“น้องริด” ถามหา เคสแบบนี้คงไม่มีใครอยากต้อนรับน้องคนนี้ใช่มั้ยคะ เพราะน้องริดที่ว่าคือ น้องริดสีดวงทวารนั่นเอง ก่อนหน้านี้แม่โน้ตเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับริดสีดวงทวารขณะตั้งครรภ์ แต่คราวนี้ถ้าน้องริดมาหลังคลอดล่ะ คุณแม่จะจัดการอย่างไรดี ต้องผ่าตัดมั้ย ไม่ต้องหาหมอได้หรือเปล่า
สารบัญ
ริดสีดวง
เนื่องจากในร่างกายของคนเรามีทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ ซึ่งบริเวณทวารหนักจะมีปริมาณของเส้นเลือดดำมารวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งริดสีดวงทวารคือ อาการอักเสบ บวมโป่งของเส้นเลือดที่ทวารหนัก และไม่สามารถเอากลับเข้าไปข้างในได้ด้วยการขมิบ ส่งผลให้เกิดอาการปวด
คราวนี้เมื่อคุณแม่ปวดท้องจะขับถ่าย เมื่ออุจจาระเคลื่อนมาที่ลำไส้ ผ่านก้อนริดสีดวง จึงเกิดการเสียดสีทำให้ถ่ายออกมามีเลือดปน
ริดสีดวง เกิดจากอะไร?
ริดสีดวงสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ เนื่องจากด้วยมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนไปกดทับส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ กะบังลม กระเพาะอาหาร ตลอดจนลำไส้ ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่สะดวก ตั้งแต่ระบบย่อยอาหารเรื่อยไปจนถึงระบบขับถ่าย ริดสีดวงทวารมีทั้งหมด 4 ระยะ ค่ะ ซึ่งบางระยะก็สามารถาหายเองได้ แต่บางระยะต้องอาศัยการผ่าตัด (ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ >> เป็นริดสีดวงตอนท้อง อันตรายไหม รับมืออย่างไร)
รักษาริดสีดวงทวารด้วยตนเอง
- ลงแช่ในน้ำอุ่นก่อนและหลังอุจจาระ ประมาณ 15 นาที สำหรับคุณแม่ที่มีการขับถ่ายเป็นเวลา การแช่น้ำอุ่นก่อนก็จะช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้นค่ะ ส่วนคุณแม่คนไหนที่ไม่ได้ขับถ่ายเป็นเวลาให้แช่หลังจากอุจจาระเสร็จแล้วก็ได้ค่ะ
- ใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร
- ปรับเรื่องโภชนาการอาหาร โดยเน้นการกินผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง
- ไม่ควรเบ่งอุจจาระ เพราะจะยิ่งทำให้อาการริดสีดวงทวารนั้นหนักมากขึ้น
- เลี่ยงการจับหรือการเกาที่ริดสีดวงทวาร
การรักษาริดสีดวงทวารทางการแพทย์
รักษาด้วยยา
ส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อประคับประคอง
การฉีดยา
ฉีดในจุดที่เป็นริดสีดวงทวาร เพื่อช่วยให้หลอดเลือดแข็งและเกิดการหดตัวลง
การรัดยาง
ฟังชื่ออาจดูน่ากลัว แต่ความจริงคือไม่เจ็บแต่อย่างใด แต่คุณแม่จะรู้สึกเหมือนปวดหน่วง ๆ เหมือนจะปวดท้องถ่าย ประมาณ 1 – 3 วัน ยางก็จะหลุด ซึ่งหลังจากหลุดไปแล้ว แผลตรงที่ยางรัดนั้นจะสมานกันเองค่ะ คุณแม่ต้องเสียเลือด และไม่ต้องเย็บแผลแต่อย่างใด
การผ่าตัด
การผ่าตัด แพทย์จะใช้เลเซอร์ อินฟาเรด ความเย็น หรือกระแสไฟ ทั้งนี้ หากดูอาการแล้วมีอาการเยอะ อาจต้องใช้การผ่าตัดแบบมาตรฐาน ซึ่งต้องมีการเย็บแผลและพักฟื้น หลังผ่าประมาณ 1 สัปดาห์
วิธีการป้องกันการเกิดริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวารสามารถป้องกันได้ ดังนี้
กินอาหารที่มีกากใยสูง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหาร โดยเน้นอาหารที่มีกากใยสูงสามารถลดอาการท้องผูก อันเป็นเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารได้ อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักใบเขียวต่าง ๆ อย่างผักคะน้า ผักโขม เป็นต้น หรือจะเป็นอาหารในกลุ่มของผลไม้ก็ได้ค่ะ เช่น ส้ม กล้วย และมะละกอ เป็นต้น
ดื่มน้ำในปริมาณที่มากเพียงพอ
ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอหรือในปริมาณที่ร่างกายต้องการ แบบนี้ก็จะช่วยให้ขับถ่ายคล่องขึ้นค่ะ
ความจริงแล้วร่างกายของแต่ละคนจะมีความต้องการปริมาณน้ำที่แตกต่างกันค่ะ ซึ่งมีวิธีการคำณวน ดังนี้ น้ำหนักตัว x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการ (มล.)
ยกตัวอย่าง
52 x 2.2 x 30/2 = 1,716 มล.
เลี่ยงการเบ่งอุจจาระ
คุณแม่ไม่ควรเบ่งอุจจาระ รวมถึงเลี่ยงการนั่งอุจจาระเป็นเวลานานนะคะ เพราะจะเสี่ยงต่อเส้นเลือดดำอักเสบบวมค่ะ
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เพราะการออกกำลังกาย หรือการที่คุณแม่พยายามเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้อุจจาระเคลื่อนตัวไปที่ลำไส้ ร่างกายก็จะส่งสัญญาณว่าต้องการขับถ่ายค่ะ
การที่มีคนมาเยี่ยมที่บ้านเป็นเรื่องดี แต่ไม่ดีแน่หากมีน้องริดมาหา เพราะฉะนั้น คุณแม่คนไหนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเป็นริดสีดวงทวาร ต้องรีบปรับพฤติกรรมตัวเองด่วน ๆ นะคะ ไม่งั้นน้องริดอาจถามหาได้ค่ะ