สำหรับคุณแม่ที่ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือเก่า สิ่งสำคัญที่ต้องหมั่นใส่ใจคือ อาการครรภ์ที่ผิดปกติ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าถ้ามีอาการอะไรก็ตามที่คุณแม่รู้สึกว่าไม่น่าจะส่งผลดีต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยแล้วล่ะก็ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ด่วนค่ะ อย่าเพิ่งคิดว่า “เรื่องเล็กน้อยน่ะ เดี๋ยวค่อยไปก็ได้” แบบนี้คิดผิดถนัดเลย เพราะเรื่องเล็กที่ถูกทิ้งไว้อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สายเกินแก้ได้
สารบัญ
ฝากครรภ์
ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ แนะนำให้คุณแม่ฝากครรภ์ค่ะ ยิ่งเร็วยิ่งดี หรือไม่ควรเกิน 3 เดือนนับจากวันที่ประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อให้การตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอดนั้นได้อยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์ ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น คุณแม่ต้องเจอกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายอีกมากมายทีเดียว อาจจะมีโรคแทรกซ้อน หรืออาจจะไม่มีก็ได้ ซึ่งถ้ามีแพทย์คอยดูแลอยู่ก็จะช่วยลดความกังวลให้คุณแม่ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เมื่อคุณแม่อารมณ์ดีก็ส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์อีกด้วยนะคะ
โน้ตเองเป็นความดันโลหิตสูงตั้งแต่ก่อนมีลูก ช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่เดือนแรก – เดือนที่ 7 ทุกอย่างอยู่ในการควบคุมหมด แต่พอเข้าวันแรกของเดือนที่ 7 ปั๊บ มีอาการครรภ์เป็นพิษเลยค่ะ เพราะยาควบคุมความดันเอาไม่อยู่ แต่โชคดีที่ฝากพิเศษกับคุณหมอ จึงรอดได้ทั้งแม่ทั้งลูก
9 อาการครรภ์ ผิดปกติ ที่ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน
อาการแพ้ท้อง
ข้อนี้คุณแม่บางคนแพ้น้อย บางคนไม่แพ้เลย และในขณะที่บางคนแพ้ท้องเอามาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีแก้อาการแพ้ท้องอย่างง่าย คือ จิบน้ำขิงอุ่น ๆ แบบไม่หวานนะคะ พยายามนอนพักผ่อนให้เพียงพอ แบ่งอาหารทานในปริมาณที่น้อยในแต่ละมื้อ แต่ทานวันละ 5 – 6 มื้อ ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าเด็ดขาด ซึ่งถ้าหากคุณแม่อาการแพ้ท้องมาก แพทย์จะจ่ายยาที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องให้ค่ะ แต่เป็นที่ไม่ส่งผลอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ค่ะ
อาการแน่นท้อง หรือท้องอืด
ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีอาการท้องอืด แน่นท้อง การย่อยอาหารไม่ค่อยดี กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวได้น้อยลง โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์มากขึ้น นั่นเป็นเพราะลำไส้และกระเพาะถูกเบียดจึงทำให้การทำงานเป็นไปได้ไม่ดีเท่าทีควร ดังนั้น คุณแม่จึงต้องสังเกตตัวเองและปรับพฤติกรรมการกิน เลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส อาทิ ถั่ว ของดอง น้ำอัดลม แต่ควรทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการ พร้อมกับออกกำลังกายเบา ๆ เรียกว่าพอให้ร่างกายได้ยืดเส้นยืดสาย คลายเมื่อย อาทิ เดินเล่นที่สวนสาธารณะ สูดอากาศบริสุทธิ์ หรือโยคะแบบเบา ๆ ที่สำคัญ
ปวดศีรษะบ่อย ตาพร่ามัว
อาการปวดศีรษะนั้นมักมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนของฮอร์โมนในร่างกายที่สูงมากจึงทำให้คุณแม่มีอาการปวดศีรษะได้บ่อย ๆ แต่อีกนัยหนึ่งอาการปวดศีรษะก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่อาจจะมีโอกาสเข้าสู่ “ภาวะครรภ์เป็นพิษ” ซึ่งลักษณะการปวดศีรษะนั้นจะปวดบริเวณขมับ ปวดร้าวไปที่หน้าผาก และมักจะมีอาการตาพร่ามัวร่วมด้วย
หนึ่งวันก่อนที่โน้ตจะผ่าคลอดก่อนกำหนด อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแผลงฤทธิ์ค่ะ คือ มีอาการจุกลิ้นปี เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว มองเห็นแสงไฟเป็นแฉกดาว พอวันรุ่งขึ้นแพทย์ก็ตัดสินใจผ่าคลอดเลยค่ะ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ทั้งแม่ทั้งลูก
อาการตกขาวที่ผิดปกติ
ปกติแล้วตกขาวจะมีลักษณะใส ๆ เป็นมูก แต่ถ้าคุณแม่พบว่าตกขาวนั้นมีสีเขียว มีเลือดปน มีกลิ่น หรือมีอาการคัน ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ
ปวดหลัง ปวดท้องร้าวไปถึงก้นกบ
คุณแม่ที่มีอาการดังกล่าวนี้ พร้อมกับมีอาการน้ำเดิน หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดก่อนถึงสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ค่ะ เพราะนี่คือสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด
เส้นเลือดขอด
อาการนี้เกิดจากการที่เลือดมีการไหลเวียนได้ช้า ดังนั้น คุณแม่ท้องไม่ควรยืน เดิน หรือนั่งห้อยเท้าเป็นระยะเวลานาน ๆ ขณะที่นอนควรให้หาหมอนรองเท้าเพื่อให้เท้าสูงขึ้น แต่ถ้าอาการนี้ยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ
ตัวบวม แขนบวม ขาบวม
อาการบวมโดยเฉพาะบริเวณหลังเท้าที่มีไม่มากนักก็อาจจะไม่ค่อยผิดปกติเท่าไหร่ เพราะอาจเกิดจากการที่ต้องเดินหรือยืนเป็นเวลานาน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามมีอาการหน้าบวม ข้อเท้าบวม มือทั้งสองข้างบวม กดแล้วบุ๋มค้าง เหล่านี้เป็นสัญญาณของอาการครรภ์เป็นพิษค่ะ
มีเหงื่อออกมาก กระหายน้ำบ่อย
ขณะที่คุณแม่ท้องของเหลวในร่างกายจะถูกถ่ายเทไปยังลูกน้อยในครรภ์จึงทำให้คุณแม่รู้สึกกระหายน้ำตลอดเวลา แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามคุณแม่มีอาการเหงื่อออกมาผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณที่บอกคุณแม่ว่าคุณแม่อาจเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ค่ะ
แต่เมื่อไหร่ที่รู้สึกกระหายน้ำผิดปกติและมีเหงื่อออกมาก อาจสันนิษฐานได้ว่า…คุณแม่ตกอยู่ในช่วงภาวะของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
Paolohospital.com
การดิ้นของลูกในครรภ์ผิดปกติ
ปกติแล้วทารกจะเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 28 คุณแม่ก็จะรู้สึกได้มากขึ้น ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ค่ะว่าวันนี้ลูกดิ้นน้อยหรือไม่ดิ้นเลย ถ้าเป็นแบบนี้ ปรึกษาแพทย์ด่วนค่ะ
ระยะเวลากว่า 9 เดือน ที่คุณแม่ต้องอุ้มท้อง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น อย่าลืมหมั่นสังเกตตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ด้วยนะคะ หากมีอะไรที่ไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ