เพราะเราทุกคนต่างเคยผ่านความเป็นเด็ก ความเป็นลูกกันมาก่อน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม เราก็สามารถทำผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น และการที่เราเป็นคุณพ่อคุณแม่แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำถูกต้องเสมอไป
เราอาจทำผิดกับลูกนับครั้งไม่ถ้วนแล้วก็ได้ ซึ่งการทำผิดนี้คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้มีการขอโทษลูก เพราะคิดว่าเค้าเป็นเด็กคงไม่ได้คิดอะไรหรอก เดี๋ยวก็ลืม แต่ความจริงแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ทำผิดพลาด แต่ไม่ได้ขอโทษหรือกล่าวเสียใจกับลูกบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กฝังใจ
เมื่อเค้าโตเป็นผู้ใหญ่เค้าก็จะทำแบบเดียวกับที่เราทำเค้า คือ ทำผิดแต่ก็ไม่ขอโทษ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นนะคะ แต่เค้าจะทำแบบนี้กับคนอื่นๆ ด้วย
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจรู้ตัวว่าทำผิด อยากขอโทษ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร เพื่อเป็นการลบรอยร้าวของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว วันนี้โน้ตมีธีที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่กล้าเปิดใจกล่าวคำขอโทษกับลูกมาฝากค่ะ
ผลเสียของการที่พ่อแม่ทำผิดแล้วไม่ขอโทษลูก
ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวห่างเหิน
ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ หากความสัมพันธ์นี้ห่างเหิน จะส่งผลถึงพฤติกรรมของลูกในแง่ลบได้และอาจติดตัวไปจนโต อาทิ เมื่อลูกมีปัญหาอะไรซักอย่าง ลูกจะไม่ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ แต่จะหันหาคนอื่นหรือเพื่อนๆ แทน เป็นต้น
ลูกจะไม่ขอโทษคนอื่นเช่นเดียวกันกับที่คุณพ่อคุณแม่ทำกับเค้า
เพราะเค้าไม่มีตัวอย่างที่ดี ที่ถูกต้องให้เรียนรู้
ขอโทษลูกอย่างไร เมื่อผู้ใหญ่ทำผิดพลาด
หากพ่อแม่ทำผิด ควรขอโทษอย่างไม่มีเงื่อนไข
แน่นอน…เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำผิด ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ควรขอโทษลูกในทันทีที่รู้ว่าตัวเองทำผิด เพราะสิ่งนี้จะเท่ากับเป็นการ “แสดงความรับผิดชอบ” และ “แสดงให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือละเลยกับสิ่งที่ตัวเองทำผิดไป”
การขอโทษนี้นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกได้อีกด้วยค่ะ เพราะลูกจะเห็น เรียนรู้ และเข้าใจว่าไม่ว่าใครก็ทำผิดพลาดได้ทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญคือ “เมื่อรู้ตัวทำผิดก็ต้องขอโทษ”
ขอโทษลูกพร้อมบอกเหตุผล
นอกจากคำว่า “ขอโทษ” แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผล และ/หรือ ความจำเป็นที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทำผิดพลาดด้วยนะคะ ตัวอย่างเช่น ทำไมเราถึงไปเที่ยวในวันหยุดไม่ได้ ทำไมลูกถึงเล่นที่สนามเด็กเล่นตอนโรงเรียนเลิกไม่ได้ เป็นต้น ที่สำคัญ การอธิบายเหตุผลนั้นจะต้องไม่ใช่ทำนองที่ว่าเป็นการกล่าวหาลูกว่าเป็นความผิดของลูกอย่างเดียวนะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรบอกลูกด้วยว่าเราเสียใจมากแค่ไหนกับความผิดพลาดครั้งนี้
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เห็นภาพ โน้ตขอยกตัวอย่างดังนี้นะคะ
แม่ให้ลูกกินเค้กด้วยหวังว่าลูกจะใช้ช้อน แต่เผลอแป๊บเดียว ลูกใช้นิ้วจิ้มเค้กเข้าปาก แม่เสียงดังใส่ลูก แบบนี้คุณแม่นอกจากจะขอโทษลูกแล้ว ควรอธิบายเพิ่มว่า ที่แม่เสียงดังเพราะแม่ตกใจที่หนูใช้มือหยิบเค้ก เพราะมืออาจสกปรก มีเชื้อโรคได้
สอนลูกด้วยความผิดพลาดของตัวเอง
เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ แม้เราจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าใครก็สามารถทำผิดได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรใช้โอกาสนี้ถอดบทเรียนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แล้วสอนลูก อธิบายให้เค้าเข้าใจว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากอะไร แก้อย่างไร รวมถึงมีวิธีป้องกันอย่างไร
ถามลูกว่า “ให้อภัยได้หรือไม่?”
อ่ะ…มาถึงขั้นนี้แล้ว ขั้นที่คุณพ่อคุณแม่ขอโทษลูกไปแล้ว แต่คำว่าขอโทษอาจไม่ใช่ยาวิเศษ ไม่ใช่คาถาของโดราเอม่อนที่รักษาใจลูกได้ในทันที ให้คุณพ่อคุณแม่ลองแบบนี้ดูนะคะ ถามลูกด้วยท่าทางและน้ำเสียงที่จริงใจ อ่อนโยน ว่า
“หนูจะให้อภัยพ่อกับแม่ได้หรือเปล่าคะ?”
หรือ
“เราจะเกี่ยวก้อยคืนดีกันได้ไหมลูก?”
อาจทำให้ลูกได้ลองคิดและทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ และยอมเปิดใจได้ง่ายขึ้นค่ะ
ให้ลูกได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง
บางครั้งแม้ว่าลูกอาจจะให้อภัยคุณพ่อคุณแม่แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะหายโกรธได้ในทันที โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเติบโต เค้าจะมีอารมณ์และความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ลูกจึงต้องการเวลาส่วนตัว เพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะเมื่อเราขอโทษพร้อมกับอธิบายเหตุผลต่างๆ ไปแล้ว ที่เหลือคือ เราก็เฝ้าดูลูกห่างๆ ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชเค้า เดี๋ยวสถานการณ์ก็จะดีขึ้นเองค่ะ