การสอนให้ลูกรู้จักมีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่การสอนลูกด้านนี้ด้านเดียวยังไม่พอค่ะ เพราะลูกจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข เพราะจะรู้สึกผิดมากหากเขาปฏิเสธที่จะช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่งไป “การปฏิเสธ” ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นคนไม่มีน้ำใจ เพียงแต่เราจะช่วยเหลือคนอื่นได้ก็ควรเป็นสิ่งที่เราไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก
สารบัญ
ลักษณะของ ลูกใจดี
ก่อนอื่นเราต้องแยกแยะก่อนค่ะว่า ลักษณะของเด็กที่มีจิตใจดีนั้น เขาจะมีลักษณะอย่างไร
- มีน้ำใจ ชอบแบ่งปันเพื่อน ๆ ในสิ่งที่ตัวเองมี
- มีเมตตา
- นึกถึงใจเขาใจเราเสมอ
- มีนิสัยที่ชอบทำให้เพื่อนและคนรอบข้างมีความสุข
หากวันใดที่ลูกกลับจากโรงเรียนแล้วเขามีเรื่องมาเล่าเกี่ยวกับการแบ่งปัน เล่าในสิ่งที่เขาได้แบ่งให้เพื่อนไปด้วยสีหน้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม นั่นแสดงว่าเขาภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำไป
ลักษณะของ ลูกใจดี แบบเต็มใจ
- ลูกมีสีหน้าไม่ค่อยดี กลับมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่โรงเรียนให้ฟังด้วยความรู้สึกที่ไม่ได้ เช่น การที่ต้องแบ่งของให้เพื่อนหมด ไม่เหลือให้ตัวเอง
- ในเรื่องราวที่ลูกเล่าให้ฟังนั้น จะมีอารมณ์และแง่คิดในทางลบในเรื่องของการแบ่งปัน
- ลูกถูกบังคับให้แบ่งปันสิ่งของที่ตัวเองรัก
- ลูกถูกบังคับให้แบ่งสิ่งของที่ไม่ได้เป็นของของตัวเอง
ลูกใจดีเกินไป อาจหมายความว่าลูก…
ขาดทักษะในการปฏิเสธ
เช่น จริง ๆ แล้วอยากเก็สิ่งนั้น ๆ เอาไว้ให้ตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะบอกเพื่อน หรือปฏิเสธเพื่อนด้วยเหตุผลอะไร ไม่รู้จะบอกอย่างไร
ขาดทักษะในการแก้ปัญหา
ตัวอย่างเช่น มีขนมเหลืออยู่ชิ้นสุดท้าย แต่ยังเหลือเพื่อนอีก 1 คนที่ยังไม่ได้กิน และเพื่อนก็อยากกิน ลูกจึงจำใจต้องให้เพื่อน ทั้งที่จริงแล้ว ขนมนั้นสามารถแบ่งครึ่งได้
ขาดทักษะในเรื่องการรักษาสิทธิ
เช่น ถ้าเพื่อนมาเล่นที่บ้าน แล้วเพื่อนดันไปชอบตุ๊กตาตัวโปรดของลูก เพื่อจะขอเล่นแต่ลูกไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร ก็เลยต้องให้ไป ซึ่งจริง ๆ แล้วลูกมีสิทธิที่จะไม่ให้ก็ได้ค่ะ เพราะตุ๊กตาตัวนั้นเป็นของรักของหวงของลูก
ขาดความมั่นในตัวเอง กลัวเพื่อนไม่รัก
เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักมีความคิดแบบนี้กันเยอะ กลัวว่าถ้าไม่ให้แล้วเพื่อนไม่รัก หรือกลัวจะโดนแกล้ง ส่วนหนึ่งเกิดจากความที่ลูกไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าทำอะไรที่ขัดต่อความคิดหรือความต้องการของผู้อื่น
สอนให้ลูกรู้จักการปฏิเสธ
การสอนหรือการที่จะปลูกฝังให้ลูกรู้จักการปฏิเสธที่ถูกต้องนั้น มีหลายวิธีและเริ่มสอนลูกได้ ดังนี้
สอนลูกให้แยกแยะ
การสอนลูกให้แยกแยะควรเลือกสอนในเรื่องต่าง ๆ ตามวัยที่เหมาะสม เช่น หากลูกอายุได้สักประมาณ 3 – 4 ขวบ อาจสอนลูกให้รู้ว่า ลูกอม ขนมที่หวานมาก ๆ หรือเครื่องดื่มน้ำอัดลม นั้นไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพฟัน เพราะจะทำให้ฟันผุ แต่เอาเรื่องนี้ไปสอนลูกวัย 2 ขวบก็อาจจะยังไม่เข้าใจเท่าที่ควร
บางเรื่องที่ลูกอยากลอง ลองเพื่อรู้ ลองแล้วไม่ได้เกิดความเสียหายอะไร ก็ควรให้ลูกลองค่ะ แต่บางอย่างถ้าลองแล้วจะส่งผลกระทบทันที เช่น ยาเสพติด เพราะหากลองแล้วอาจติดได้ แม้เพียงครั้งเดียว แบบนี้ให้คุณแม่อธิบายเหตุให้ลูกฟังถึงโทษของยาเสพติด พร้อมหาข้อมูลหรือตัวอย่างของเรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพติดมาให้ลูกฟังประกอบกัน
เสริมสร้างจิตใจให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง
เมื่อเด็ก ๆ ได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนก็มักจะไม่ค่อยยอมทำในสิ่งที่แปลกแยกกับเพื่อน โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองก็มักจะโอนอ่อนไปตามเพื่อน โอนอ่อนไปตามแรงผลักดันของเพื่อน ดังนั้น เรื่องของความมั่นใจคุณพ่อคุณแม่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ ค่ะ
เชื่อมั่นในการทำความดี
คุณพ่อคุณแม่ควรตอกย้ำในเรื่องการทำความดีกับลูกบ่อย ๆ ค่ะ พร้อมกับต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกด้วย เพราะเมื่อลูกรู้แล้วว่า “ความดี” คือสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องอาย ไม่ควรอายหากเราทำความดี ลูก ๆ ก็จะยึดมั่นในการทำความดี กล้าที่จะปฏิเสธต่อสิ่งที่ไม่ดีหากใครมาชักชวน
แนวทางการปฏิเสธให้ได้ผล
ให้คุณพ่อคุณแม่จำลองเหตุการณ์มาพูดคุยกับลูก โดยมีแนวทางในการสอนลูกให้ปฏิเสธได้ดังนี้
- ใช้เหตุผลมาพิจารณาร่วมกับความรู้สึก เพราะบางครั้งหากใช้แค่เหตุผลอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
- ปฏิเสธตามตรง พร้อมอธิบายเป็นคำพูดที่ชัดเจน
- ขอความเห็นชอบจากคนที่ชักชวนเรา เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจและขอบคุณที่ชักชวนเราที่ยอมรับในการปฏิเสธนั้น
อีกสิ่งหนึ่งที่แม่โน้ตเคยเจอก็คือ บางคนมีความเกรงใจคนอื่นมาก ซึ่งมากเสียจนไม่กล้าปฏิเสธเช่นกัน ความเกรงใจเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ก็ควรใช้อย่างมีขีดจำกัด เพราะไม่อย่างนั้นก็เท่ากับขาดทักษะในการปฏิเสธเช่นกัน รักลูก ต้องสอนให้รู้จักการปฏิเสธด้วยนะคะ