ปกติแล้วมดลูกที่อยู่ช่วงด้านหน้าท้องของเราจะมีลักษณะนิ่มๆ แต่เมื่อมีเจ้าตัวเล็กเข้าไปอยู่ แล้วเริ่มเจริญเติบโตขึ้น เริ่มดิ้นดุ๊กดิ๊กอยู่ข้างในก็ทำให้มดลูกแข็งตัวได้ แล้วแข็งไม่ซ้ำที่ เมื่อวานแข็งด้านขวา วันนี้แข็งด้านซ้าย หรือบางครั้งจะรู้สึกแข็งมากหลังทานข้าวอิ่มใหม่ๆ แต่เอ๊ะ…แล้วอาการไหนคือลูกโก่งตัว? อาการไหนคือท้องแข็ง? แล้วต้องแข็งแค่ไหนถึงต้องไปพบคุณหมอสำหรับคุณแม่มือใหม่อาจจะกังวลใจเล็กน้อย วันนี้เรามีวิธีสังเกตมาฝาก ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
สารบัญ
อาการท้องแข็ง
“อาการท้องแข็ง” หรือ “มดลูกบีบตัว” เป็นอีกเรื่องที่สร้างความกังวลใจให้คุณแม่ไม่น้อยเลยทีเดียว บางรายลุกขึ้นยืนก็ท้องแข็ง เดินนิดหน่อยก็ท้องแข็ง จะลงนั่งก็ท้องแข็ง ยังไม่นับว่าท้องแข็งหลังกินอิ่มอีกนะคะ บางรายท้องแข็งจนกังวลไม่เป็นอันทำอะไรกันเลย อาการท้องแข็งถ้าเป็นๆ หายๆ ก็ยังโอเค ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ถ้าแข็งไปแข็งมา ทีนี้แข็งทั้งท้อง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใกล้กำหนดคลอด แบบนี้จะยุ่งเลย ต้องพบคุณหมอด่วน แล้วแบบไหนล่ะ? ที่ควรไปพบคุณหมอ เราไปไล่เรียงกันเลยค่ะ
ท้องแข็ง แบบลูกโก่งตัว
ปกติแล้ว “ท้องแข็ง” ตามความหมายของคุณหมอก็คือ “อาการมดลูกบีบตัว” ซึ่งถ้าบีบตัวตอนใกล้กำหนดคลอด แบบนี้ไม่เป็นไร แต่ถ้าบีบตัวก่อนกำหนด อาจส่งผลให้ต้องคลอดก่อนกำหนดได้
เพราะลูกน้อยในท้องเริ่มเติบโตขึ้น อวัยวะต่างๆ เริ่มพัฒนา ดังนั้น เวลาที่เค้าขยับตัว คุณแม่ก็จะเริ่มรับรู้ได้ชัดเจนขึ้น ท้องแข็งแบบนี้จะเป็นแบบ “แข็งบางที่ นิ่มบางที่” หรือ “ลูกโก่งตัว” เพราะลูกจะเริ่มใช้ทั้งมือ เท้า เข่า ศอก หลัง ดันภายในมดลูกของคุณแม่ ทำให้ด้านหนึ่งจะแข็ง ด้านหนึ่งจะนิ่มกว่าซึ่งส่วนที่แข็งจะเป็นหลัง และก้น ส่วนที่นิ่มจะเป็นมือ และเท้าค่ะ
ท้องแข็งเพราะกินมากไป
คุณแม่ส่วนมากที่มีท้องใหญ่ มักจะมีอาการจุก แน่น หลังกินข้าว และท้องก็แข็งเป๊กทุกที บางครั้งแน่นมากจนหายไม่ค่อยออก ต้องนั่งพักซักแป้ป เหยียดขา ยืดตัวยาวๆ ซักพักก็ดีขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อมดลูกโตขึ้นมากๆ ก็จะทำให้อวัยวะภายในถูกเบียดนั่นเอง ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกกินอาหารที่ย่อยง่ายๆ เข้าไว้ ทานครั้งละน้อย แต่บ่อยขึ้นแทน แบบนี้ก็จะช่วยได้ค่ะ
ท้องแข็งแบบนี้ต้องพบคุณหมอด่วน!
มาถึงในส่วนที่คุณแม่ต้องคอยสังเกตตัวเองทุกครั้งที่มีอาการท้องแข็งแล้วล่ะค่ะ นั่นคือ “อาการท้องแข็งอันเกิดจากมดลูกบีบตัวก่อนกำหนด” ซึ่งเป็นอาการของแข็งของแท้ ไม่ได้โม้^^ซึ่งอาการท้องแข็งแบบนี้ จะมีลักษณะที่ “แข็งทั้งท้อง ไม่ได้แข็งเป็นจุด ๆ ไม่ได้แข็งข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งนิ่ม” เหมือนลักษณะลูกโก่งตัว เวลาที่มดลูกบีบตัว คุณแม่จะรู้สึกปวดหน่วงๆ เหมือนเวลาที่มีประจำเดือนซึงหากคุณแม่พบว่าตัวเองมีอาการท้องแข็งวันละประมาณ 6-10 ครั้ง อย่างนี้ถือว่าปกติค่ะ
โดยมากแล้วคุณแม่ที่ท้องอ่อนๆ อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ จะไม่ค่อยพบอาการท้องแข็ง แต่ถ้ามีอายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ถึงจะเริ่มมีอาการท้องแข็ง และเป็นช่วงที่ลูกน้อยจะดิ้นมากที่สุดการที่ลูกน้อยดิ้นบ่อยๆ นี้ก็ส่งผลให้มดลูกบีบตัวก่อนกำหนดได้เช่นกันค่ะ (เหมือนเป็นการกระตุ้นมดลูก) แต่ถ้าผ่านอายุครรภ์ช่วง 32-34 สัปดาห์ไปแล้ว อาการท้องแข็งจะลดลง บางรายพบว่าเมื่อถึงกำหนดคลอดมดลูกไม่ยอมบีบตัวซะงั้นบางรายเลยกำหนดคลอดก็มี แต่ในบางรายยังพบอาการท้องแข็งอย่างต่อเนื่อง อาการไม่ดีขึ้น หรือบางรายก็ท้องแข็งถี่ขึ้น แก้ไขอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น “อาการท้องแข็ง ใกล้คลอด แบบนี้ต้องไปพบแพทย์” นะคะ เพราะหากมดลูกบีบตัวมากๆ จนทำให้ปากมดลูกเปิด อาจต้องมีการทำคลอดก่อนกำหนดได้
วิธีรับมือกับอาการท้องแข็ง
- คุณแม่ควรลดกิจกรรมทั้งในและนอกบ้าน โดยเฉพาะงานหนัก ๆ งานที่ต้องออกแรงและทำให้เหนื่อย เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยเกินไปและเกิดความเครียดได้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่จะเป็นการกระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบรัดตัว อาทิ การจับ-การลูบท้อง การเหวี่ยง การขยับตัว และการเคลื่อนไหวตัวแรง ๆ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ขณะใกล้คลอด
- หลังทานอาหารเรียบร้อย ควรนั่งสักพักไม่ควรนอนหลับทันที เพื่อให้อาหารได้ย่อยก่อน และเป็นการป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน และจุกเสียดลิ้นปี่
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะการกลั้นปัสสาวะจะส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะขยายใหญ่ขึ้นจนไปเบียดกับมดลูก ซึ่งเป็นเหตุให้ท้องแข็งตึง
- หาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น อาจเป็นการนั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนอนหลับให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ แบบนี้ก็จะช่วยให้ลดความเครียดได้ เมื่อคุณแม่ไม่เครียดก็สามารถเลี่ยงอาการท้องแข็งได้
ข้อมูลอ้างอิง phyathai.com
จากทั้งหมดที่กล่าวมาคุณแม่จะเห็นได้ว่าอาการท้องแข็งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทีเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ควรทำคือ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่ชอบ ทำใจให้สบาย แล้วรอวันที่จะได้เจอหน้าลูกน้อยอย่างมีความสุขค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณแม่ยังไม่สบายใจก็สามารถไปปรึกษากับแพทย์ได้ค่ะ