คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องการสำลักน้ำคร่ำมาบ้างแล้วใช่มั้ยคะ ซึ่งการสูดสำลักน้ำคร่ำที่มีขี้เทาปนนั้น นับเป็นกลุ่มอาการที่ผิดปกติของเด็กแรกเกิด เด็กจะสูดสำลักเอาน้ำคร่ำที่มีขี้เทาของตัวเองเข้าไปในขณะที่ยังอยู่ในท้องของคุณแม่ ปกติแล้วทารกควรถ่ายขี้เทาหลังคลอดแล้วประมาณ 18 – 24 ชั่วโมง แต่คำถามคือ สาเหตุเกิดจากอะไร? มีอันตรายแค่ไหน? รักษาอย่างไร? วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลจาก คุณหมอภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมาฝากค่ะ
“ขี้เทา” ถ้าจะพูดกันตามตรงก็คือ อุจจาระของทารกแรกเกิดนั่นเองค่ะ สามารถสร้างได้เองตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่ตั้งแต่ 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่ก็จะอยู่ในลำไส้ใหญ่ ขี้เทาจะมีลักษณะข้น เหนียว เขียวจนเกือบดำ (บางคนอาจเป็นสีดำเลยก็มี) ซึ่งถ้าขณะที่ทารกอยู่ในท้องไม่มีภาวะอะไรที่ผิดปกติ ขี้เทาก็จะยังไม่ถูกขับออกมาขณะเด็กอยู่ในท้อง แต่หากทารกบางรายที่เจอปัญหาขณะอยู่ในท้อง อาจทำให้ขี้เทาตัวนี้ถูกขับออกมาในน้ำคร่ำ ซึ่งประเทศไทยพบกรณีเช่นนี้ประมาณร้อยละ 12 – 13 จากสถิติของต่างประเทศ ส่วนอัตราที่พบว่าทารกสูดสำลักน้ำคร่ำที่มีขี้เทาปนนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ 5 – 10
Youtube : ลูกสำลักน้ำคร่ำที่มีขี้เทา (Meconium) ปน อันตรายแค่ไหน?
ทารกสำลักขี้เทาได้อย่างไร?
ทารกที่ถ่ายขี้เทาออกมาก่อนกำหนด (ขณะอยู่ในท้องคุณแม่) ส่วนใหญ่เกิดจาก…
- ภาวะรกเสื่อม
- ทารกขาดออกซิเจนตั้งแต่ในท้อง
- คุณแม่มีความดันโลหิตสูง
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- น้ำคร่ำน้อย
- คุณแม่ใช้สารเสพติด ส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความเครียด ซึ่งจะกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการทำงาน และขับถ่ายขี้เทาออกมาในน้ำคร่ำ
จะอันตรายแค่ไหน?
การสำลักน้ำคร่ำที่มีขี้เทาปนนี้ ส่วนใหญ่พบมากในทารกที่ใกล้คลอดหรือเกินกำหนด เพราะขี้เทามีลักษณะที่ข้นมากและเหนียว หากทารกสูดสำลักเอาน้ำคร่ำที่มีขี้เทาปนเข้าไปจะส่งผล…
ระบบการไหลเวียนเลือด
ระบบทางเดินหายใจ
ทารกจะหายใจเหนื่อย หอบ หายใจไม่สะดวก ลักษณะจะคล้ายอาการปอดอักเสบ เพราะขี้เทาจะเหนียวมาก หากทารกสูดสำลักเข้าไปในปอด ก็จะมีโอกาสอุดตันทางเดินหายใจ ยิ่งถ้าอุดเต็มที่อากาศไม่ผ่านเลย ปอดส่วนนั้นก็จะไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ แต่บางส่วนที่ไม่ได้อุดตัน 100% อากาศยังสามารถเข้าไปได้แต่ไม่สามารถออกได้ เหมือนกับการทำให้ปอดยิ่งโป่งพอง ปอดบางส่วนจึงแฟ่บ บางส่วนโป่ง จึงทำให้เนื้อเยื่อรอบข้างอักเสบ
การรักษา
เมื่อคุณหมอทราบว่าทารกมีการถ่ายขี้เทาปน เช่น มีน้ำเดิน หรือทราบในระหว่างทำการคลอด คุณหมอจะทำการช่วยเหลือโดยจะให้ออกซิเจน เมื่อทารกคลอดออกมาโดยสมบูรณ์ทั้งตัว และจะทำการดูดน้ำคร่ำที่ปนเปื้อนขี้เทา ซึ่งอาจค้างในช่องปากหรือลำคอของทารกออกด้วยสายยางหรือลูกยาง เพื่อไม่ให้มารกสำลักมากขึ้น เมื่อทารกคลอดออกมาเรียบร้อยแล้ว คุณหมอจะประเมินสภาพทารกอีกครั้งว่า มีการสูดสำลักขี้เทาเข้าไปหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน มีอาการหายใจผิดปกติเหนื่อยหอบหรือไม่ ซึ่งจะทำการเอ็กซเรย์รังสีปอด เพื่อทำการรักษาต่อไป
การป้องกันทารกสูดสำลักขี้เทา
ภาวะทารกสูดสำลักขี้เทาเข้าไปนั้น มีความเสี่ยงอันตราย และยังไม่มีวิธีป้องกันจากภาวะนี้ แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ ทันทีที่คุณแม่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งท้อง ควรไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้คุณหมอได้ดูแลตั้งแต่ระยะแรกของการท้อง เพื่อที่คุณหมอจะได้ช่วยวางแผนล่วงหน้าและจะได้รับการช่วยเหลือ ช่วยลดความรุนแรงของอาการได้
และที่สำคัญไม่แพ้กันคือการไปตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัดอย่างสม่ำเสมอนะคะ เพราะเมื่ออายุครรภ์ยิ่งมากขึ้น คุณแม่ยิ่งต้องดูแลตัวเองและลูกน้อยในท้องเป็นพิเศษ เพราะวันคลอดจะมีทั้งสูติแพทย์และกุมารแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นค่ะ
คุณแม่เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ต้องพยายามดูแลตัวเองให้ดีนะคะ โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นใกล้คลอด บางรายแม้คุณแม่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน เวลาท้องแก่น้ำตาลอาจขึ้นสูงได้ หรือไม่เคยเป็นความดันสูงมาก่อน ความดันก็อาจขึ้นสูงได้เช่นกัน ดังนั้น การปฏิบัติตัวตามที่พทย์แนะนำดีที่สุดค่ะ