ยุคนี้อะไร ๆ ก็ออนไลน์ เพราะเรียกได้ว่าเป็น “ยุคดิจิทัล” เด็กที่เกิดในยุคนี้จึงเป็นเด็กในยุคดิจิทัลด้วยเช่นกัน ครั้งจะไม่ให้เด็กรู้จักกับหน้าจอเลยก็คงเป็นการรังแกเด็กไม่ให้เด็กได้ตามทันสิ่งต่าง ๆ ที่วัยเขาควรจะได้เรียนรู้ แต่เป็นที่รู้กันดีว่า อะไรที่น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดีเช่นกัน เชื่อว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาหนักใจอยู่ไม่น้อย แต่วันนี้โน้ตมีวิธีการควบคุมไม่ให้ลูกต้องอยู่กับหน้าจอมากเกินไปมาฝากค่ะ
สารบัญ
ไม่ปล่อยให้ลูกเล่นมือถือคนเดียว
หน้าจอไม่ว่าจะเป็นมือถือ หรือแทปเลต สามารถให้ลูกเล่นได้ค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นไปกับลูก พร้อมกับให้สังเกตว่าสิ่งที่ลูกเล่นนั้นถูกต้องหรือมีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ให้อธิบายสอนลูกทันทีค่ะ เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนถูกต้องหรือสิ่งที่ไหนผิด ไม่ควรทำ เพื่อเป็นการป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบในอนาคตค่ะ
หากิจกรรมอื่นทำ
การชักชวนลูกให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการนั่งนิ่ง ๆ หน้าจอเป็นอะไรที่ดีมากอีกทางหนึ่ง ให้คุณพ่อคุณแม่ลองเทียบเคียงดูก็ได้ค่ะในการคิดกิจกรรม ดูว่าลูกชอบเล่นเกมประเภทไหน ให้จัดกิจกรรมที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ลูกเล่นก็ได้ค่ะ อย่างน้อยก็ยังได้ใช้เวลาไปกับกิจกรรมในโลกแห่งความเป็นจริง
กำหนดเวลาไม่ให้เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
คุณพ่อคุณแม่ต้องวางแผนแบ่งเวลาให้ดี ว่าจะให้ลูกเล่นหน้าจอในช่วงใดบ้าง คำนวณเวลาแล้วไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับวันธรรมดา ส่วนถ้าวันหยุดอาจให้เพิ่มเป็นไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็ได้ค่ะ
ให้เล่นได้แต่ไม่ใช่เป็นเจ้าของ
เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกเล่นมือหรือแทปเลตจนลูกเกิดความเข้าใจว่าสิ่งนั้น ๆ คือของของเขา เขาจะโมโหมากเวลาที่ไม่ให้เขาเล่น คราวนี้คุณพ่อคุณแม่จะควบคุมลูกได้ยากขึ้นค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจอธิบายให้ลูกเข้าใจเลยก็ได้ค่ะว่า มือถือหรือแทปเลตนี้เป็นของคุณพ่อคุณแม่ แต่คุณพ่อคุณแม่ให้หนูเล่นชั่วคราวเท่านั้น
พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี
เข้าใจค่ะว่า คุณพ่อคุณแม่อาจมีงานที่ต้องทำ ต้องดูผ่านมือถือ หรือแทปเลต แต่ถ้าหากตรวจเช็คงานเสร็จแล้ว ให้ปิดแล้ววางมือถือทันที หรืออาจจะอธิบายให้ลูกฟังไปด้วยก็ได้ค่ะว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูมือถือหรือแทปเลตนั้นเพราะต้องเช็คงาน เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้รับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เล่นมือถือ
พ่อแม่ต้องไม่ใจอ่อน
เพราะก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกเล่นหน้าจอ ควรกำหนดกฎ กติกา ให้ลูกรับรู้และเข้าใจก่อน ที่สำคัญ ต้องรักษากฎให้ได้ กฎต้องเป็นกฎค่ะ อย่าใจอ่อน ความยืดหยุ่นสามารถใช้ได้กับบางอย่างเท่านั้น^^ หรือก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกเลิกเล่นมือถือ อาจแจ้งลูกล่วงหน้าก่อนก็ได้ค่ะว่า “เหลือเวลาอีก 10 นาทีนะคะ” เป็นต้น
บอกลูกถึงข้อดี-ข้อเสียของการติดหน้าจอ
บางวันบางเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ว่าง ๆ บรรยากาศดี ๆ ให้หาจังหวะอธิบายกับลูกให้ลูกได้รู้ว่าข้อดีของการเล่นเกมหรือการอยู่กับหน้าจอนั้นมีอะไรบ้าง และข้อเสียของการอยู่หน้าจอมีอะไรบ้าง เพื่อให้ลูกได้รับรู้ข้อมูลทั้งสองด้าน
ให้เวลาคุณภาพกับลูก
ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจบอกว่าต้องทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ จะเอาเวลาที่ไหนให้ลูก การมีเวลาคุณภาพไม่ได้หมายความว่าต้องมีเวลาให้ลูกหลาย ๆ ชั่วโมงหรือต้องอยู่กับลูกทั้งวัน แต่การ “ให้เวลาคุณภาพ” กับลูก คือ การที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาเล่นหรือพูดคุยกับลูกอย่างเต็มที่โดยที่ไม่มีหน้าจอเข้ามาเกี่ยวข้องเลยเป็นเวลา 15-20 นาที เท่านั้น หรือจะเป็นเวลาก่อนเข้านอน ได้อ่านหนังสือนิทานหรือได้พูดคุยกับลูก เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
แต่…จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา การสอนลูกคงไม่ใช่การพูดครั้งเดียวแล้วลูกจะเข้าใจหรือทำตาม ต้องอาศัยระยะเวลา และการพูดซ้ำ ๆ ทำย้ำ ๆ ให้ลูกได้เห็น โดยเฉพาะการเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูก จะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับลูกได้มากที่สุดค่ะ