ในวันหนึ่งลูกต้องเดินทางมาถึงช่วงวัยที่ต้องเริ่มไปโรงเรียนและไปพบเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ มากมายที่นอกจากการไปเรียนเพื่อพัฒนาทักษะความรู้แล้วนั้นการเริ่มต้นไปมีสังคมใหม่ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่โรงเรียนมอบให้กับลูกๆ เช่นเดียวกัน ถ้าลูกสามารถเข้ากับคุณครู เพื่อนๆ และปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ดีก็คงจะทำให้คุณพ่อคุณแม่หายห่วงกันและน่าจะได้ฟังเรื่องราวสนุกๆ ของลูกหลังเลิกเรียนกันแทบทุกวันเลยทีเดียว
แต่ถ้าบังเอิญลูกของคุณมีอาการไม่อยากไปโรงเรียนโดนดูฝืนใจและไม่มีความสุขเป็นอย่างมากก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเริ่มพิจารณาหาสาเหตุกันก่อนและหากพบว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นแบบนี้เป็นเพราะว่าลูกนั้นไม่สามารถเข้ากับเพื่อนได้หรือไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนในบางกรณีอาจจะโดนกลั่นแกล้งด้วย ดังนั้นคงไม่ดีแน่ถ้าจะปล่อยทิ้งเอาไว้แบบนี้เพราะนอกจากจะทำให้ลูกไม่มีความสุขในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วยังอาจทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ไม่ชอบเข้าสังคมและมีปัญหาลามมากระทบกับอนาคตได้อีกด้วย
สารบัญ
เริ่มวิเคราะห์นิสัยส่วนตัวของลูกที่ทำให้เกิดปัญหานี้กันก่อน
เด็กมีหลากหลายนิสัยอย่างที่เรารู้กันดีต้องเริ่มสังเกตและสอบถามคุณครูด้วยว่าอาการนิสัยแบบไหนที่ทำให้ลูกเจอกับปัญหานี้และคุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดใจยอมรับฟังปัญหาและเข้าใจลูกพร้อมที่จะช่วยเขาแก้ไขอย่างใจเย็นด้วย เด็กบางคนอาจจะไม่สามารถอยู่นิ่งได้ทำให้คอยไปกวนเพื่อนตลอดอาจทำให้เพื่อนๆ เกิดความรำคาญหรือไม่ หรือเด็กบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารไม่สามารถเข้าใจเหมือนเพื่อนๆ หรืออธิบายความต้องการของตัวเองไม่ได้หรือไม่ หรือบางคนมีอารมณ์ที่รุนแรงจนเพื่อนๆ กลัวไม่กล้าจะเข้าใจหรือไม่ รวมทั้งในบางครั้งตัวเด็กเองอาจจะมีอาการเขินอายไม่กล้าเข้าไปร่วมเล่นกับเพื่อนๆ แม้ว่าในใจก็อยากจะสนุกด้วยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตและสอบถามดูจากสถานการณ์เพื่อนำมาแก้ไขให้ตรงจุดกันอีกทีหนึ่ง
ช่วยส่งเสริมทักษะด้านการเข้าสังคมให้กับลูก
สอนให้ลูกรู้จักสังเกตอารมณ์ของคนอื่น
การสังเกตคือคุณสมบัติที่ดีในการดำเนินชีวิตของทุกคนอยู่แล้วและยิ่งถ้าได้เริ่มฝึกกันตั้งแต่เด็กๆ แล้วล่ะก็มันย่อมเป็นประโยชน์แน่นอน โดยเริ่มง่ายๆ จากการสอนให้ลูกรู้จักสังเกตอารมณ์ของคนที่เขานั้นมีปฏิสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง
โดยให้เข้าเริ่มดูจากสีหน้า ท่าทาง และคำพูดนำมาวิเคราะห์ว่าเขาเหล่านั้นกำลังมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรและหากสัมผัสได้ถึงความไม่พอใจก็ให้ลูกรู้จักหยุดการกระทำนั้นและในบางกรณีอาจจะสอนให้ลูกรู้จักกับการขอโทษเอาไว้ด้วย
รู้อารมณ์เขาแล้วลูกต้องเรียนรู้อารมณ์ของตัวเองด้วย
ให้ลูกเรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เช่น อาการใจเต้น กำมือแน่น นี่คือการของความโมโห ความโกรธ อาจจะนำเขาไปสู่ความรุนแรงและก้าวร้าวและอาจร้ายแรงถึงขั้นเจ็บตัวกันได้ การที่สอนให้เขาได้รู้เท่าทันตัวเองว่านี่คือความโกรธคอยหมั่นปลูกฝังให้เขาเข้าใจว่าการตัดสินใจในช่วงเวลาที่มีอารมณ์นี้เข้ามาครอบงำมันจะทำให้เกิดแต่ผลเสีย สอนให้เขารู้จักหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ เพื่อสงบสติอารมณ์ เป็นต้น
ช่วยลูกฝึกการสื่อสาร
สอนให้เขารู้จักคิดถึงใจเขาใจเรา เวลามีการสนทนาให้มีความตั้งใจฟังและคิดทุกคำก่อนที่จะพูดออกไปเพื่อทำให้การสนทนาราบรื่นและเป็นการสานความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด และพยายามอย่าให้อารมณ์มาอยู่เหนือการแสดงออกใดๆ
เสริมทักษะการเข้าสังคมอื่นๆ ให้ลูกด้วย
นอกจากการสื่อสารด้วยการพูดคุยและการแสดงออกต่างๆ แล้วสิ่งที่ทำให้ลูกมีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นได้คือทักษะนิสัยอื่นๆ ที่มีความน่ารักบนพื้นฐานของคุณธรรมและความดี เช่น สอนให้เขามีน้ำใจรู้จักการแบ่งปันและช่วยเหลือคนอื่น มีความเห็นอกเห็นใจ และมีความกล้าพอที่จะยอมรับความผิดที่ตัวเองได้ทำ นี่คือสิ่งที่เมื่อโตขึ้นจะสามารถติดตัวเขาไปได้ด้วยและที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่คือต้นแบบที่สำคัญที่จะทำให้ลูกเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมหากว่าลูกเจอกับปัญหาไม่มีเพื่อนและเข้ากับสังคมไม่ได้ตั้งแต่ยังเด็กมากนั้นอาจจะทำให้เขาขาดความสุขและไม่มีความมั่นใจและเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดปัญหาอะไรและยิ่งใหญ่แค่ไหนอีกหรือไม่ที่จะตามมาทำร้ายเขาได้ในอนาคต มาสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เป็นเข้าสังคมให้ได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ กันจะเป็นการดีกว่าอย่างแน่นอน