คุณแม่ที่เพิ่งคลอดหรือคุณแม่ลูกอ่อน นอกจากจะต้องดูแลตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผลคลอดหรืออาหารแล้ว ยังจะต้องดูแลลูกน้อยอีกด้วยซึ่งหมายรวมถึงเรื่องสุขอนามัยและเรื่องอาหารเช่นเดียวกัน
พูดถึงเรื่องอาหาร คุณแม่ลูกอ่อนมือใหม่หลายๆ ท่าน ต้องให้น้ำนมลูก จึงอาจจะยังไม่แน่ใจว่าเราจะกินอะไรได้บ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายลูกน้อยและอะไรบ้างที่ควรงด วันนี้โน้ตมีข้อมูลในส่วนนี้มาฝากค่ะ
Youtube : คุณแม่หลังคลอด คุณแม่ลูกอ่อน กินอะไรได้บ้าง
สารบัญ
อาหารที่คุณแม่ลูกอ่อนกินได้
ด้วยความที่เป็นคุณแม่ลูกอ่อนมีเรื่องต้องดูแลหลายเรื่อง ไหนจะเรื่องร่างกายของตัวเอง ไหนจะเรื่องน้ำนม คิดๆๆ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีน้ำนมให้ลูกได้กินกันยาวๆ แวะมาทางนี้ถูกแล้วค่ะ เราไปดูกันเลยดีกว่า
อาหารกลุ่มธัญพืช
อาหารในกลุ่มนี้จะช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมได้ดีค่ะ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ คุณแม่ควรกินให้ได้ 40% โดยประมาณ เมื่อเทียบกับปริมาณอาหารที่ได้รับต่อวัน
อาหารช่วยเพิ่มน้ำนม
มีอาหารหลายประเภท หลายอย่างที่ช่วยในการเพิ่มปริมาณน้ำนม อาทิ หัวปลี ตำลึง ขิง กุยช่าย ฟักทอง เม็ดขนุนต้มสุก อินผลัม ผักโขม คะน้า แครอท ใบกะเพรา กระเทียม โน้ตกินมาหมดแล้วค่ะ การันตีได้เลย^^
อาหารสร้างสมดุลความร้อน-เย็นของร่างกาย
เนื่องจากในขณะคลอด คุณแม่ต้องเสียเหงื่อ เสียเลือดเยอะ จึงส่งผลให้คุณแม่อาจจะขี้หนาวเมื่อหลังคลอด อาหารที่สามารถช่วยในส่วนนี้ได้ อาทิ ขิง เพราะมีฤทธิ์ร้อน หรือตับ เพราะจะช่วยในเรื่องของการบำรุงเลือด สร้างเม็ดเลือดได้ดีค่ะ
อาหารที่มีไขมันจำเป็น
เมื่อพูดถึงคำว่า “ไขมัน” หลายท่านจะคิดว่ามันคือ “ความอ้วน” แต่แท้จริงแล้ว ไขมันก็ยังคงเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ เพราะวิตามินบางชนิดยังต้องการไขมันเพื่อการละลายที่ดี แต่ไขมันในที่นี้ที่ร่างกายต้องการเราจะเรียกมันว่า “ไขมันจำเป็น”
ไขมันจำเป็น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ โอเมก้า6 และโอเมก้า3 อาหารที่มีโอเมก้า6 ในปริมาณมากได้แก่ นมสดชนิดไม่พร่องมันเนย เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมันงา น้ำมันดอกทานตะวัน ธัญพืช และถั่ว
อีกส่วนคืออาหารที่มีโอเมก้า3 สูง ได้แก่ น้ำมันมะกอก ผักใบเขียว ไข่ น้ำมันตับปลา และปลา เป็นต้น
ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
“น้ำ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่น้ำเปล่าที่สะอาดเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง น้ำซุป น้ำผลไม้ และนมด้วยค่ะ เพราะช่วงนี้คุณแม่ต้องให้นมลูกและอาจมีความเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงลูก จะส่งผลให้คุณแม่อ่อนเพลียและกระหายน้ำได้ตลอดเวลา
เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ คุณแม่ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย3.8 ลิตร หรือ 1 แกลลอน ต่อวัน
กินอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
การกินอาหารให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการนั้น ไม่เพียงแค่ลดความหิวนะคะ แต่…เมื่อร่างกายเราอิ่มแล้ว ความรู้สึกอิ่มนี้จะมีผลไปเพิ่มในการหลั่งฮอร์โมนออกซีโทซิน ส่งผลให้มีการหลั่งปริมาณของน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
อาหารที่ควรงด
อาหารรสจัด
เพราะอาหารารสจัด อาจทำให้เกิดกรดหรือแก๊สในกระเพาะเยอะ จนทำให้คุณแม่ไม่สบายตัว ถ้าลูกน้อยกินนมแม่เข้าไปก็จะมีผลเช่นเดียวกัน
อาหารที่มีคาเฟอีน
ได้แก่ ชา กาแฟ ช็อคโกแลต และน้ำอัดลม เข้าใจค่ะว่าอาหารในกลุ่มนี้ บางชนิดก็เป็นของโปรดของคุณแม่ แต่…ถ้ากินเข้าไปคุณแม่อาจนอนไม่หลับ ลูกน้อยก็ไม่หลับด้วยน้า
ของหมักดอง
เพราะของหมักดองที่ว่าอร่อยๆ นี้ มีโซเดียมหรือเกลือในปริมาณที่มาก ส่งผลเสียต่อลูกน้อยทำให้อวัยวะภายในที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ต้องทำงานหนักเกินไป
แอลกอฮอล์
สำหรับแม่ให้นมลูกแอลกอฮอล์จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของลูก
อาหารดิบ
ได้แก่ ปลาดิบ ปลาแซลมอนดิบ ลาบก้อย ซกเล็ก ซาชิมิ เป็นต้น เพราะอาหารกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อลูกน้อยอันเกิดจากการปนเปื้อนของพยาธิ และแบคทีเรียได้
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณแม่มือใหม่หลายท่านอาจบ่นว่าอันนู้นก็ห้าม อันนี้ก็ห้าม แต่อยากให้คุณแม่คำนึงถึงร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยเองนะคะ อดทนรอจนกว่าเค้าหย่านมก่อน แรกๆ เราอาจจะรู้สึกว่าทำยากจัง แต่ผ่านไปซักระยะ คุณแม่ก็จะคุ้นชินได้เองค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ^^