น้ำหนักมากหรือน้อยเกินไปไม่ดีแน่ๆ ค่ะ เพราะการไม่ควบคุมน้ำหนักจนทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือน้อยเกินไปขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยได้
สารบัญ
น้ำหนักน้อยเกินไป
- ผลต่อลูก ทำให้ลูกน้ำหนักตัวน้อยไปด้วย ขาดสารอาหาร ร่างกายมีพัฒนาการช้า
- ผลต่อแม่ ทำให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
น้ำหนักมากเกินไป
- ผลต่อลูก มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยเพราะโรคแทรกซ้อนของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์และสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด อีกกรณีทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวมาก ตัวใหญ่ คลอดยาก ต้องผ่าตัดคลอด และนำไปสู่ภาวะอ้วนในเด็ก สัมพันธ์กับโรคเรื้อรังของเด็กในอนาคต
- ผลต่อแม่ เกิดโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ง่าย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นโรคอ้วนจนหลังคลอด ลดน้ำหนักได้ยาก และรูปร่างไม่กลับมาสวยงามเหมือนก่อน
น้ำหนักแค่ไหนจึงจะพอดี?
เมื่อรู้แล้วว่าน้ำหนักที่มากไปหรือน้อยไปไม่ดีแน่ เราจึงต้องการให้คุณแม่รู้ก่อนว่าน้ำหนักของตัวเองอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ด้วยการหาค่าดัชนีมวลกายจากน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ (Body Mass Index หรือ BMI)
วิธีคำนวณ BMI
หลังได้ผลลัพธ์แล้ว คุณแม่จะรู้ว่าตัวเองมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ไหน และน้ำหนักควรเพิ่มเท่าไรในขณะตั้งครรภ์ ตามตารางนี้เลยค่ะ
ภาวะน้ำหนัก | ค่า BMI ก่อนการตั้งครรภ์ | น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ |
---|---|---|
น้ำหนักน้อย | น้อยกว่า 18.5 | 12.5-18 กก. |
น้ำหนักปกติ | 18.5-22.9 | 11.5-16 กก. |
น้ำหนักเกิน | 23.0-24.9 | 7-11.5 กก. |
อ้วน | มากกว่า 30 | 5-9 กก. |
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาจากไหนกันนะ? หากคุณแม่กำลังสงสัยว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาจากอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
- เต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น 0.45-1.4 กิโลกรัม
- ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น 0.4-1.8 กิโลกรัม
- ไขมันสะสม 2.7-3.6 กิโลกรัม
- ลูกน้อย 3.2-3.6 กิโลกรัม
- น้ำคร่ำ 0.9 กิโลกรัม
- รก 0.7 กิโลกรัม
- ขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้น 0.9 กิโลกรัม
อัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัวระหว่างการตั้งครรภ์ มีดังนี้ค่ะ
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วง 3 เดือนแรกของอายุครรภ์ หรือไตรมาสแรก (1-3 กิโลกรัม)
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2 และ 3 (6-9 เดือน) สัปดาห์ละ 0.5 กก. หรือ 0.7 กก. ถ้าเป็นแฝด
หลักการเพิ่มน้ำหนักเพื่อให้ได้ครรภ์คุณภาพ
- ทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และให้เพิ่มอาหารว่างเป็น 2-3 มื้อต่อวัน
- ทานบ่อยขึ้นแต่ลดปริมาณ
- ใช้จานใส่อาหารขนาดเล็กลง
- งดเติมอาหาร
- ห้ามงดอาหารมื้อหลัก เพราะอาจทำให้ทานมากขึ้นในมื้อถัดไป
- เลือกทานผลไม้แทนขนมหวาน
- เลือกพืชตระกูลถั่วหรือธัญพืชอบกรอบแทนมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ
- เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมันที่ปรุงสุกด้วยการต้ม นึ่ง หรืออบ
- เลือกกินข้าวกล้องและขนมปังโฮลวีท ช่วยให้อิ่มท้อง และมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า
- ทานผักให้มาก และเลือกผลไม้ที่มีกากใยสูงและหวานน้อย
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- ดื่มเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำเปล่า ซุปใส นมไขมันต่ำ นมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ นมถั่วเหลืองรสจืดหรือหวานน้อย และน้ำผัก ผลไม้ที่คั้นสด
อาหารที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงเพราะเสี่ยงต่อน้ำหนักเกิน
- น้ำอัดลม หรือน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเยอะเกินไป
- ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มกลุ่มนี้อย่าคิดว่าไม่มีไขมันนะคะ ไตรกลีเซอไรด์ตัวดีเลยจร้า
- ขนมหวานจัด นอกจากจะทำให้น้ำหนักเกินแล้ว ยังเสี่ยงทำให้เป็นเบาหวานได้ด้วยนะคะ
- อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง นอกจากจะไขมันสูงแล้ว ยังเสี่ยงต่อสารกันบูด หรือเสื่อมคุณภาพ
- อาหารหมักดอง อาหารรสเค็มจัด เนื่องจากมีเกลือเป็นส่วนผสมอยู่มาก อาจทำให้บวม และเสี่ยงอันตรายต่อไต ท้องเสีย รวมถึงความดันโลหิตสูงได้
- อาหารเสริม ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คุณแม่ควรเลือกเสริมวิตามินจากอาหารธรรมชาติจะดีกว่าค่ะ เพราะอาหารเสริมมักใส่ส่วนผสมแบบรวม บางตัวก็ไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าคุณแม่ขาดสารอาหารจริงๆ ควรเลือกแบบเฉพาะสูตรหญิงตั้งครรภ์ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
เอาละค่ะ หวังว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์คงจะมีน้ำหนักดีตามเกณฑ์ ลูกออกมาแข็งแรงน้ำหนักตามมาตรฐานเช่นกันนะคะ ในระหว่าง 9 เดือนนี้ก็ขอให้คุณแม่เลือกทานอาหารดีๆ เพื่อให้ได้ครรภ์คุณภาพค่ะ