ปัญหาผมร่วงหลังคลอดอาจเป็นปัญหาที่น่าตกใจของคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คน บางคนบอกว่าก็พอจะรู้เรื่องนี้มาเหมือนกันว่าแม่ลูกอ่อนมักจะผมร่วงเยอะ ขนาดทำใจไว้แล้วนะ แต่พอดูที่พื้น โอ้…พระเจ้าช่วย กล้วยทอด ทำไมมันช่างเยอะเยี่ยงนี้ แล้วก็พูดกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไรนะ แม่ผมร่วง เพราะลูกจำหน้าได้แล้ว” ว่าแต่มันจริงเท็จแค่ไหน? และมีวิธีรับมือได้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
สารบัญ
ลูกจำหน้าแม่ได้ตั้งแต่เมื่อไหร่
ความจริงแล้วลูกจำคุณแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแล้วค่ะ ขณะที่ลูกน้อยอยู่ในท้องคุณแม่ ลูกน้อยจะจำเสียงของคุณแม่ได้ คุ้นเคยกับจังหวะการเต้นของหัวใจคุณแม่ หลังจากคลอดออกมาลูกก็จะจำกลิ่นและจำสัมผัสของคุณแม่ได้
เมื่อลูกน้อยอายุได้ 3 – 5 เดือน ลูกก็จะเริ่มมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ชัดเจนขึ้น ลูกจะเริ่มมองหน้าคุณแม่ จำหน้าคุณแม่ได้ ซึ่งเป็นช่วงที่ผมคุณแม่เริ่มร่วงมากนั่นเองค่ะ
ช่วงที่น้องมินเริ่มจำหน้าแม่โน้ตได้ แม่โน้ตลองวางเขาที่เบาะนอนเล่น แล้วค่อย ๆ เดินช้า ๆ รอบตัวเขา เขาก็มองตามนะคะ มันเป็นความสุขเล็ก ๆ ดีใจที่ลูกเริ่มเห็นหน้าเรา และมองตาม รู้สึกเหมือนว่าเราเป็นแม่เหล็กตัวใหญ่ 555
ผมร่วงหลังคลอดอันตรายไหม แบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ
อาการผมร่วงหลังคลอดถือว่าไม่เป็นอันตรายและไม่ได้เกิดกับคุณแม่หลังคลอดทุกคนนะคะ และเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ช่วงที่ผมร่วงมาก ๆ นี้อาจกินระยะเวลานานประมาณ 6 – 12 เดือนหลังคลอด ซึ่ง ถ้าหลังจากนี้คุณแม่ยังพบว่าผมยังร่วงมากอยู่โดยที่ร่วงต่อเนื่องเกินกว่าวันละ 30 – 50 เส้น นานกว่า 12 เดือนแล้ว สิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่อาจมีความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้นได้ อาทิ โรคโลหิตจาง หรือโรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เป็นต้น แบบนี้ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ
ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงหลังคลอด
ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คุณแม่มีอาการผมร่วงหลังคลอดเป็นจำนวนมาก มีดังนี้ ค่ะ
ภาวะความเครียด
คุณแม่หลังคลอดอาจเกิดภาวะความเครียดได้ หรือที่หลาย ๆ คนพอจะเคยได้ยินมาบ้างว่าคุณแม่หลังคลอดมักมีภาวะซึมเศร้า ภาวะความเครียดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ เช่น ความเครียดอันเกิดจากกลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี กลัวน้ำนมไม่พอ หากลูกร้องบ่อย ๆ ไม่รู้ว่าจะรับมือกับลูกได้ไหม เป็นต้น ซึ่งความเครียดนี้จะผลโดยตรงกับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ค่ะ อาจมีการหยุดทำงานโดยไม่จำเป็น ยกตัวอย่างได้จากอาการผมร่วงที่ร่างกายจะหยุการสร้างผมใหม่เอาไว้ก่อน จึงทำให้เมื่อผมร่วงแล้วไม่มีผมใหม่ขึ้นมา
ภาวะไข้สูง
ร่างกายอยู่ในภาวะเจ็บป่วย หลังจากมีไข้ 30 – 40 องศาเซลเซียส ก่อนจะมีผมร่วง 60 – 120 วัน เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก หรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น อาการผมร่วงมากที่เกิดขึ้นนั้น อาจเป็นผลโดยตรงมาจากภาวะดังกล่าวนี้ หรืออาจจะมาจากยาที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยดังกล่าว
ภาวะโภชนาการบกพร่อง
ในระยะตั้งครรภ์ คุณแม่อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ กินอาหารน้อยเกินไป หรือไปลดอาหารบางประเภทที่มีสารอาหารจำพวก วิตามินบี 3, บี 5, บี 6, บี 7 (ไบโอติน), ธาตุเหล็ก และสังกะสี เมื่อแม่ท้องขาดสารอาหารเหล่านี้จึงส่งผลให้ผมร่วงมาก
กินยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม อาจส่งผลให้คุณแม่ผมร่วงได้เช่นกัน โดยเฉพาะคุณแม่ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยมากแล้วอาการผมร่วงจะเกิดขึ้นในช่วงระยะ 3 เดือนแรกหลังจากใช้ยาคุมกำเนิด แต่หลังจากที่หยุดยาคุมแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะหยุดร่วงทันที อาจกินระยะเวลาประมาณ 2 – 3 เดือน อาการผมร่วงถึงลดลงและหยุดร่วงในที่สุด
สระผมบ่อยเกินไป
การสระผมบ่อยเกินไปจะส่งผลให้หนังศีรษะแห้ง จนทำให้มีอาการคันศีรษะ ระคายเคืองจนเกิดเป็นรังแคตามมา และผมร่วง
ทำสีผม ยืดผม ดัดผม
การทำผมในลักษณะนี้ล้วนแต่ต้องอาศัยสารเคมีทั้งสิ้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อหนังศีรษะ เนื่องจากสารเคมีจะซึมเข้าสู่โคนผม ทำให้เกิดอาการคันและผมร่วงตามมา
วิธีรับมือและป้องกันอาการผมร่วง
กินแต่อาหารที่มีประโยชน์
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นสารอาหารประเภทธาตุเหล็ก สังกะสี และวิตามินบีสูง
ไม่เครียดหรือกังวลมากเกินไป
เข้าใจค่ะว่าคุณแม่มือใหม่ทุกคนจะมีความกังวลเกิดขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง หากเมื่อใดก็ตามที่คุณแม่เริ่มรู้สึกกังวล ให้เบนเข็มตัวเองไปหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ วาดรูป หรือหางานอดิเรกทำ หรือฝากคุณพ่อหรือผู้อื่นมาช่วยเลี้ยงลูกในช่วงเวลาสั้น ๆ
หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด
ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด ถือเป็นช่วงที่คุมกำเนิดโดยธรรมชาติและมีประสิทธิภาพสูงกว่า 98% ดังนั้น ช่วงนี้คุณแม่ควรเลี่ยงการใช้ยาคุมก่อนนะคะ หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่นแทน
สระผมให้ถูกวิธี
ควรสระผมวันเว้นวัน และใช้แชมพูที่อ่อนโยน ในขณะที่สระผมนั้นไม่ควรเกาศีรษะแรง ๆ แต่ควรใช้นิ้วมือนวดเบา ๆ เป็นการกระตุ้นเส้นเลือดบนหนังศีรษะ เพิ่มการไหลเวียนเลือดที่รูขุมขนได้ หลังจากนั้นควรปล่อยให้ผมแห้งโดยธรรมชาติ ไม่ควรใช้ไดร์เป่า เนื่องจากถ้าหนังศีรษะโดนความร้อนก็จะทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน
เลี่ยงการทำสีผม ดัดผม ย้อมผม
อดทนไว้สักหน่อยก่อนค่ะ เพราะสารเคมีส่งผลกระทบโดยตรงต่อหนังศีรษะ ทำให้ผมร่วงได้มากกว่าปกติค่ะ
การหยุดอาการผมร่วงหลังคลอดนั้นต้องใช้เวลาค่ะ เพราะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ที่สำคัญ คุณแม่ไม่ต้องเครียดหรือกังวลมากไปนะคะ เพราะจะทำให้การเลี้ยงลูกน้อยไม่มีความสุข เมื่อคุณแม่ไม่มีความสุข ลูกน้อยก็จะไม่มีความสุขไปด้วยนะคะ