ผู้หญิงเราเมื่อมีครอบครัว ส่วนใหญ่แล้วก็อยากมีลูกแต่…ตัวเองมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนอย่างโรคเบาหวานหากปล่อยให้ตั้งครรภ์ด้วยแถมยังมีโรคประจำตัวอยู่ด้วย ว่าที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือให้ดีนะคะว่าแต่จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? มีอะไรที่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ? ไปดูกันค่ะ
สารบัญ
เป็นเบาหวานด้วย ตั้งครรภ์ด้วย
เมื่อคุณแม่มีโรคเบาหวานเป็นโรคประตัวอยู่ก่อน แต่ก็ตั้งครรภ์อยู่ จริงๆ แล้ว หากคุณแม่รู้ตัวอยู่แล้วว่ามีโรคประจำตัว ควรปรึกษาคุณหมอและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และเป็นอันตรายต่อว่าที่คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
ทั่วโปแล้ว แม้คุณแม่จะสามารถคลอดลูกที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ แต่หากควบคุมอาการป่วยไม่ดี โรคเบาหวานอาจทำให้เกิดความเสี่ยง มีปัญหาสุขภาพและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ อาทิ แท้งลูก ลูกพิการ หรือลูกตัวใหญ่เกินมาตรฐาน
ความเสี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน รวมถึงลูกในครรภ์
ความเสี่ยงที่มีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
คุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภท 1 หรือ 2 อาจเสี่ยงต่อภาวะแท้งลูกและคลอดบุตรยากนั่นก็เป็นเพราะว่าลูกน้อยในครรภ์อาจมีขนาดตัวใหญ่กว่าทารกทั่วไป ซึ่งน้ำหนักแรกคลอดของทารกทั่วไปจะอยู่ที่ 2.5 – 4 กิโลกรัม
หากคุณหมอตรวจพบว่าคุณแม่อยู่ในภาวะเสี่ยง จนไม่สามารถอุ้มท้องให้ครบกำหนด 9 เดือนได้นั้น คุณหมออาจต้องตัดสินใจทำคลอดก่อนกำหนดหรือผ่าท้องคลอด
ความเสี่ยงที่มีต่อทารกในครรภ์
- ลูกน้อยในครรภ์อาจมีพัฒนาการในการเจริญเติบโตช้า
- พิการตั้งแต่กำเนิด
- เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเสียชีวิตหลังคลอด
- ปัญหาด้านสุขภาพของลูกน้อยหลังคลอด โดยเฉพาะปัญหาด้านหัวใจและระบบประสาท เช่น มีปัญหาด้านการหายใจ น้ำตาลในเลือดต่ำ การทำงานของหัวใจผิดปกติ เป็นต้น
- ลูกมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน หรือโรคเบาหวานเมื่อโตขึ้น
ก่อนการตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ว่าที่คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ แต่ก็วางแผนว่าในอนาคตอยากจะมีลูกต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทั้งคุณแม่และคุณลูกปลอดภัยแข็งแรง ไปดูกันค่ะ
ปรึกษาคุณหมอ โดยคุณหมอจะให้คำแนะนำเพื่อเตรียมตัว ดังนี้ค่ะ
- วางแผนการตั้งครรภ์กับสูตินรีแพทย์ ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านภาวะครรภ์เสี่ยง ผู้ที่ให้ความรู้เรื่องเบาหวาน นักโภชนาการ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- รักษาโรคแทรกซ้อน หากคุณแม่ที่เป็นเบาหวานมีภาวะความดันโลหิตสูง มีสัญญาณปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ตา เส้นประสาท ไต หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จากโรคเบาหวาน ควรได้รับการรักษาหรือควบคุมโรคได้ก่อนการตั้งครรภ์ เพราะอาการดังกล่าวอาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพขณะตั้งครรภ์ได้
- เปลี่ยนยา คุณหมอจะแนะนำให้เปลี่ยนยาจากการทานเป็นการฉีดอินซูลินแทน หรืออาจปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นวิธีอื่นๆ รวมทั้งอาจปรับเปลี่ยนยาบางชนิด หากว่าที่คุณแม่กำลังใช้ยารักษาโรคความดันอยู่
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ขณะตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานนั้น อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ ดังนั้น คุณหมอจึงต้องป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือภาวะแท้งลูก โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เท่าคนปกติเสียก่อนในช่วง 2-3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์
เน้นทานอาหารที่มีประโยชน์
คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานควรทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืชร่วมด้วย หากยังมีปัญหาเรื่องระดับน้ำตาลหรือการลดน้ำหนัก นักโภชนาการจะวางแผนกำหนดปริมาณและสารอาหารที่จำเป็นต่างๆ ให้ค่ะ
เลิกสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์
หากลูกน้อยในครรภ์ได้รับควันบุหรี่หรือแอลกอฮอล์เข้าไปผ่านทางคุณแม่ อาจส่งผลให้เด็กขาดออกซิเจน อาจคลอดก่อนกำหนด หรืออาจเสียชีวิตก่อนคลอดได้
ทานวิตามินเสริม เตรียมตั้งครรภ์
ก่อนตั้งครรภ์ คุณหมอจะให้ว่าที่คุณแม่ทานวิตามินรวมที่มีส่วนประกอบของกรดโฟลิคอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกจะเผชิญภาวะพิการทางสมอง ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ออกกำลังกาย
ควรออกกำลังกายด้วยแอโรบิคระดับปานกลาง ที่สามารถทำได้ทุกวัน เช่น เดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น โดยควรใช้เวลาในการออกกำลังอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
ห่างไกลความเครียด
เพราะความเครียดอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด อันตรายต่อสุขภาพค่ะ
ว่าที่คุณแม่หรือคุณแม่ เมื่อทราบกันอย่างนี้แล้ว สิ่งแรกที่ควรทำเลยก็คือ ไปปรึกษาคุณหมอนะคะ ขอให้แข็งแรงทั้งคุณแม่และคุณลูกนะคะ