เมื่อพูดถึงหน้าอกหน้าใจ บอกได้เลยว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ก็อยากมีให้สมส่วน ให้ดูดี เพื่อเพิ่มความมั่นใจกันทั้งนั้น แต่…จะทำอย่างไรดีล่ะ เมื่อเกิดความลังเลและเกิดคำถามขึ้นในใจ “ถ้ามีลูกแล้วจะให้นมลูกได้มั้ย? จะยานหรือเปล่า? น้ำนมจะน้อยหรือเปล่า?” บลาบลาบลา
อย่ามัวแต่นั่งสงสัย ลังเลเลยค่ะ ไปไขข้อข้องใจกันเลยดีกว่า
สารบัญ
ทำหน้าอกมามีผลต่อการผลิตน้ำนมมั้ย?
ก่อนจะไปเรื่องการผลิตน้ำนม เรามาทำความเข้าใจกันเรื่องการทำหน้าอกกันก่อนนะคะ การทำหน้าอกในที่นี้หมายรวม การปรับแต่งที่ทำให้เล็กลงและใหญ่ขึ้น
ทีนี้ประเด็นที่ว่าจะมีผลต่อการผลิตน้ำนมมั้ย ข้อนี้จะเป็นเรื่องของ “การตัดท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม และเส้นประสาท” เพราะหากคุณหมอได้ตัดส่วนดังกล่าวออก อาจมีผลต่อกลไกธรรมชาติที่ทำให้น้ำนมพุ่งที่จะขาดหายไป การส่งกระแสประสาทที่จะทำให้เกิดการสร้างน้ำนมก็จะลดลงหรืออาจหายไปได้ กลับกันหากทุกอย่างตามข้างต้นยังอยู่ดีก็ไม่มีผลกระทบค่ะ ที่สำคัญ ยังสามารถใช้หลักการ4 ดูดได้เหมือนเดิม คือ ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี และดูดเกลี้ยงเต้า เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้น้ำนมคุณแม่ผลิตได้เยอะเหมือนปกติค่ะ
วิธีการเสริมเต้านม
การเสริมเต้านมโดยส่วนใหญ่อาจทำได้โดยการสอดถุงน้ำเกลือหรือถุงซิลิโคนเข้าไปใต้เต้านม ปัจจุบันนิยมผ่าตัดและสอดเข้าทางรักแร้หรือบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ต้องอาศัยการตัดแต่งบริเวณหัวนม ซึ่งกลุ่มนี้มักไม่มีปัญหาเรื่องการให้นมหรือการผลิตน้ำนมค่ะ แต่อาจจะแตกต่างจากกลุ่มที่มาผ่าตัดเพื่อลดขนาดเต้านม ที่ส่วนใหญ่มักมีการตัดแต่งบริเวณหัวนมด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเสริมหรือลดขนาดหน้าอกก็จะขึ้นอยู่กับรูปร่าง สรีระของผู้ที่ต้องการทำหน้าอก รวมไปถึงเทคนิคของคุณหมอแต่ละท่านที่จะมีความแตกต่างกันไป ดังนั้น หากท่านใดที่ต้องการทำหน้าอกแต่ก็ยังกังวลกับเรื่องการให้นมลูก ก่อนตัดสินใจผ่าตัด ควรปรึกษาและแจ้งคุณหมอด้วยนะคะ เพื่อร่วมกันในการวางแผนผ่าตัดได้อย่างถูกต้องและถูกใจค่ะ
ให้นมลูก…หน้าอกที่ทำมาจะเบี้ยวหรือจะยานมั้ย?
สำหรับคนที่ยังไม่ได้ทำหน้าอก แต่มีลูกแล้ว ลูกโตแล้วไม่ได้ให้นมลูกอีก ถ้าจะทำหน้าอกก็ทำได้ค่ะ แต่…คำถามคือ ถ้าทำมาแล้วล่ะ? จะให้นมลูก นมจะเปลี่ยนทรง จะยาน หรือเบี้ยวมั้ย?
โดยทั่วไปคุณหมอมักจะแนะนำว่า หลังจากการให้นมลูกแล้ว หน้าอกอาจมีการเปลี่ยนรูปทรงได้อีก ซึ่งถ้าอยากจะให้ดูดี ต้องมีการแก้ไข
หากทำแล้ว…จะมีน้ำนมเพียงพอให้ลูกกินมั้ย?
จากหลายๆ กรณีที่ผ่านมา พบว่า คุณแม่ที่ทำการเสริมหน้าอกมานั้น ก็สามารถเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ได้ดีและไม่ต่างไปจากคุณแม่ที่ไม่ได้เสริมหน้าอก จะมีเพียงบางรายเท่านั้นมีอาจมีอาการชาหรือหมดความรู้สึกที่บริเวณลานนมหรือหัวนม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูอาการดังกล่าวนี้ประมาณ 6 เดือนหลังผ่าตัด แต่ในบางรายอาจใช้เวลานานกว่านั้น คือประมาณ 2 ปี (แล้วแต่คน แล้วแต่กรณี)
บางรายที่ผ่านการผ่าตัดมาอาจเกิดความไม่มั่นใจว่าจะมีผลต่อการผลิตน้ำนมหรือไม่ ให้พิจารณาจากข้อที่จะแนะนำต่อไปนี้เป็นหลักค่ะ
- สังเกตสุขภาพลูกเป็นหลัก เช่น กินอิ่ม นอนหลับได้นาน ไม่ร้องงอแงบ่อย การปัสสาวะ หรือแม้แต่ในเรื่องของการขับถ่าย
- ยึดหลัก 4 ดูด คือ ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี และดูดเกลี้ยง
- สวมเสื้อชั้นในที่มีโครงรองทรง โดยไม่ควรหลวมหรือรัดเกินไป เพื่อประคองเต้านมไว้เสมอ
- พยายามเลี่ยงการดึงรั้งที่หัวนม เช่น หากลูกหลับคาเต้า อย่าพยายามดึงหัวนมออกจากปากลูก เป็นต้น
- ดูแลเรื่องโภชนาการของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ เช่น การทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ การออกกำลังกาย รวมไปถึงการทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ
- ก่อนให้ลูกเข้าเต้า คุณแม่อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบที่เต้านมนม ยกเว้นที่หัวนม เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมได้อีกทางหนึ่ง