“ยาลดกรด” หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นยาที่ช่วยคืนความสมดุลให้กับกระเพาะอาหารนั่นเอง ซึ่งอาการที่อาหารไม่ย่อย หรือย่อยยากนั้น เป็นเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมดลูกขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งจะไปเบียดอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงกระเพาะและลำไส้ ส่งผลให้คุณแม่ท้องเกิดอาการอาหารไม่ย่อยหรือย่อยช้า แล้วคนท้องกินยาลดกรดได้ไหม ไปติดตามกันค่ะ
สารบัญ
หลักการทำงานของยาลดกรด
ด้วยหน้าที่ของกระเพาะอาหารนั้น คือจะย่อยอาหารและส่งต่อไปยังลำไส้ เพื่อลำไส้จะได้นำสารอาหารไปใช้กับร่างกาย แต่ในบางครั้งอาจเกิดความไม่สมดุลในกระเพาะอาหารทำให้เกิดกรดเกิน จึงทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ยาลดกรดจึงเป็นตัวที่ช่วยคืนความสมดุลในกระเพาะอาหาร ซึ่งยาลดกรดสามารถบรรเทาอาการดังต่อไปนี้
- กรณีที่อาหารไม่ย่อย
- มีอาหารแสบร้อนกลางหน้าอก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “อาการกรดไหลย้อน” Gastroesophageal Reflux Disease: (GERD)
- รักษาการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร
- รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
วิธีรับมือกรดไหลย้อนในแม่ท้อง
ในแม่ท้องมักจะมีอาการที่อาหารไม่ย่อยและเกิดอาการกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากมดลูกที่มีขนาดที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไปเบียดกับอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายโดยเฉพาะกระเพาะและลำไส้ ส่งผลให้การย่อยทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งวิธีการรับมือกับอาการดังกล่าว มีดังนี้
- หลังจากมื้ออาหาร ควรเดินช้า ๆ นั่ง หรือยืน อย่างน้อย 1 ชั่วโมง แล้วค่อยเอนตัวนอน
- ระหว่างการนอนให้ใช้หมอนหนุนมาดุนหลังไว้ เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร ป้องกันกรดไหลย้อน
- การนอนควรนอนตะแคงซ้าย เนื่องจากหลอดอาหารจะอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร
- สวมเสื้อผ้าที่สบายไม่รัดแน่นจนเกินไป
- รักษา หรือควบคุมน้ำหนักตัวของคุณแม่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนได้
- เลี่ยงอาหารที่ยิ่งส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวมาก ๆ รวมไปถึงน้ำอัดลม และคาแฟอีน
- เลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของมิ้นท์ เนื่องจากมิ้นท์จะทำให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบมากขึ้น
- แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่กินบ่อย เฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 6 มื้อ ต่อวัน เพื่อให้กระเพาะไม่ต้องทำงานหนักเกินไป
- กินโยเกิร์ตหรือดื่มนม หากมีอาการ เครื่องดื่มประเภทนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกได้
คนท้องกินยาลดกรดได้ไหม
ยาลดกรดส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์หรือคุณแม่ที่ให้นมบุตร แต่อย่างไรก็ตามยังมียาลดกรดบางส่วนที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ เสี่ยงแท้งได้ ดังนั้น ก่อนการกินทุกครั้งควรขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
ยาลดกรดที่ปลอดภัยสำหรับแม่ท้อง
ยาลดกรดที่ปลอดภัยต่อแม่ท้อง ได้แก่
แคลเซียมคาร์บอเนต
ยาชนิดนี้สามารถใช้ในคุณแม่ท้องได้ ซึ่งยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงในคุณแม่ตั้งครรภ์
แมกนีเซียม
ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียม ค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ยาลดกรดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับแม่ท้อง
ยาลดกรดที่ไม่ปลอดภัย และควรเลี่ยงสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่
โซเดียมไบคาร์บอเนต
โซเดียมคาร์บอเนตเป็นยาลดกรดที่นำไปสู่การเก็บกักน้ำในร่างกาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของโซเดียมอยู่แล้ว เมื่อผนวกกับหญิงที่ตั้งครรภ์จะมีภาวะบวมน้ำตามร่างกาย และตามข้ออยู่แล้ว หากกินยาชนิดนี้เข้าไป จะยิ่งทำให้ร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นบวมน้ำมากขึ้น
อลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์
เดิมทีร่างกายของคุณแม่ท้องจะมีอาการท้องผูกอยู่แล้ว ซึ่งหากรับยาลดกรดชนิดนี้เข้าไปอีก ก็จะยิ่งส่งผลให้คุณแม่มีอาการท้องผูกมากขึ้น และที่สำคัญ คือ หากมีการกินอลูมิเนียมอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลเสียต่อลูกน้อย คือ เสี่ยงแท้งได้
คนท้องกับอาการของอาหารไม่ย่อย หรือกรดไหลย้อนนั้นเป็นของคู่กัน เป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะลูกน้อยเติบโตขึ้นทุกวัน มดลูกจึงเบียดกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย การดูแลตัวเองด้วยการแบ่งมื้ออาหารให้เป็นมื้อเล็ก พร้อมกับเดินออกกำลังกายช้า ๆ ควบคู่ไปด้วยจะส่งผลให้กระเพาะอาหารทำงานไม่หนักเกินไป เมื่อไหร่ที่คุณแม่หิว ก็ค่อยกินในมื้อถัดไป แบบนี้ก็จะช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องพึ่งยาลดกรดอีกด้วยค่ะ
อ้างอิง parenting.firstcry.com, mamabeyond.com