ขึ้นชื่อว่า “แม่” ทุกคนก็อยากที่จะดูแลลูกน้อยให้ดีตั้งแต่ในครรภ์กันทั้งนั้น แต่คุณแม่บางคนอาจเจอปัญหาที่ลูกน้อยในครรภ์มีน้ำหนักที่ไม่ถึงเกณฑ์ (ไม่นับรวมว่าคุณแม่มีอาการผิดปกติร้ายแรง) แบบนี้ก็จะสร้างความกังวลให้คุณแม่อยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่วันนี้ไม่ต้องกังวลกันอีกแล้วค่ะว่าจะกินอะไรดีที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ลูกในครรภ์ เพราะแม่โน้ตมีข้อมูลดี ๆ มาฝาก
สารบัญ
น้ำหนักลูกในครรภ์ตามเกณฑ์มาตรฐาน
ก่อนที่เราจะไปถึงเรื่องของอาหาร แม่โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูในเรื่องของน้ำหนักลูกน้อยที่ตรงตามเกณฑ์กันสักนิดค่ะ เพื่อต่อไปคุณแม่จะได้จัดการเรื่องโภชนาการของตัวเองได้อย่างถูกต้อง
อายุครรภ์ 8 -11 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 1 – 7 กรัม |
---|---|
อายุครรภ์ 12 – 15 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 14 – 70 กรัม |
อายุครรภ์ 16 – 19 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 100 – 240 กรัม |
อายุครรภ์ 20 – 23 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 300 – 501 กรัม |
อายุครรภ์ 24 – 27 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 600 – 875 กรัม |
อายุครรภ์ 28 – 31 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 1,500 – 1,502 กรัม |
อายุครรภ์ 32 – 35 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 1,702 – 2,383 กรัม |
อายุครรภ์ 36 – 39 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 2,622 – 3,288 กรัม |
อายุครรภ์ 40 – 43 สัปดาห์ | น้ำหนักจะอยู่ที่ 3,462 – 3,717 กรัม |
ข้อมูลอ้างอิง kapook.com
กินอะไรเพิ่มน้ำหนักลูกในครรภ์
ไปเริ่มกันเลยค่ะสำหรับอาหารที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวลูกน้อยในครรภ์
เนื้อสัตว์
นำนำเนื้อสัตว์ที่ไม่ค่อยติดมัน อาทิ อกไก่ ไก่งวง หรือสันในหมู เหล่านี้เป็นอาหารที่จะไม่ทำให้คุณแม่อ้วนแล้ว ยังอุดมไปด้วยโปรตีน และสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายหลายชนิดอาทิ ธาตเหล็กและวิตามินบี ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์
อาหารทะเล
ในอาหารทะเลอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 โดยเฉพาะกลุ่มปลาทะเลน้ำลึกอย่างปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาดุก ปลากะพง และปลาทูก็ได้เช่นกัน แต่แนะนำว่าไม่ควรกินดิบเด็ดขาดค่ะ
ไข่
สำหรับคุณแม่คนไหนที่ไม่ถนัดเนื้อสัตว์ ก็หันมากินไข่แทนก็ได้ค่ะ เพราะไข่ก็อุดมไปด้วยโปรตีนที่สำคัญ วิตามิน และเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ นอกจากนี้ยังกรดอะมิโนคลีน และโฟลิก ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ให้เติบโตมีน้ำหนักที่ได้มาตรฐาน ซึ่งคุณแม่ไม่ควรกินเกิน 1 ฟอง/วัน และควรปรุงให้สุกเสียก่อนค่ะ
ผักใบเขียว
อาหารอีกหนึ่งประเภทที่คุณแม่ควรกินเลยก็คือ ผักใบเขียว เพราะในผักจะมีกากใยสูง ช่วยลดอาการท้องผูกได้ดี เช่น บรอกโคลี ผักโขม คะน้า หรือดอกกะหล่ำ ในผักเหล่านี้นอกจากจะอุดมไปด้วยวิตามินเอ และแร่ธาตุต่าง ๆ แล้ว ยังมีโปรตีน ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายลูกน้อย และแคลเซียมที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก เล็บ และฟันที่แข็งแรงอีกด้วยค่ะ
ถั่วและธัญพืช
สารอาหารสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินบีรวม ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของลูกน้อยได้อย่างดีเยี่ยม โดยถั่วที่คุณแม่ควรเลือกกินคือประเภทอัลมอนด์ วอลนัท ถั่วแดง ถั่วเหลือง หรือถั่วดำ รวมถึงธัญพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต นอกจากนี้ยังมีในส่วนของข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ทีดีกว่าการกินข้าวขาวอีกด้วยค่ะ
ลูกเดือย เป็นอีกหนึ่งธัญพืชที่มีประโยชน์มากค่ะ เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องของการขับถ่ายได้ดีแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการป้องกันการเป็นเหน็บชาได้ค่ะ
นม ชีส และโยเกิร์ต
เป็นอีกหนึ่งอาหารที่หลายคนเลี่ยง เพราะกลัวอ้วน แต่ความจริงปัจจุบันในท้องตลาดเราจะมีผลิตภัณฑ์ชีสสูตรไขมัน 0% โยเกิร์ตสูตรน้ำตาลน้อยมีให้เลือกหลายชนิด หรือคุณแม่จะเปลี่ยนมาเป็นกินนมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์แทนก็ได้ค่ะ แต่สำคัญคือ ควรกินสลับชนิดกันไป ไม่กินอย่างเดียวซ้ำ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงลูกน้อยแพ้โปรตีนจากนมวัว โดยดื่มอย่างน้อยวันละ 200 – 500 มิลลิลิตร หรือโยเกิร์ตไม่เกิน 2 ถ้วย/วัน
การกินอาหารให้ได้โภชนาการที่ดี ลูกน้อยมีน้ำหนักตามเกณฑ์นั้นไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพียงแต่คุณแม่ควรวางแผนให้ดีใน 1 วัน และไม่ควรกินอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ กันเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะจะส่งผลให้ลูกน้อยได้สารอาหารที่ไม่หลากหลายนะคะ
ข้อมูลอ้างอิง sanook.com, kapook.com