ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมายไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านร่างกาย และอารมณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลาย ๆ คนเจอก็คือ อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ ซึ่งวันนี้เรามีข้อมูลการปวดท้องตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ปวดท้องอย่างไรที่คุณแม่ท้องควรกังวล รวมถึงจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยหรือเปล่า
สารบัญ
การปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์
ปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 1
การปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ ปวดหน่วง ๆ ในช่วงเดือนแรก หรือไตรมาสแรกนั้นเป็นอาการทั่วไปที่สามารถพบได้ในช่วงนี้ เนื่องจากตัวอ่อนของทารกกำลังมีการฝังตัวเข้าไปในผนังมดลูก แบบนี้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ทั้งนี้ อาการปวดท้องน้อยนี้อาจมีอาการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน เช่น อาจมีการติดเชื้อในลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
อ้างอิง pobpad.com
ปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2 – 3
เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ยังเป็นไปได้ว่าคุณแม่จะยังมีอาการปวดท้องน้อยอยู่ เนื่องจากมดลูกมีการขยายตัว และจะขยายอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงร่างกายในส่วนต่าง ๆ ของคุณแม่ยังมีการปรับเปลี่ยนไป เพื่อรองรับในช่วงการคลอดลูก ที่สำคัญคือ ช่วงนี้ ขณะที่คุณแม่จะลุก จะนั่ง หรือจะเปลี่ยนอิริยาบถ ควรทำอย่างช้า ๆ นะคะ เพราะมดลูกจะมีการดึงรังรังไข่ทำให้เวลาคุณแม่จะลุกจะนั่งนั้นมีอาการปวดหรือเจ็บจี๊ดได้
ปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์แบบไหนที่ควรกังวล
อาการปวดท้องน้อยแม้จะตั้งครรภ์อ่อน ๆ เป็นเรื่องปกติ ยกเว้นว่าถ้าคุณแม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดตลอดเวลา มีไข้ ท้องเสีย ปัสสาวะขัด หรือมีเลือดออกในช่องคลอด แบบนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ ไม่ต้องรอให้ครบรอบที่แพทย์นัด
วิธีบรรเทาอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ เบื้องต้น
หากคุณแม่มีอาการปวดที่ไม่รุนแรง เรามีวิธีบรรเทาอาการปวดเบื้องต้น ซึ่งคุณแม่สามารถทำเองได้ที่บ้าน ดังนี้
กินยาแก้ปวด
ก่อนกินยาแก้ปวดควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งนะคะ ว่าคุณแม่กินได้หรือไม่ เนื่องจากภาวะครรภ์ และภาวะร่างกายอาจรับได้แต่ต่างกันในคุณแม่แต่ละคน
ควรนอน หรือนั่งพักทันที
หากคุณแม่มีอาการปวดท้องน้อยขึ้นมา ให้นั่งพักหรือนอนพักทันที พร้อมกับยกขาให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เนื่องจากบางครั้งการปวดท้องน้อย เป็นไปได้ว่าเกิดจากการยืน หรือเดินมากเกินไป
อาบน้ำอุ่น
การอาบน้ำอุ่นจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดความเครียดลงได้ ระหว่างอาบน้ำคุณแม่สามารถนั่งขัดตัว ทำสปา เบา ๆ แบบนี้ก็จะยิ่งทำให้คุณแม่คลายกังวลลงได้ เบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองจากท้องน้อยสักพัก
ดื่มน้ำมาก ๆ
การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เป็นเรื่องดีมาก ๆ ค่ะ เพราะน้ำจะสามารถบรรเทาอาการปวดได้ในบางครั้ง แต่ที่สำคัญคือ ลดอาการท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดีทีเดียว คราวนี้ เมื่อสุขภาพร่างกายของคุณแม่แข็งแรงดี ขับถ่ายดี จิตใจก็จะดีตาม ไม่มีเรื่องให้กังวล
ใช้หมอนหนุนหลัง
หากคุณแม่รู้สึกว่าเริ่มมีอาการปวดท้องน้อย ให้ค่อย ๆ นั่งลงที่เก้าอี้ที่สบาย พร้อมกับหาหมอนหนุนหลังที่นุ่มสบายมาหนุนหลังไว้ รวมไปถึงขณะที่คุณแม่นอน จะดีมากค่ะ หากหาหมอนสักใบที่มีความใหญ่และความนุ่มพอดี ๆ มาหนุนใต้ขาไว้ แบบนี้ก็จะช่วยให้มดลูกไม่เกิดการดึงรั้งมาก ก็จะส่งผลให้คุณแม่สบายตัวขึ้น ที่สำคัญ การเปลี่ยนอิริยาบถควรทำอย่างช้า ๆ นะคะ
ยืดร่างกายเบา ๆ ช้า ๆ
การที่คุณแม่ได้ยืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำจะส่งผลให้กล้ามเนื้อภายในร่างกายแข็งแรง ไม่ปวดง่าย อาจเริ่มจากการเดินออกกำลังช้า ๆ ก่อน การเล่นโยคะ หรือแม้แต่การได้นั่งเหยียดแขน เหยียดขา ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อยได้ในระยะยาวเลยค่ะ
ใช้มือลูบท้องวนไปเรื่อย ๆ
ก่อนลูบท้อง ให้คุณแม่เอาสองมือมาถู ๆ กันเพื่อให้เกิดกความอุ่นสักเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ นำมาลูบท้องสลับกันไปทั้งสองมือ ลูบวนไปมา จนรู้สึกว่าอาการเริ่มดีขึ้น จึงหยุด
อาการปวดท้องน้อยไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ควรสังเกตคือ มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือปวดตลอดเวลา หากมีอาการดังกล่าวนี้ ไม่ควรชะล่าใจ พบแพทย์ทันที เพื่อขอคำแนะนำ หรือเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีนะคะ
อ้างอิง patient.info