กรมสุขภาพจิตได้ออกมาเผยถึงปัญหาที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเด็กไทยว่ากรณีของเด็กไทยที่ถูกเพื่อนแกล้งนั้นติดอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีเด็กนักเรียนที่ถูกเพื่อนนักเรียนด้วยกันแกล้งนั้นมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น
ด้วยความที่เป็นพ่อเป็นแม่ หากรู้ว่าลูกเราถูกแกล้งหรือถูกรังแก แน่นอนค่ะคงไม่มีใครอยู่เฉยได้ ซึ่งถ้าหากลูกเล่าให้เราฟังก็ดีไป แต่ถ้าหากลูกเป็นเด็กที่ไม่ชอบพูดอยู่แล้ว ไม่ค่อยเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แบบนี้ก็ต้องอาศัยกำลังภายในของคุณพ่อคุณแม่เองแล้วล่ะค่ะ ที่ต้องสังเกตลูกเอง วันนี้เราจะมาดูกันว่าจะมีจุดสังเกตอย่างไรบ้าง? และ…เมื่อรู้ว่าลูกถูกแกล้ง เราจะมีวิธีการจัดการปัญหานี้อย่างไร?
วิธีสังเกตว่าถูกแกล้ง
ร้องไห้ ไม่อยากไปโรงเรียน
ข้อนี้จะเป็นลำดับต้นๆ เลยค่ะ ที่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ เพราะเค้าจะงอแงแต่เช้า คือ ถ้าเป็นหลายๆ วันเข้าจนผิดสังเกต อาจเป็นไปได้ว่าลูกอาจถูกเพื่อนแกล้งเข้าให้แล้ว
ลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
จากเดิมที่เป็นเด็กร่าเริง แจ่มใส กลายเป็นเด็กขี้อาย เก็บตัว ไม่กล้าแสดงออก ไม่เล่นกับใคร ถามก็ไม่ค่อยตอบ และมักหลบตาเวลาที่คุยไม่ว่าจะกับคนอื่นหรือคุณพ่อคุณแม่ก็ตาม
ผลการเรียนต่ำลง
อาจจะค่อยๆ ต่ำลงหรือบางรายอาจต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีนัยสำคัญ
เมื่อถามถึงเพื่อนที่โรงเรียน ลูกจะไม่อยากตอบ
โดยปกติ ถ้าเป็นเด็กที่ไปโรงเรียน ไปเรียน ไปเล่นตามปกติ ลูกจะกลับมาเล่าให้ฟังว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง หรือไม่หากคุณพ่อคุณแม่ถาม ลูกก็จะตอบได้อย่างปกติ แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่ถูกเพื่อนแกล้ง ลูกจะไม่อยากพูดถึงเพื่อน ไม่อยากตอบเรื่องเพื่อน และไม่ค่อยมีเพื่อน เป็นต้น
ถามคำ ตอบคำ
สำหรับข้อนี้จะเห็นได้ชัดเลยค่ะ หากเราถามลูกว่า “ลูกมีปัญหาอะไรหรือเปล่า?” ลูกก็มักจะตอบสั้นๆ ว่า “เปล่า” แล้วก็เดินไปหรือหันไปทำกิจกรรมอื่นแทน
บุคลิกลูกที่มักถูกเพื่อนแกล้ง
ต้องบอกว่าสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เพื่อนมักชอบแกล้ง คือ เด็กที่มีลักษณะดูบอบบาง อ่อนแอ ขี้ขลาด ขี้อาย ขี้กังวล ไม่มั่นใจ และอ่อนไหวง่าย
พ่อแม่จะช่วยลูกแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง?
เปิดใจ
ในที่นี้คือ เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความรู้สึก เป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อให้รับรู้ว่าลูกรู้สึกอย่างไร แต่…ถ้าคุณพ่อคุณแม่ถามแล้ว ลูกไม่ยอมตอบล่ะจะทำอย่างไร ทั้งๆ ที่เราก็เปิดใจแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งไปบังคับเค้าหรือดุเค้า เพื่อที่จะให้เค้าพูดนะคะ รอให้เค้าพร้อมแล้วเค้าจะพูดเอง
คุยกับครูและพ่อแม่ของเด็กที่แกล้งลูก
เพื่อหาทางออกร่วมกันนะคะ แบบนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีและถูกต้องที่สุดค่ะ
ให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
เปิดโอกาสและหากิจกรรมให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น พาไปเที่ยวด้วยกัน ชวนกันมาเล่นที่บ้าน ฯลฯ เพื่อเป็นการให้เด็กๆ ได้รู้จักกันแบบนอกโรงเรียน และเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ปรับตัวเข้าหากันได้มากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น
ให้กำลังใจ
คุณพ่อคุณแม่นับเป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำลังใจ ให้กำลังใจลูก สอนลูกให้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะปกป้องตัวเองจากการที่ถูกเพื่อนแกล้ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจย้ำกับลูกว่า
“แม้ว่าเพื่อนคนนั้นจะชอบแกล้งหนู แต่หนูก็มีเพื่อนคนอื่นกับคุณครูที่รักหนูนะคะ”
แต่ไม่ใช่ว่าให้คุณพ่อคุณแม่ยุลูกให้ลูกไปตอบโต้ในวิถีทางเดียวกันกับที่เพื่อนแกล้งนะคะ
ทางออกประตูสุดท้าย
หากคุณพ่อคุณแม่พยายามทำทุกวิถีทางแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น ทางออกสุดท้ายคงต้องให้กฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยในการปรับพฤติกรรมเด็กแทน เพื่อให้เป็นตัวอย่างว่าเด็กไม่ควรไปรังแกใครรุนแรงแบบนี้อีก ซึ่งอาจต้องถูกย้ายโรงเรียนไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นคุณพ่อคุณแม่การเลี้ยงลูกอย่างใส่ใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหลายๆ อย่างหากรู้เมื่อสายไป อาจสายเกินแก้นะคะ