แรกเริ่มเดิมที คุณแม่หลายๆ ท่านคงเลือกที่จะคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ แต่…อาจจะมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าบางอย่างส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติได้ คุณหมอจึงต้องตัดสินใจทำการคลอดด้วยวิธีผ่าแทนโดยยึดถือเรื่องความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกเป็นหลัก
เมื่อคุณแม่ต้องใช้วิธีการผ่าคลอด จะมีวิธีดูแลรักษาแผลอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ หรืออาการอย่างไรที่คุณแม่ควรรีบไปพบคุณหมอ เราไปไล่เรียงดูกันทีละข้อเลยค่ะ
สารบัญ
ลักษณะของแผลผ่าคลอด
แผลผ่าคลอดสามารถทำได้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้ค่ะ
การผ่าคลอดแนวตั้ง
โดยทั่วไปการผ่าคลอดนั้นต้องผ่าลงไปถึง 7 ชั้น โดยเริ่มจากผ่าตัดเนื้อผ่านชั้นผิวหนัง ถัดไปจะเป็นชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ต่อมาคือชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มชั้นท้อง ผนังเยื่อหุ้มมดลูก และชั้นสุดท้ายคือ กล้ามเนื้อชั้นมดลูก
การผ่าคลอดแนวตั้งจะเริ่มผ่าตั้งแต่ใต้สะดือลงมาถึงหัวหน่าวประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งการผ่าคลอดแนวตั้งนี้จะทำให้การเข้าถึงช่องท้องได้ง่าย และที่สำคัญจะช่วยให้แหวกกล้ามเนื้อได้โดยไม่ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด
ข้อดี การผ่าคลอดแนวตั้ง
- เป็นแนวการผ่าคลอดที่มาตรฐานที่สามารถผ่าตัดอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้องได้อีกด้วย
- ใช้เวลาในการเข้าถึงช่องท้องได้เร็ว เหมาะกับกรณีที่ต้องทำการผ่าตัดทำคลอดอย่างเร่งด่วน
- หากมีกรณีจำเป็น สามารถขยายแผลได้ง่ายกว่า
- ช่วยให้ทารกคลอดออกมาง่ายกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ทารกอยู่ผิดท่า หรือมีตัวใหญ่มากกว่าปกติ
- พบภาวการณ์แทรกซ้อนจากแผลผ่าตัดได้น้อยกว่า อาทิ ก้อนเลือดในผนังหน้าท้อง
ข้อเสีย การผ่าคลอดแนวตั้ง
- จะเจ็บแผลผ่าตัดมากกว่า เหตุจากบาดแผลอยู่ในแนวตั้ง ทำให้จะลุกจะนั่งลำบาก
- การฟื้นตัวทำให้ช้ากว่า
- มีแผลเป็นมากกว่า
- จะเห็นรอยแผลได้ชัดเจน ไม่สามารถใส่เสื้อแบบเปิดพุงได้
การผ่าคลอดแนวนอน หรือบิกินีไลน์
ถ้าเทียบกับข้อแรกแล้ว ข้อนี้จะดีตรงที่ว่ามีแผลเป็นน้อยกว่า เจ็บน้อยกว่า เนื่องจากหลังคลอด หน้าท้องของคุณแม่จะมีความหย่อนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแพทย์จึงเลือกที่จะเปิดผิวหนังให้เข้าไปข้างใน เมื่อถึงชั้นของกล้ามเนื้อก็จะเปลี่ยนไปเป็นผ่าแบบแนวตั้งเหมือนวิธีปกติ วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ช้ำ และแผลเป็นบนผิวหนังจะสวยกว่าแบบแนวตั้ง
ข้อดี การผ่าคลอดแนวนอน หรือบิกินีไลน์
- เจ็บแผลน้อยกว่า เพราะรอยแผลผ่าที่เป็นแนวนอนนั้นจะนอนไปตามรอยพับของหน้าท้อง ทำให้เวลาที่ลุกหรือจะนั่งก็จะเจ็บน้อยกว่า
- แผลเป็นก็จะน้อยกว่า เพราะรอยแผลจะอยู่ตามแนวรอยพับของหน้าท้องพอดี
- สามารถซ่อนแผลได้ ปิดบังแผลได้ดี สามารถใส่เสื้อผ้าเปิดพุงได้
ข้อเสีย การผ่าคลอดแนวนอน หรือบิกินีไลน์
- ใช้เวลาในการเข้าถึงหน้าท้องนานกว่า เหมาะกับการผ่าตัดทำคลอดที่ไม่เร่งด่วนมากนัก
- การผ่าคลอดแนวนี้จะทำให้ยากกว่า โดยเฉพาะกรณีที่คุณแม่มีพังผืดในช่องท้อง
- ช่วยคลอดทารกได้ยากกว่า เนื่องจากตำแหน่งของรอยแผลนั้นต่ำ อาจต้องเพิ่มอุปกรณ์ช่วยทำคลอด
- หากต้องทำการผ่าตัดตำแหน่งอื่นในช่องท้องก็จะทำได้ยากกว่า
ทั้งนี้ อาจมีคุณแม่บางท่านอาจมีแผลนูนแดง (คีลอยด์) ได้ “แผลผ่าคลอดนูนแดง (คีลอยด์) แก้ไขได้ไหม ทำอย่างไรให้ยุบลง”
อาการแบบนี้ควรพบแพทย์
- หากคุณแม่พบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวนี้ ควรไปพบคุณหมอทันทีค่ะ
- มีอาการเจ็บบริเวณแผลหรือมดลูกมากขึ้น
- มีรอยแดง บวม หรือแสบร้อนที่แผล
- มีหนองที่แผล (ไม่ว่าจะไหลหรือไม่ไหลออกมาก็ตาม)
- ตกขาวมีกลิ่นน้ำคาวปลา
- มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือ มีลิ่มเลือดออกมามาก
- ขาบวมหรือเจ็บขา
- มีไข้ขึ้นมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
ดูแลแผลผ่าคลอดอย่างไร?
หลังคลอด คุณหมอจะดูแลแผลผ่าตัดให้เรียบร้อย แต่จากนี้ไปคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีที่จะดูแลแผลผ่าและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ดังนี้ค่ะ
- ไม่ยกของหนักในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด
- ล้างมือก่อนสัมผัสแผลทุกครั้ง
- ควรทำการล้างแผลและทำความสะอาดผิวบริเวณโดยรอบแผลอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผิวบริเวณเชิงกราน
- หากมีปลายไหมโผล่ออกมา ไม่ควรดึงเอง แต่ควรแจ้งคุณหมอทันที เพื่อเล็มปลายไหม ป้องกันไม่ให้ไหมเกี่ยวเสื้อผ้า ทำให้ระคายเคืองแผลได้
- ไม่อาบน้ำแบบในอ่าง ควรเปลี่ยนเป็นอาบจากฝักบัวแทน
- ใช้สบู่อาบน้ำที่มีฤทธิ์อ่อน ไม่ถูสบู่หรือทาแป้งลงบนแผลโดยตรง
- ซับแผลให้แห้งด้วยผ้าขนหนูสะอาดทุกครั้ง
- สวมเสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่หลวม ไม่รัดหรือเสียดสีกับแผล
- ปรึกษาคุณหมอก่อนทุกครั้ง หากจะใช้ยาเพื่อรักษาแผลผ่า
- ควรเช็ดบริเวณเหนือแผลให้แห้งอยู่เสมอ ป้องกันการอับชื้นของเหงื่อ
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หรือเกิดรอยแดงที่แผล ควรพบคุณหมอทันที เพราะแผลอาจติดเชื้อได้
วิธีการดูแลแผลผ่าคลอดไม่ให้ติดเชื้อ
นอกจากการดูแลแผลอย่างเคร่งครัดแล้ว คุณแม่ยังต้องใส่ใจเรื่องการป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้ออีกด้วยนะคะ ทำอย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
- ก่อนกลับมาพักฟื้นที่บ้าน คุณแม่ควรสอบถามเรื่องการดูแลแผลจากคุณหมอให้เข้าใจเสียก่อน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- หากต้องทานยาปฏิชีวนะ ควรทานจนหมด ไม่ควรหยุดยาเองหรือลดปริมาณโดยไม่ผ่านการวินิจฉัยของคุณหมอ
- ทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าพันแผลอย่างสม่ำเสมอ
- เพราะคุณแม่ต้องให้นมลูก ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอว่ามีท่าไหนบ้างที่จะสามารถอุ้มให้นมลูกได้โดยไม่ไปกดทับที่แผลขณะให้นม
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น เพราะจะทำให้เสียดสีกับแผลได้
- หากมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ให้ทำการตรวจวัดไข้ทันที
- หากสงสัยว่าแผลอาจมีการติดเชื้อ ให้รีบไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที
ทั้งนี้ ทั้งนั้น คุณแม่หลังคลอดที่มีแผลผ่าตัด เมื่อหมดฤทธิ์ยาชาแล้วอาจจะมีอาการเจ็บหรือปวดแผลเป็นระยะ ซึ่งคุณหมอจะให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดของคุณแม่ แต่ที่สำคัญ คุณแม่ควรลุกเดินบ้าง เพื่อไม่ให้แผลติดเป็นพังผืด อาจจะเจ็บแผลบ้างแต่ก็จะฟื้นตัวและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เร็วมากขึ้น อย่าลืมนะคะ เมื่อคุณแม่กลับบ้าน ยังมีลูกน้อยอีก 1 ชีวิตที่คุณแม่ต้องดูแล สู้ๆ นะคะ