อาการ “ซึมเศร้าหลังคลอด” สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูก โดยพบว่า 90% ของคุณแม่มีอาการดังกล่าว และมักจะมีอาการในช่วง 4-5 วันแรกหลังคลอด ส่วนใหญ่จะเกิดกับคุณแม่ที่ต้องดูแลลูกคนเดียว เดิมทีก็อยู่กันแค่ 2 คนสามภรรยา พอมีลูกก็ไม่มีคุณตาคุณยายหรือญาติมาช่วยเลี้ยง แถมคุณแม่ยังต้องกังวลกับเรื่องการงาน ยิ่งถ้าเป็นคุณแม่มือใหม่ก็จะกังวลว่าจะเลี้ยงลูกได้ถูกวิธีมั้ย จะเลี้ยงได้ดีหรือเปล่า เหล่านี้เป็นเรื่องของจิตใจ แต่คุณแม่ยังต้องรับมือกับอาการคัดเต้า ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ร่างกายเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงลูก และอีกสารพัดเรื่องราวที่จะเข้ามา ยิ่งทำให้คุณแม่ซึมเศร้าหนักกันไปอีก ที่สำคัญ หากสามีไม่เข้าใจ ก็อาจทำให้อาการซึมเศร้าทวีความรุนแรงได้
แต่อาการซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blue) บางท่านอาจสับสนว่าทำไมบางทีเรียก “ภาวะ” ทำไมบางครั้งเรียก “อาการ” วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจ พร้อมแนะนำทางออกให้คุณแม่ มีอะไร อย่างไร ไปดูกันค่ะ
Youtube : Baby Blue ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด…เลี้ยงลูกน่าจะสุข แต่ทำไมเราทุกข์อยู่คนเดียว
สารบัญ
อาการซึมเศร้าหลังคลอด แบ่งได้เป็น 3 ชนิด
อาการซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ตามลำดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก ดังนี้
- ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues : PPB)
- โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression : PPD)
- โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis : PPP)
ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues, Maternity Blues หรือ Baby Blues)
กลุ่มนี้จะพบได้บ่อยที่สุดประมาณ 50-80% ของคุณแม่หลังคลอด จะเกิดขึ้นเองภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์
สาเหตุ : ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่โดยมากจะมาจากสาเหตุเสริมมากกว่า เช่น…
- มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอย่างรวดเร็วหลังคลอด
- ความเครียดอันเกิดจากความเจ็บปวดของร่างกายหลังคลอด หรือ
- ความเครียดทางจิตใจที่เกิดจากการต้องปรับตัวในหลายๆ ด้าน
กลุ่มเสี่ยง
กลุ่มที่เสี่ยงจะมีภาวะนี้มากที่สุด ได้แก่…
- กลุ่มคนที่เวลาจะทำอะไรต้องสมบูรณ์ไปซะทุกอย่าง (Perfectionist)
- กลุ่มคนที่มีความวิตกกังวลสูง ปรับตัวยาก
- กลุ่มคนที่มีวุฒิภาวะไม่สมบูรณ์ เช่น หญิงที่ท้องเมื่ออายุยังน้อย
- หญิงที่มีปัญหาในชีวิตสมรส
โดยมากคุณแม่มักมีอาการหลังคลอดลูกแล้วประมาณ 4-5 วันหลังคลอด โดยมีอาการหงุดหงิดง่าย ขี้รำคาญ อยู่ดีๆ ก็รู้สึกเศร้า บางครั้งก็ร้องไห้ออกมา โดยไม่ทราบสาเหตุ กังวลในทุกเรื่อง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนรู้สึกอ่อนเพลีย
กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษา เพียงแต่คนรอบข้างพยายามพูดคุยและให้กำลังใจคุณเสมอๆ อาการเหล่านี้ก็จะค่อยๆ ทุเลาลงไปภายใน 2 สัปดาห์โดยประมาณ แต่บางรายอาจพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ (Postpartum Depression : PPD)
แนวทางป้องกันและรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
หากต้องเผชิญกับปัญหา อย่าเก็บอัดอั้นไว้คนเดียว ควรระบายให้คนอื่นได้รับฟัง เช่น สามี คุณพ่อ คุณแม่ หรือญาติพี่น้อง หรือถ้าไม่มีใครรับฟังจริงๆ การเขียนไดอารี่ส่วนตัวไว้ระบายอารมณ์ แบบนี้ก็ช่วยให้คุณแม่โดยเฉพาะมือใหม่ได้ระบายออกมาได้ค่ะ
พยายามอย่าคาดหวัง หรืออย่ารับภาระทุกอย่างคนเดียวมากเกินไป หรือพยายามอย่าคาดหวังว่าทุกอย่างต้องออกมาสมบูรณ์แบบทุกอย่าง อะไรหรือเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่ได้สมบูรณ์ ให้ทำใจยอมรับ และเรียนรู้เพื่อทำให้ดีขึ้นในวันต่อไป หรือสอบถามจากผู้ที่มีประสบการณ์ก็ในการเลี้ยงหรือดูแลลูกก็ได้ค่ะ เช่น คุณแม่ พี่น้อง พยาบาลหรือคุณหมอ
ไม่ควรคิดว่าตนเองเก่งทุกเรื่อง ถ้าคิดว่าไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้คนเดียว อย่ารอที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิด เพื่อที่คุณแม่จะได้มีเวลาไปทำสิ่งอื่น พักผ่อน หรือเตรียมข้าวของเครื่องใช้ลูกและสามีในแต่ละวัน
คนใกล้ชิด ควรทำความเข้าใจคุณแม่เหลังคลอดที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ คุณแม่ต้องรับผิดชอบหลายอย่างมากขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การเลี้ยงลูกมาก่อน เช่น ลูกร้องไห้งอแงไม่หยุด หรือปัญหาของน้ำนมแม่ กลัวน้ำนมไม่พอ และไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร คนใกล้ชิดจะมีส่วนสำคัญในการให้กำลังใจ ปลอบใจ และช่วยผลัดกันเลี้ยงลูก เหล่านี้จะทำให้คุณแม่ห่างจากภาวะซึมเศร้าได้มากค่ะ
โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression : PPD)
กลุ่มนี้พบบ่อยรองลงมา โดยอยู่ที่ประมาณ 10-15% บางรายอาจพบตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แต่ส่วนใหญ่พบมากในระยะ 2-3 เดือนหลังคลอด อาการมักอยู่เกินกว่า 2 สัปดาห์
อาการที่พบ คือ ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ไม่สนใจดูแลลูก รู้สึกผิดที่มีลูก รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ บางครั้งมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
สาเหตุ : ยังไม่ทราบแน่ชัด
การรักษา : คุณหมอจะให้ยาในกลุ่มที่รักษาอาการซึมเศร้า เช่น ฟลูออกซิติน (Fluoxitine) หรืออะมิทริบทิลีน (Amitriptyline) ยาสองตัวนี้โดยมากมักใช้กับคุณแม่ในระยะให้นมบุตร
โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis : PPP)
กลุ่มนี้พบน้อยที่สุด ประมาณ 0.1-0.2% แต่มีอาการรุนแรงที่สุด ส่วนใหญ่พบหลังจากคลอดแล้ว 48-72 ชั่วโมง
อาการ : เริ่มกระสับกระส่าย ผุดลุก ผุดนั่ง หงุดหงิด รำคาญ ท้อแท้ บางทีก็อารมณ์ดีผิดปกติ คุ้มดี คุ้มร้าย กลุ่มนี้จะคิดว่าไม่ใช่ลูกของตัวเอง หรือลูกกำลังจะตาย ประสาทหลอน หูแว่ว
การรักษา : กลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยใช้ยารักษาโรคจิตเภท เช่น ฮาร์โลเพอริโดล (Haloperidol) หรือ ลิเที่ยม (Lithium Carbonate) คุณแม่จะไม่สามารถให้นมบุตรได้ค่ะ