมานหัวใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็จำเป็นที่จะต้องทำเพื่อให้ลูกเข้าใจและจดจำการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเหมาะสมกันต่อไป
แต่เมื่อการลงโทษผ่านพ้นไปแล้วนั้นการดูแลจิตใจของลูกต่อก็มีความสำคัญไม่แพ้กันเพราะมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเข้าใจว่าคุณลงโทษเขาด้วยความหวังดีไม่ใช่ลงโทษเพราะไม่รักเขาแต่อย่างใด วันนี้เราจะขอแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวของคุณพ่อคุณแม่ต่อลูกเมื่อการลงโทษสิ้นสุดลง
ยึดหลักเหล่านี้เอาไว้…เพื่อให้การลงโทษเป็นผลดีกับลูก
- ใจเย็น นี่คือสิ่งที่ควรมาก่อนการลงโทษด้วยเพราะว่าการลงโทษลูกด้วยอารมณ์นั้นรับรองได้เลยว่ามีแต่ผลเสียให้กับทุกฝ่ายอย่างแน่นอน หายใจลึกๆ ควบคุมสติ คุณคือตัวอย่างของลูกหากคุณใช้แต่อารมณ์ตัดสินไม่นานคุณก็จะเห็นภาพสะท้อนเหล่านี้ในตัวลูกของคุณเช่นเดียวกัน และยังเป็นการเริ่มสร้างปมให้กับลูกอย่างไม่รู้ตัวได้อีกด้วย
- เหตุผลนำ การลงโทษนั้นจำเป็นที่จะต้องมีเหตุผลและกฎเกณฑ์ไม่ใช่แค่ลูกซนวิ่งเล่นไปชนของเสียหายก็หันไปตีและด่าอย่างไม่อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีความผิดอย่างไรและกระทบกระเทือนเดือดร้อนคนอื่นอย่างไร ถ้าคุณเพียงแค่ลงโทษให้เขาเจ็บตัวและป่วยใจอย่างไม่มีเหตุผลการลงโทษนั้นก็เป็นแค่เพียงการทำร้ายร่างกายกันให้บอบช้ำมากกว่าที่จะได้ประโยชน์ใดๆ ขึ้นมา
- คิดแทนใจลูกและพยายามเข้าใจมุมมองของเด็กด้วย การคิดถึงใจเขาใจเรานั้นเป็นสิ่งที่เราปลูกฝั่งกันมาเสมอและก็ยังเป็นข้อคิดที่ควรใช้กับลูกด้วยเช่นเดียวกัน เด็กเองยังไม่มีประสบการณ์และยังไม่รู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควรมากนักคงจะไม่ผิดถ้าเขาจะอยากรู้อยากเห็นอยากเล่นสนุกตลอดเวลา คุณควรพูดให้เขาฟังและหากเขายังทำอยู่ในเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ ก็อาจะลงโทษด้วยการให้ลูกนั่งนิ่งๆ ตามอายุของเขา อย่างเช่นเด็ก 5 ขวบก็ทำโทษความซุกซนของเขาด้วยการให้อยู่นิ่งๆ 5 นาที และเมื่อลูกพ้น 10 ขวบไปก็จำเป็นที่จะต้องหาการลงโทษในแบบที่เหมาะสมมาใช้กับเขากันต่อไป
- ลงโทษได้ก็ต้องชมลูกด้วย เมื่อเขาทำผิดการลงโทษอย่างเหมาะสมก็คือสิ่งที่ต้องทำแต่เมื่อเขาทำความดีและมีความน่ารักคุณก็ควรชมเขาด้วย ทุกอย่างมีความจำเป็นที่จะต้อง Balance กันเพื่อให้ลูกได้เข้าใจทุกอย่างแบบมีเหตุผลนั่นเอง
- อย่าเถียงกับลูก คุณคือตัวอย่างและผู้นำที่จะพาเขาไปในแนวทางที่ถูกต้องถ้าเกิดคุณมีข้อตกลงกับลูกและเข้าใจกันอยู่แล้วเมื่อการลงโทษต้องเกิดแต่ลูกยังงอแงไม่ยอมทำแถมยังพยายามโต้เถียงกับคุณสิ่งที่ควรทำก็คือนิ่งและฟังเมื่อลูกพูดจบคุณก็เพียงแค่ยืนยันว่าการลงโทษยังคงต้องดำเนินไปอย่างเดิม
หากลูกเถียงมาคุณเถียงกลับมันจะเป็นเหมือนการหยิบอำนาจไปให้ลูกและทำให้เขาเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเขาเองก็มีสิทธิ์ในการต่อรองอยู่เหมือนกันและอาจจะทำให้การลงโทษในครั้งต่อๆ ไปเกิดการต่อต้านจากลูกก็เป็นได้
- การประจารคือสิ่งที่ควรตัดออกไป เริ่มจากแค่ในครอบครัวของคุณเองก็ไม่ควรประจารหรือบอกความผิดและบทลงโทษที่ลูกได้รับให้กับคนอื่นได้รู้ เช่น พี่คนโตทำอะไรผิดก็พูดให้น้องๆ และญาติในบ้านฟังว่าทำผิดแบบนั้นแบบนี้ไม่ดีแบบนั้นแบบนี้ “ดูสิ…พี่เขาทำแก้วแตกซุ่มซ่ามไม่รู้จักระวังทำข้าวของเสียหายไปหมดน่าปวดหัวจริงๆ” เป็นต้น เพราะการทำแบบนี้น่าจะเป็นการสร้างแผลในใจให้ลูกมากกว่าการปลูกฝังความถูกต้องเหมาะสมให้กับลูก
- การบอกรักคือสิ่งที่ดีที่สุด ทำผิดต้องยอมรับผิดและต้องยอมรับการลงโทษได้ด้วยนี่คือสิ่งที่ลูกควรเข้าใจ และที่ลูกควรรับรู้เอาไว้ด้วยก็คือการที่ลูกทำผิดไม่ได้ทำให้ลูกไม่มีใครรัก ลูกยังมีคุณค่าและเหมาะสมที่จะได้รับความรักเสมอ…บอกรักเขา มอบความอุ่นใจให้กับเขา
การดูแลลูกให้เติบโตไปอย่างถูกต้องและให้เขาได้ดำเนินชีวิตไปตามแนวทางที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาสั่งสอนไปเรื่อยๆ แบบไม่มีวันหยุด ทุกเวลาเท่าที่จะสามารถทำได้ มอบคำสอนทุกอย่างด้วยความจริงใจ ใส่ใจ และให้เขาสัมผัสได้ถึงความรักและความอบอุ่นรวมทั้งความหวังดีจากคุณเสมอและเชื่อได้เลยว่าสายสัมพันธ์ในครอบครัวจะเป็นตัวเชื่อมต่อให้ลูกรับรู้ได้ถึงความรู้สึกเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีแน่นอน