“ครรภ์เป็นพิษ” หลายคนเคยได้ยินชื่อนี้กันมาบ้างแล้ว และพอรู้มาบ้างแล้วว่าครรภ์เป็นพิษนั้นอันตราย แต่…ไม่รู้ว่าอันตรายแค่ไหน อาการที่แน่ชัดเป็นอย่างไร มีผลต่อคุณแม่และลูกในท้องอย่างไร วันนี้ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงของตัวเองมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้คุณแม่ท้องหลายๆ คนได้คอยสังเกตตัวเอง พร้อมรายละเอียดเพิ่มเติมทางการแพทย์ของ รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาฝากค่ะ
ประสบการณ์ตรง
โน้ตตั้งท้องตอนอายุ 35 ปี แต่ที่สำคัญกว่านั้นโน้ตมีโรคประจำตัวอยู่คือ เป็นโรคความดันสูง แต่ทานยาอยู่และควบคุมได้ดี ตอนนั้นก็คิดอยู่เหมือนค่ะว่าถ้าท้องแล้วเราจะเจอกับภาวะครรภ์เป็นพิษมั้ย
ตั้งแต่รู้ตัวว่าท้อง ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ความดันคุมได้ดี คุณหมอก็นัดไปตรวจอยู่แล้วทุกเดือน แต่…ทันทีที่เข้าระยะเดือนที่ 7 วันนั้นคุณหมอตรวจความดันโน้ตได้ 180/110 มิลลิเมตรปรอท คุณหมอขอวัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 ก็ยังคงเท่าเดิม คุณหมอเลยถามว่า…
“วันนี้มีธุระต้องไปทำที่ไหนมั้ย ถ้าไม่มี นอนแอดมิทดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนมั้ย?”
คุณหมอให้ไปนอนแอดมิทในห้องรอคลอดฉุกเฉิน พอโน้ตเข้าไปถึงมีพยาบาลมาช่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ ฉีดยากระตุ้นปอดเด็กและฉีดยากันชักให้แม่ ซึ่ง…ปริมาณยาเยอะและหลอดใหญ่มาก ขนาดพยาบาลต้องเอเก้าอี้มานั่งข้างเตียงและค่อยๆ เดินยาให้ ผลของยาขณะที่ฉีดคือ ตัวร้อน คอร้อน ร้อนมากๆ ร้อนทั้งตัว ร้อนเหมือนตัวจะแตก น้องๆ พยาบาลที่มาฝึกงานต้องเอาเจลเย็นมาโปะที่คอ โปะหัว พยาบาลบางคนต้องเอ้าผาชุบน้ำเช็ดตามแขนขาให้
ตั้งแต่วันที่เข้าโรงพยาบาลเพิ่งกลับมาสังเกตตัวเองว่าขามีอาการบวมมาก และยิ่งนอนที่โรงพยาบาลก็พบว่าน้ำหนักตัวที่ขึ้นนั้นไม่ได้ส่งถึงลูกเลย อยู่ที่แม่หมด ทำให้ตัวโน้ตยิ่งบวมมาก เรียกได้ว่าพยาบาลมาเจาะแขนขาเพื่อให้ยาลดความดันแทบไม่ได้เลยค่ะ เพราะหาเส้นไม่เจอ แถมมีน้ำใสๆ ออกมาแทน จำได้ว่ามือซ้ายเจาะไป 9 ครั้ง มือขวาประมาณ 7 ครั้ง
นอนแอดมิทอยู่ให้ประมาณเกือบ 5 วัน เย็นวันที่ 5 ก็เริ่มมีอาการนำชัก เลยแจ้งคุณหมอ คุณหมอเลยต้องมาทำการผ่าออกในช่วงเช้าของอีกวัน ขณะนั้นน้องมินอายุครรภ์ได้ 7 เดือน 4 วัน คุณหมอแจ้งก่อนเลยว่า
“อาจต้องทำใจนะ เพราะอายุครรภ์น้องยังน้อย”
ภาวะครรภ์เป็นพิษ
ครรภ์เป็นพิษ คือ คุณแม่ท้องที่มีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ส่งผลต่ออวัยวะอื่นทั่วร่างกาย หากร้ายแรงหรือเกิดอาการแทรกซ้อนสามารถส่งผลให้เสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก สำหรับอาการครรภ์เป็นพิษมักเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์
กลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
- คุณแม่ท้องแรกที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมีอายุมากกว่า 35 ปี
- ตั้งครรภ์ถัดมามีระยะเวลาที่ห่างกันมากกว่า 10 ปี
- ตั้งครรภ์แฝด
- เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวในในครอบครัว
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย
- มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) และข้ออักเสบรูมาตอยด์
อาการ
- ขณะตั้งครรภ์มือและเท้าจะบวมมาก
- มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท และมีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ
- หากอาการเริ่มรุนแรงจะมีอาการนำชัก เช่น ปวดหัว ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน เพราะความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงสมองอาจบวม
- จุกกแน่นลิ้นปี่ เหมือนหายใจไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากตับโตขึ้น หรือมีเลือดออกในตับ
- เหนื่อย หอบ นอนราบไม่ได้ เนื่องจากน้ำจะท่วมปอด
- หากมีเลือดออกในสมองอาจทำให้เสียชีวิตได้ หรือการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว เช่น ไตวาย ตับวาย เกล็ดเลือดต่ำ จะส่งผลโดยตรงต่อลูกในท้องโดยจะอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน ทารกตัวเล็ก รกลอดตัวก่อนกำหนด จนนำไปสู่การเสียชีวิตในครรภ์
วิธีป้องกัน
- ฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
- ลดอาหารเค็ม มัน
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 8 แก้วต่อวัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
คุณแม่ท้องเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พยายามสังเกตตัวเองนะคะ ว่ามีอาการผิดปกติอะไรหรือเปล่า โดยเฉพาะเรื่องอาการขาบวม โน้ตเคยเขียนไปแล้วเรื่องอาการขาบวม อย่ามองว่าเป็นเรื่องปกติ หากเรายังไม่ได้เช็คละเอียด เพราะอาจกลายเป็นอีกหนึ่งโรคที่อันตรายขณะตั้งครรภ์ได้
แต่…ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้ต้องการให้คุณแม่ท้องกังวลหรือเครียดมากเกินไปนะคะ เพราะหากเราปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดแล้ว ทุกอย่างก็แฮปปี้ค่ะ อยากให้คุณแม่ได้เก็บช่วงเวลาดีๆ ที่อุ้มท้องอย่างมีความสุขไว้มากกว่า เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนค่ะ
อ้างอิง si.mahidol.ac.th