เพราะ “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” การที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น การเคารพสิทธิของผู้อื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกได้เรียนรู้และเข้าใจ เรียกได้ว่าการเคารพสิทธิของผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งของมารยาทเลยก็ว่าได้ค่ะ
สารบัญ
สอนให้ลูกเคารพสิทธิของผู้อื่น
การสอนให้ลูกได้เรียนรู้และรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นสามารถเริ่มปลูกฝังและอธิบายให้ลูกได้เข้าใจ ดังนี้ค่ะ
ให้ลูกรู้จักการรอคอย
คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังและฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย ควบคุมความต้องการของตัวเองให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ลูกบอกว่าอยากกินนมชมพู ให้คุณแม่ชงให้ที แต่คุณแม่ติดงานบ้านอื่นอยู่ คุณแม่ควรบอกลูกว่าเพราะอะไรที่คุณแม่ยังไม่สามารถทำให้ได้ทันที และขอเวลาอีก 5 นาที ซึ่งคุณแม่อย่าใจอ่อนเด็ดขาด เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญอีกด้วยค่ะ
ให้ลูกรู้จักหน้าที่และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
อาจเริ่มจากกิจกรรมง่ายที่อยู่รอบตัวก่อนก็ได้ค่ะ เช่น การให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองอย่างเรื่องของการแปรงฟัน การเก็บที่นอนเอง การไปจ่ายตลาดและช่วยคุณแม่ถือของ การช่วยทำงานบ้าน รวมไปถึงมารยาทบนโต๊ะอาหาร เป็นต้น
เพราะการที่ฝึกให้ลูกได้รู้จักหน้าที่ของตนเองจะทำให้ลูกได้มองภาพรวมออกเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ได้รู้ว่าตัวเองควรมีน้ำใจหรือมีหน้าที่จะช่วยเหลือใครได้บ้าง และที่สำคัญ เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของ SQ (Social Function) หรือ ความฉลาดในการปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอีกด้วยค่ะ
ให้ลูกพึ่งพาตนเอง
เรื่องนี้นับเป็นอีกหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังลูกค่ะ เพราะการที่เราต้องเดินด้วยขาตัวเองข้างหนึ่ง ขาของผู้อื่นข้างหนึ่งคงเป็นเรื่องที่ลำบากแน่ ๆ ดังนั้น การฝึกลูกให้พึ่งพาตัวเองได้ สามารถเริ่มได้จากการให้ลูกช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน การเก็บที่นอนเอง หรือหากลูกอยู่ในวัยเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมอุปกรณ์การเรียนของลูกให้พร้อม
การที่เด็กจะสามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น พื้นฐานต้องทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองก่อน มั่นใจว่าเขาสามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้คนเดียว ยกตัวอย่างเรื่องของอุปกรณ์การเรียน ที่ว่าต้องเตรียมให้พร้อม ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นของแพง เอาแค่พอใช้ได้ก็พอ เช่น ดินสอสี หากลูกไม่มีในห้องเรียนลูกก็ต้องไปยืมเพื่อน เข้าข่ายต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ดี และลูกจะขาดความมั่นใจในตัวเองไปได้ค่ะ เขาจะคิดว่างานจะเสร็จได้ต้องรอสีจากเพื่อน
มอบหมายงานบ้านให้ลูกทำ
เริ่มจากงานง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อนก่อน เช่น การชวนลูกเข้าครัว เด็ดผักใบง่าย ๆ ก่อน การกวาดบ้าน การตากผ้า และการพับผ้า เป็นต้น เพราะขณะที่ทำงานบ้าน ลูกอาจเจอกับอุปสรรคเล็ก ๆ บางอย่าง ซึ่งลูกต้องคิดแก้ปัญหาเอง เริ่มแรกเขาอาจจระรู้หรือไม่รู้ก็ได้ไม่เป็นไร แต่สิ่งที่ได้คือ เขาจะได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา และการเรียงลำดับงานก่อน-หลัง ฝึกการคิดวิเคราะห์เมื่อเกิดปัญหา
ทำโทษเมื่อลูกทำผิด
ที่ว่าต้องทำโทษ ไม่ใช่การดุด่าแรง ๆ หรือการตีนะคะ แต่เป็นการปรามให้ลูกได้รู้และแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดี ซึ่งนอกจากการปรามแล้ว คุณแม่ควรอธิบายให้เหตุผลลูกที่ถูกต้องด้วยนะคะ ว่าที่คุณแม่ต้องทำโทษนั้นเพราะอะไร แล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ควรทำ
ปลูกฝังเรื่อง “การให้และการรับ”
“การให้” เป็นเรื่องดี “การรับ” ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน สำหรับโน้ตการปลูกฝังทั้ง 2 ด้านนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการให้สามารถเริ่มได้จากการให้ลูกเลือกของเล่นที่ไม่เล่นแล้วออกมาเพื่อเอาไปบริจาค เป็นการส่งต่อที่คนอื่นยังสามารถเอาไปใช้ได้ต่อ รวมถึงการทำบุญ ทำทานตามกำลังที่เรามี
ส่วน “การรับ” โน้ตก็สอนลูกเช่นกันค่ะ ลองจินตนาการตามนะคะ สมมติว่าเราชอบที่จะให้ แต่คนรับไม่รับ ประตูแห่งความอิ่มใจก็ปิดลงทันที กลับกัน แม้ผู้รับไม่ได้อยากรับแต่เขาเข้าใจความรู้สึกของการเป็นผู้ให้ เขาก็เต็มใจรับ ผู้ให้ก็จะรู้อิ่มใจขึ้นมาทันที ความสุขไม่ได้จำกัดแค่การเป็น “ผู้ให้” อย่างเดียว “ผู้รับ” ก็สามารถสร้างสุขได้เช่นกัน
สอนให้ลูก “ขอโทษ” และ “ขอบคุณ” จนเป็นนิสัย
การ “ขอโทษ” จากใจ ขอโทษด้วยความเข้าใจว่าเขาทำผิดไป เป็นสิ่งสำคัญซึ่งสามารถเริ่มได้จากการที่คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้ลูกเข้าใจ ส่วนการ “ขอบคุณ” นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะสอนลูกแล้ว ควรเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกด้วยนะคะ เพราะการทำให้ลูกเห็นเป็นการสอนที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่ได้ผลมากที่สุด
วิธีการสอนลูกรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องอาศัยระยะเวลาค่ะ เมื่อลูกโตขึ้นเขาจะมีความเข้าใจได้มากขึ้น เขาจะสามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่ซับซ้อนได้มากขึ้น แต่ก็ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ นะคะ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ลูกที่เป็นคนดีของสังคม รู้จักการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขค่ะ