คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มีหลายสิ่งอย่างต้องเรียนรู้อีกเยอะค่ะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจ ซึ่งที่สำคัญคือ ทารกยังไม่สามารถสื่อสารเป็นคำพูดให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ ทำได้อย่างเดียวคือ การร้องไห้ อย่างเรื่องการขับถ่ายของทารกก็เป็นอีกเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจ บางคนอาจเจอว่าลูกน้อยถ่ายเหลว และมีมูก จึงไม่มั่นใจว่าแบบนี้คือ ปกติ หรือมีอะไรที่ต้องกังวลไหม? วันนี้เรามีข้อมูลมาแนะนำค่ะ
สารบัญ
การขับถ่ายโดยทั่วไปของทารก
โดยทั่วไปแล้วทารกที่อยู่ในช่วงวัย 0-6 เดือน จะยังไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เลย การถ่ายอุจจาระจึงเป็นไปอย่างอัตโนมัติ โดยเฉพาะในเดือนแรก ทารกจะขับถ่ายบ่อยมาก โดยแบ่งเป็น
ปัสสาวะ
10 ครั้ง ต่อ วัน โดยประมาณ
อุจจาระ
8-10 ครั้ง ต่อ วัน โดยประมาณ
จำนวนครั้งที่แจ้งไว้ข้างต้น จะเป็นทารกที่ดื่มนมแม่เป็นหลักนะคะ ซึ่งบางคนอาจจะน้อยหรือมากกว่านี้ก็บวกลบประมาณ 1-2 ครั้ง ค่ะ
มูกในอุจจาระ คืออะไร?
มูกในอุจจาระ คือ สารคัดหลั่งชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายวุ้น ผลิตโดยเซลล์เมือกที่มีอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เมือกนี้ทำหน้าที่หล่อลื่นภายในลำไส้ และยังเป็นตัวคั่นกลางระหว่างแบคทีเรียและเซลล์ที่เยื่อบุลำไส้อีกด้วยค่ะ
สาเหตุที่ลูกถ่ายเหลวมีมูก
การที่ลูกน้อยถ่ายเหลวมีมูกปนออกมานั้น สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
หลั่งปกติ
เมือกบางส่วนถูกลำไส้ขับออกมา เพื่อช่วยในการขับถ่ายให้คล่องมากขึ้น
ติดเชื้อ
ระบบย่อยอาหารของลูกน้อยอาจเกิดการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย จึงส่งผลให้มีเมือกติดออกมาด้วย หรือทารกบางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย หากเป็นเช่นนี้ แสดงว่าทารกท้องเสียค่ะ
แพ้อาหารในน้ำนมแม่
เรื่องอาหารการกินของคุณแม่นั้น เป็นอะไรที่สำคัญ และต้องใส่ใจเป็นอย่างมากค่ะ ตั้งแต่ระยะของการตั้งครรภ์ ไปจนถึงระยะหลังคลอด และระยะให้นม เพราะคุณแม่ทานอะไรเข้าไป ลูกน้อยก็จะได้รับสารอาหารนั้น ๆ ไปด้วย ผ่านทางน้ำนม ซึ่งอาจมีอาหารบางอย่างที่ลูกน้อยแพ้ แม้ว่าอาหารนั้นจะมีประโยชน์ดีก็ตาม
ภาวะลำไส้กลืนกัน
เกิดจากความผิดปกติของลำไส้ส่วนหนึ่งเกิดการเลื่อน ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ๆ ผิดปกติไป เลือดไปเลี้ยงไม่พอ จึงเกิดการอักเสบนั่นเอง
โรคปอดเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Cystic fibrosis)
ส่งผลให้เกิดการสร้างเสมหะข้นเหนียวในปอด พบเมือกในตับอ่อน รวมไปถึงอวัยวะอื่น ๆ ด้วย
วิธีดูแลเมื่อทารกถ่ายเหลว ท้องเสีย
เมื่อลูกถ่ายเหลว ท้องเสีย มีไข้ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยเบื้องต้นได้ ดังนี้
ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส
สารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส แนะนำว่าขอให้เป็นสูตรขององค์การอนามัยโลกหรือองค์การเภสัชกรรม นำไปละลายน้ำ และให้ลูกจิบทีละน้อยแต่บ่อยสักหน่อย พยายามให้ได้ในปริมาณเท่าที่ถ่ายอุจจาระออกมา เพื่อป้องการภาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่ในร่างกาย
ลูกน้อยที่จิบน้ำเกลือแร่นี้ เป็นปกติค่ะที่เขาจะไม่ชอบก็จะจิบเพียงครั้งละเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเด็กจะไม่คุ้น แต่คุณแม่ต้องคอยเตือนและให้ลูกน้อยจิบบ่อย ๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะเสี่ยงมากที่ลูกจะเกิดภาวะขาดน้ำค่ะ
ลูกอายุต่ำกว่า 2 ปี
แนะนำให้ดื่มครั้งละ ¼ – ½ แก้ว อาจใช้ช้อนป้อนครั้งละ 1 ช้อนชา ทุก ๆ 2 นาที ไม่ควรให้ลูกดูดเองจากขวด เนื่องจากหากเป็นกรณีที่เด็กกำลังหิวน้ำ อาจทำให้ลูกกินเร็วกเกินไป ร่างกายดูดซึมไม่ทัน อาจทำให้ถ่ายมากกว่าเดิมและอาเจียนได้
ลูกอายุมากกว่า 2 ปี
แนะนำให้ดื่มครั้งละ ½ – 1 แก้ว ให้ลูกจิบทีละน้อย ๆ แต่บ่อย ถ้าลูกอายุมากกว่า 2 ปี แล้ว สามารถให้ลูกดูดจากขวดได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณแม่ขณะดื่มนะคะ เพื่อป้องกันลูกดูดเยอะเกินไป
ให้ลูกดื่มนมแม่ต่อไป
ไม่จำเป็นจะต้องให้ลูกหยุดกินนมแม่ค่ะ สำหรับเด็กที่กินนมผสม หลังจากที่ลูกดื่มเกลือแร่ไปแล้ว 4-6 ชั่วโมง ก็ให้ลูกกินนมได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องชงให้จาง เพียงแต่เน้นให้กินครั้งน้อยกว่าปกติ แต่บ่อยมากขึ้นแทน
ควรให้อาหารอ่อน
สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือน ลูกสามารถทานอาหารเสริมได้ แต่เน้นอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก ให้ทานน้อยในแต่ะมื้อ แต่บ่อย โดยเพิ่มจากเดิม 1-2 มื้อ งดอาหารมัน อาหารย่อยยาก งดน้ำผลไม้ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
ลูกถ่ายเหลวมีมูก อันตรายไหม?
การที่ทารกถ่ายเหลวมีมูกบ้างเป็นเรื่องปกติค่ะ เนื่องจากทารกยังอยู่ในช่วงที่ร่างกายยังปรับตัวเพราะอาหารที่เขาได้รับนั้นเปลี่ยนไปจากขณะที่อยู่ในครรภ์คุณแม่ ยกเว้นว่าถ้าทารกถ่ายเหลว มีมูกเลือดปนออกมา พร้อมกับมีไข้ร่วมด้วย แบบนี้ควรพบแพทย์ค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอจะเห็นภาพกันมากขึ้นไหมคะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้รู้อย่างนี้แล้วการที่ทารกถ่ายมีมูกก็ไม่ต้องกังวลไปแล้วนะคะ ยกเว้นว่าถ้าพบว่ามีมูกเลือด และมีไข้ร่วมด้วย แบบนี้ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ